เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม หวังดับกลิ่นปาก จริงหรือ?
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจสภาวะทันตสุขภาพในโรงเรียนมัธยม พบร้อยละ 55.1 นิยมเคี้ยวหมากฝรั่ง และร้อยละ 42.3 อมลูกอม เพื่อระงับกลิ่นปาก เป็นความเข้าใจที่ผิด แนะใช้วิธีการแปรงฟันด้วยสูตร 222 ดีที่สุด นอกจากทำให้ช่องปากสะอาดแล้วยังลดเสี่ยงฟันผุด้วย
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสุ่มสำรวจสถานการณ์การบริโภคอาหารว่างและเครื่องดื่ม การดูแลสุขภาพช่องปาก และสภาวะทันตสุขภาพของเยาวชนในโรงเรียนมัธยมศึกษา ทั่วประเทศ ปี 2556 ของกรมอนามัย พบว่า เด็กนักเรียนมัธยมศึกษา ร้อยละ 55.1 นิยมเคี้ยวหมากฝรั่ง และร้อยละ 42.3 อมลูกอม เพื่อระงับกลิ่นปาก *โดยมีความเข้าใจผิดว่าหมากฝรั่งและลูกอมช่วยลดกลิ่นปาก แต่ความจริงแล้วมีกลิ่นหอมเพื่อกลบกลิ่นปากชั่วคราวเท่านั้น *ซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายจากสารเคมี สารสังเคราะห์ที่เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่งและลูกอมมากเกินไป เช่น สารกันเสีย (PBA) และสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเอสปาร์แตม (aspartame) ซึ่งหากบริโภคในปริมาณมากเกินกว่า 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน อาจก่อให้เกิดมะเร็งและอันตรายต่อสมองได้ รวมทั้งสารที่ให้รสชาติเหมือนน้ำตาลจริงและให้พลังงานต่ำ เช่น ซูคลาโลส หากได้รับ มากเกิน 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน จะเป็นอันตรายต่อต่อมไทยรอยด์ ตับ และไต ได้เช่นกัน
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การลดกลิ่นปากที่มีประสิทธิภาพจึงต้องดูแลและทำความสะอาดช่องปากเป็นประจำตามสูตร 222 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เช้าและก่อนนอน แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที เพื่อให้สะอาดทั่วทั้งปากทุกซี่ ทุกด้าน และให้ฟลูออไรด์ได้ใช้เวลาทำปฏิกิริยากับฟันเพื่อป้องกันฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปล่อยให้ปากสะอาดไม่กินขนมหวาน น้ำอัดลมหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง และหากให้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันวันละครั้ง ก็จะดีต่อสุขภาพช่องปากของเยาวชนและคนวัยหนุ่มสาวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แนะนำให้แปรงลิ้นด้วยจะช่วยลดกลิ่นปากได้ดี รวมทั้งการจิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ ก็จะช่วยรักษาสุขภาพกายและคงความสดชื่นของปากได้ แต่ถ้ามีเหงือกอักเสบ หินปูน หรือฟันผุ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
“สำหรับวิธีทดสอบกลิ่นปากอย่างง่าย ๆ ให้เอามือปิดปากและจมูก เป่าลมแรง ๆ ออกจากปาก หรือใช้วิธีเลียที่ข้อมือและดมดู เมื่อทดสอบดูแล้วพบว่ามีกลิ่นปากก็สามารถป้องกันได้ตามสาเหตุ เช่น หากมีฟันผุเป็นรูควรไปรักษาด้วยการอุดฟัน และหมั่นดูแลทำความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธีเพื่อลดปัญหาฟันผุซึ่งนำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็กที่อาจสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมาได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข