หน่อไม้, หน่อไม้สด, หน่อไม้ดอง


1,228 ผู้ชม


จำไว้ หน่อไม้สด กินดีกว่า หน่อไม้ดอง

พอพูดถึงหน่อไม้ ก็ทำเอาน้ำลายสอเลยค่ะ เพราะเมนูหลายๆอย่างที่ทำจากหน่อไม้บ้านเรานี่มีเยอะแยะมากมาย และอร่อยๆทั้งนั้น ซึ่งหน่อไม้ที่เรานิยมนำมาทำเป็นอาหารก็มีอยู่ 2 อย่างค่ะ คือ หน่อไม้สด กับ หน่อไม้ดอง ซึ่งก็อย่างที่ทราบๆ ถ้าหน่อไม้สดก็จะตัดกันสดๆ แล้วก็เอาไปทำอาหารได้เลย ส่วนหน่อไม้ดองต้องมีการผ่านกระบวนการดองถึงจะนำไปปรุงอาหาร ซึ่งเราก็เห็นกันได้ตามตลาดทั่วไป และหนนี้เราก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมอนามัยเกี่ยวกับเรื่อง หน่อไม้สด กับ หน่อไม้ดอง ว่าการรับประทานในรูปแบบใดจะได้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่ากัน

หน่อไม้

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้กินหน่อไม้ทำร่างกายขาดแคลเซียมเพราะสูญเสียคุณค่าโภชนาการ แนะหน่อไม้สดให้คุณค่ามากกว่า ย้ำล้างให้สะอาดและต้มในน้ำเดือดก่อนนำมารับประทานเพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโบทูลินั่ม

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมนูหน่อไม้ถือเป็นที่นิยมของคนไทยไม่ว่าจะเป็นต้ม ลวก ยำ ผัด แกง เช่น แกงหน่อไม้ใส่กะทิ ผัดเผ็ดหน่อไม้ใส่ไก่ หมู ปลา แกงจืดหน่อไม้ใส่ไก่ ผัดหน่อไม้ใส่ไข่ ยำหน่อไม้ แกงเขียวหวานไก่ใส่หน่อไม้

ซึ่งการรับประทานหน่อไม้สดจะได้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าและให้พลังงานน้อยกว่าหน่อไม้ดองหรือหน่อไม้ปี๊บ เนื่องจากผักทุกชนิดที่ผ่านการดองหรือการถนอมอาหารจะสูญเสียวิตามินไปกับน้ำและความร้อน โดยหน่อไม้สด 100 กรัม ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี ไขมัน 0.2 กรัม ในขณะที่หน่อไม้ดอง ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี ไขมัน 0.9 กรัม และในหน่อไม้สดยังมีแคลเซียม 49 มิลลิกรัม ขณะที่หน่อไม้ดองสูญเสียแคลเซียมแทบทั้งหมด แต่เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารอย่างครบถ้วนควรเลือกกินผักให้หลากชนิดหลากสีสันและอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การซื้อหน่อไม้มาปรุงอาหารเองต้องใส่ใจเรื่องความสุก สะอาด ปลอดภัย โดยล้างให้สะอาดและนำมาต้มให้สุก โดยนำหน่อไม้สดมาต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 20 – 30 นาที จำนวน 1 ครั้ง สำหรับหน่อไม้ดองต้ม 15 – 20 นาที จำนวน 2 ครั้ง จากนั้นจึงเทน้ำต้มทิ้งก่อนนำมาปรุงประกอบอาหารเพื่อป้องกันการได้รับเชื้อ โบทูลินั่ม และยังสามารถลดปริมาณสารไซยาไนด์ได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

“ทั้งนี้ เชื้อโบทูลินั่มสามารถพบได้ในเครื่องกระป๋องทุกชนิด ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย อย. และอ่านฉลากข้างกระป๋องที่มีชื่อ สถานที่ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ ชื่อปริมาณวัตถุเจือปนในอาหาร น้ำหนักสุทธิ และลักษณะกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยแตกรั่ว เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อโบทูลินั่มที่มีฤทธิ์ในการทำลายระบบประสาทมองเห็นภาพซ้อน ตาพล่ามัวมองเห็นภาพได้ไม่ชัด หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก ปากแห้ง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการจะแสดงให้เห็นภายใน 2-4 ชั่วโมง หรือ 12-36 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ผลิตหน่อไม้ปี๊บต้องขออนุญาตผลิตอาหารให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานจะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้จำหน่ายต้องจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย.เท่านั้น โดยหน่อไม้ปี๊บต้องมีฉลากถูกต้อง ระบุชื่อสถานที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่หมดอายุ ส่วนภาชนะบรรจุต้องเป็นปี๊บใหม่ ไม่มีรอยบัดกรีฝา ตัวปี๊บไม่มีรอยบุบ บวม รั่ว รวมทั้งไม่ควรซื้อหน่อไม้ที่มีก้นปี๊บดำจากการเผาไหม้โดยตรงกับเปลวไฟ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักจากภาชนะบรรจุซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

Credit : สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง กรมอนามัย
ภาพประกอบจาก : Thinkstockphotos.com

อัพเดทล่าสุด