แพทย์, โรงพยาบาล, ระบบบริการทางการแพทย์


1,596 ผู้ชม


ความจริงของระบบ บริการทางการแพทย์

คอลัมน์ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

แพทย์, โรงพยาบาล, ระบบบริการทางการแพทย์

ภาระงานของแพทย์ที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดมีขนาดมหึมา เช่น โรงพยาบาลขนาด 350 เตียง แห่งหนึ่ง มีอายุรแพทย์ (หมอรักษาทางยา) 7 คน ใน 1 วัน ต้องดูคนไข้ในเฉลี่ย 48 ราย คนไข้นอกอย่างน้อย ชั่วโมงละ 40 คน โรงพยาบาลระดับศูนย์ ซึ่งรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงด้วยขนาด 1,500 เตียง จำต้องเพิ่มเป็น 2,300 ห้องไอซียู 50 เตียง ล้น คนไข้อาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจต้องอยู่หอผู้ป่วยธรรมดา ซึ่งไม่ธรรมดา เพราะอาการหนักทั้งหมด มีอาการแทรกซ้อน และไม่ได้มีอาการของระบบหรืออวัยวะเดียว มีทั้งหัวใจ ไต ปอด ติดเชื้อ ในคนไข้คนเดียว วัณโรคปอดมีจำนวนที่ดื้อยาปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ หมอทำงานเริ่มจากดูคนไข้ในไอซียู ในหอผู้ป่วย ออกตรวจคนไข้โอพีดี กำลังตรวจ ถูกไอซียูตามไปช่วยคนไข้ช็อก ปั๊มหัวใจ กลับมาโอพีดี ถูกคนไข้ตำหนิ หมอไปไหน มารอเป็นชั่วโมง ได้ตรวจ 2-3 นาที

ความจริงเหล่านี้ ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจ ทำไมรอนาน เกิดอะไรขึ้น? และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งผู้บริหารมักจะดูคนไข้ไม่เป็นแล้ว หรือทำทางสายบริหารมาตั้งแต่จบแพทย์ แต่วาดฝันตามระบบ อุดมคติ ดึงดันให้ยกระดับมาตรฐานทัดเทียมระดับโลกในพริบตา ต้องรักษาอัมพฤกษ์ เส้นเลือดตีบในสมองด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ ซึ่งต้องมีทีมพร้อม คอมพิวเตอร์สมอง และให้การรักษาได้ใน 3-4 ชั่วโมงครึ่ง และต้องมีหมอผ่าตัดสมอง ซึ่งอาจจำเป็นถ้าการให้ยาละลายลิ่มเลือดเกิดภาวะแทรกซ้อน ตกเลือดต้องผ่าตัด โดยหมอผ่าสมองก็หายาก และงานล้นมือ แค่อุบัติเหตุก็อ่วมแล้ว

นอกจากนั้น การรักษายังอาจต้องมีทีมตรวจ บำบัดเส้นเลือดตันในสมองด้วยการสอดใส่สายด้วย และการยกระดับยังมีการขยายการฉีดยาละลายเส้นเลือดหัวใจตัน ลงไปถึงโรงพยาบาลอำเภอ หมอแต่ละคน "หนาว" ขนาดไหน ถ้าจะถึงฝั่งฝันด้วยงานขนาดนี้ ความเชี่ยวชาญสูงตามกำหนด และต้องติดตามความรู้วิทยาการตลอดเวลา งานต้องเสร็จภายในเวลามาตรฐาน พลาดไม่ได้ เงินเดือน 1 ล้านบาท/เดือน มั้ง และยังมีให้ถูกตรวจสอบอีก โดยต้องเตรียมเอกสารอีกเป็นตั้ง มีรายงานต้องส่งเพื่อขอเบิกงบประมาณ

ทางโรงเรียนแพทย์ก็น่าต้องเปลี่ยนวิธีการสอน

การราวนด์ (Round) คือ การเยี่ยมคนไข้ตามเตียงโดยมีนักเรียน หมออบรมเฉพาะทางตามเป็นกลุ่ม โดยต้องตัดเยิ่นเย้อ ยืดเยื้อ ถกปัญหาเป็นคุ้งเป็นแคว พุ่งประเด็น เข้าเป้า ในเวลาอันสั้น มุ่งตัวคนไข้เป็นหลัก ให้รอด หายเร็ว ไม่พิการ และต้องให้คนไข้ทราบว่าตัวเองเป็นโรคอะไรกันแน่ หมอมายืนแน่นขนัด ถกเถียงเสร็จเดินไปแล้ว ตรวจคนไข้นอก ถ้าซักประวัติแบบคนไข้ใน ไม่เสร็จหรอกครับ ไม่งั้น แพทย์ฝึกหัดที่เรียกว่า extern/intern นาทีที่ออกไปเผชิญโลก ต้องปรับตัวอีกมหาศาล อีกทั้งความคาดหวังสูง โดยที่ความรู้ยังไม่มาก ประสบการณ์ก็ไม่มี และถ้าเมืองไทยไม่ลุย การป้องกันโรค ให้เป็นรูปธรรมกว่านี้ รับรองไม่รอดครับ

100% คนไข้ตาย หมอไม่รอด หมอก็จะถูกด่ามากขึ้น โดนฟ้องมากขึ้น คนอยากเป็นหมอจะหดลง หรือที่ละทิ้งอาชีพกลางคันจะสูงขึ้น จำนวนหมอที่เหลือจะน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่เก่ง มีความสามารถสูง ก็จะหันเหไปหาชีวิตที่สบายกว่า ค่าตอบแทนสูงและเสี่ยงน้อยกว่า

ไม่ใช่ระบบไม่ดี คนไทยมีโอกาสได้รับการรักษามากขึ้นเท่าเทียมกัน แต่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพความเป็นจริง ห้ามใช้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นตัวประกัน เป็นเครื่องมือในการหาเสียง ผลักคนดีออกนอกระบบ คนไทยต้องรับรู้สภาพความเป็นจริง ใส่ใจป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรค อยากเห็นภาพหมอกับคนไข้แบบเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เอื้อเฟื้อกัน เข้าใจกัน

เราทำให้สังคมไทยเป็นอย่างนั้นได้ไม่ใช่หรือครับ!


อัพเดทล่าสุด