5 เทคนิคบริหารเงินรับวันเปิดเทอม
5 เทคนิคบริหารเงินรับวันเปิดเทอม (K-Expert)
เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ถือเป็นเทศกาลเปิดเทอม หรือเปิดภาคเรียนของเด็ก ๆ หลายคน และถือเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายทีเดียวสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะตราบใดที่ยังมีลูกหลานอยู่ในวัยเรียน ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เวียนมาบรรจบให้พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายได้ควักเงินออกจากกระเป๋าถึงปีละ 2 ครั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนก็มิใช่จำนวนน้อย ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียนต้องวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า สำหรับค่าใช้จ่ายที่ควรเตรียมพร้อมรับวันเปิดเทอมมีเทคนิคในการบริหารจัดการอย่างไรบ้างนั้น มีคำแนะนำดังนี้ค่ะ
รวบรวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา
ไม่เพียงแต่ค่าเทอมหรือค่าหน่วยกิตเท่านั้น ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมเงินไว้ ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษารูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมเงินให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน ค่าสมุดหนังสือ ค่าอุปกรณ์เครื่องเขียน ค่าบำรุงโรงเรียน/ห้องสมุด ค่ากิจกรรมของโรงเรียน/ค่าทัศนศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ หากครอบครัวใดมีลูกหลายคน ต้องแจกแจงค่าใช้จ่ายให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะเด็กแต่ละคน หากเรียนต่างระดับชั้นกันย่อมมีค่าใช้จ่ายในการเรียนที่แตกต่างกัน เช่น เด็กที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยอาจมีค่าใช้จ่ายปลีกย่อยมากกว่าเด็กระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัวในภาวะค่าครองชีพสูง แนะนำให้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการเรียนบางอย่างลง เช่น ค่าชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน อุปกรณ์เครื่องเขียน สามารถซื้อของใหม่บ้างพอประมาณไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ทุกครั้งที่เปิดภาคเรียน หากชุดนักเรียน หรือรองเท้านักเรียนของเดิมที่มี ยังอยู่ในสภาพดี ก็สามารถใช้ต่อไปได้ เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยประหยัด และรู้ค่าของเงินให้กับลูกด้วย
เตรียมเงินค่าเรียนพิเศษ
ปัจจุบันพ่อแม่หรือผู้ปกครองนิยมส่งลูกหลานไปเรียนกวดวิชา หรือเรียนพิเศษ เพื่อเสริมทักษะความรู้ให้มากขึ้น เช่น เรียนเสริมทักษะด้านภาษา ดนตรี หรือกีฬา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษก็มิใช่เงินจำนวนน้อย ๆ แนะนำว่า ก่อนสมัครเรียนพิเศษ ควรให้ลูกหลานได้รู้ความต้องการของตัวเองก่อนว่า อยากเรียนอะไร เพื่อให้การเรียนพิเศษเกิดประโยชน์ต่อลูกหลานจริง ๆ หรือสถาบันเรียนพิเศษบางแห่งให้นักเรียนสามารถทดลองเรียนได้ก่อน ซึ่งการทดลองเรียนจะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า ชอบแนวการสอนหรือไม่ หรือจะเลือกเรียนพิเศษด้านใด
วางแผนการเดินทางไปโรงเรียน
หากการเปิดเทอมของลูกหลานเป็นการเลื่อนระดับชั้นในสถานศึกษาแห่งเดิม เรื่องการเดินทางไปโรงเรียนอาจไม่เป็นปัญหาเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษาที่อาจต้องวางแผนการเดินทางใหม่ โดยหากพ่อ-แม่ขับรถรับส่งลูกหลาน จะต้องวางแผนการเดินทางเพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งของโรงเรียนและที่ทำงานของผู้ปกครอง แต่หากโรงเรียนอยู่ไกลบ้าน อาจเลือกใช้บริการรถรับ-ส่งของโรงเรียน สำหรับลูกหลานที่โตมากพอและเข้าศึกษาในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจเลือกใช้บริการรถสาธารณะ แนะนำว่า หากใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที (MRT) สามารถซื้อเป็นตั๋วโดยสารรายเดือน จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงได้ รวมทั้ง เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดเทอม การจราจรจะเริ่มคับคั่ง อาจต้องเริ่มเตรียมตัวตื่นนอนแต่เช้ามากขึ้น
มองหาที่พัก/หอพัก
เมื่อเข้าเรียนในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น อาจจำเป็นต้องย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ หรือไปเรียนในจังหวัดอื่น หากไม่มีบ้าน หรือญาติพี่น้อง อยู่อาศัยในจังหวัดนั้น อาจต้องมีการมองหาที่พัก หรือหอพัก โดยบางมหาวิทยาลัยบางแห่งจะมีที่พักในมหาวิทยาลัยให้นักเรียน/นักศึกษา ซึ่งราคาไม่แพง มีความปลอดภัยสูง แต่จะมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และอาจมีนักเรียนนักศึกษาต้องการเข้าพักจำนวนมาก ซึ่งจำนวนหอพักของมหาวิทยาลัยที่มีอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่หากต้องมองหาที่พัก/หอพักที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย แนะนำให้เลือกที่พักใกล้มหาวิทยาลัย ใกล้แหล่งชุมชน เพื่อความปลอดภัย และความสะดวกในการเดินทาง
บริหารจัดการเงินค่าขนม
เมื่อลูกหลานโตมากพอ พ่อแม่อาจเปลี่ยนจากเดิมที่ให้เงินค่าขนมแก่ลูกเป็นรายวันมาเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ยกตัวอย่างเช่น ให้เงินลูกเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 300 บาท นั่นหมายความว่า เฉลี่ยแล้วไม่ควรใช้เกินวันละ 60 บาท โดยพ่อแม่อาจแนะนำลูกว่า หากวันใดใช้เกิน 60 บาท ก็ควรลดค่าใช้จ่ายของวันถัดไป หากใช้ไม่ถึงก็สามารถสอนให้ลูกเก็บออมเงินเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งวิธีเช่นนี้จะช่วยให้ลูกสามารถบริหารเงินรายรับได้เพียงพอตลอดทั้งสัปดาห์ และเป็นการเริ่มต้นฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ รู้จักจัดสรรเงินที่ได้รับให้เพียงพอกับการใช้จ่ายตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้
การวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาลูกเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการรวบรวมค่าใช้จ่ายจะช่วยให้ทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมดสำหรับลูกทุกคนเป็นเงินจำนวนเท่าไร เพื่อตรวจสอบว่าเงินออมที่มีอยู่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับเปิดเทอมใหม่นี้หรือไม่ หากมีเงินเก็บออมเพียงพอ อาจไม่เป็นปัญหามากนัก แต่หากครอบครัวใดที่เตรียมตัวไม่พร้อมสำหรับวันเปิดเทอม เงินออมที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเรียน แนะนำว่า มีหลากหลายวิธีในการแก้ปัญหาการเงิน เช่น ขอทุนการศึกษาของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือพึ่งพาตัวเองโดยการแปลงสินทรัพย์ที่มีเป็นเงินสด หยิบยืมจากเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่เลือกขอหยิบยืม หรือขอสินเชื่อ แนะนำให้เป็นเงินในระบบค่ะ
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ [email protected] และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ทวิตเตอร์ @KBank_Expert