ทำความรู้จัก 'ล่ามภาษามือ'อาชีพเพิ่มความเท่าเทียมในยุคทีวีดิจิตอล
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับข้อมูล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิตอลกำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ เราทุกคนกำลังพยายามปรับตัว และเรียนรู้เคลื่อนเข้าหาการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารช่องทางใหม่ ล่าสุด ที่คนไทยเพิ่งได้ทำความรู้จักกับทีวีดิจิตอล แม้แต่คนหูหนวกหรือพิการทางการได้ยินเองที่มีประมาณ 800,000 คน ย่อมต้องการการเข้าถึงเช่นกัน
วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" จึงขอพาไปรู้จักกับหนึ่งวิชาชีพเล็กๆ แต่เป็นอีกหนึ่งงานสุดพิเศษที่มีส่วนช่วยส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อ
วิชาชีพ "ล่ามภาษามือ" ช่องทางสำหรับผู้พิการทางการได้ยินให้ได้รู้จักโลกของการสื่อสารดิจิตอลมากยิ่งขึ้น
นายไพรวัลย์ แสงสุนทร นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เล่าให้ "ไทยรัฐออนไลน์" ฟังว่า ล่ามภาษามือ คือ บุคคลที่ทำหน้าที่แปลข้อความระหว่างคนหูหนวกกับคนที่สามารถได้ยินเสียงได้ แปลจากภาษาพูดเป็นภาษามือ ให้กับคนหูหนวกเข้าใจ ถือเป็นตัวกลางของการสื่อสารนั่นเอง
ความแตกต่างทางภาษามือแต่ละที่ ทุกประเทศมีภาษามือเฉพาะ...
ภาษามือมีลักษณะเฉพาะแต่ละของประเทศ ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ คนหูหนวกจะมี "ภาษามือไทย" เป็นภาษาของเขา นอกจากนี้ยังมีภาษามืออีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ภาษามือสากล จะใช้ในโอกาสที่คนหูหนวกจากหลายๆ ประเทศมาประชุมร่วมกัน
ไวยากรณ์ไทยประยุกต์เข้ากับภาษามือแบบไทยๆ...
นายไพรวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาษามือไทยกับภาษาไทยมีความแตกต่างกัน ในโครงสร้างไวยยากรณ์ ภาษามือจะกลับกันกับโครงสร้างหลักภาษาไทย ภาษามือจะคล้ายกับภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเราจะแปลตามตัวจะไม่สามารถเข้าใจกันได้ ล่ามภาษามือจำเป็นต้องแปลให้เข้ากับโครงสร้างภาษาไทยที่ใช้กัน
ในประเทศไทยของเรามีภาษามือ 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ภาษามือธรรมชาติหรือภาษามือของคนหูหนวกในชุมชนใหญ่ทั่วๆ ไปที่ีมีแบบแผนชัดเจน อีกชนิดหนึ่ง เป็นภาษามือแบบภาษาพูด คือเป็นภาษามือสำหรับคนใช้ภาษามือทั่วไป เช่น คุณครู ญาติพี่น้อง ใช้สื่อสารกับคนหูหนวก ใช้ภาษามือเรียงเป็นคำๆ เหมือนกับภาษาพูด อาทิ คำว่า "ฉันไปกินข้าว" ก็จะเป็นเรียงเป็นคำว่า ฉันไปกินข้าวตรงตามคำ
วิวัฒนาการของภาษา คำเกิดใหม่ ภาษามือมีคำใหม่ด้วยเช่นกัน
สำหรับวิวัฒนาการของภาษา ภาษามือมีการเปลี่ยนไปเรื่อยเช่นกัน แต่จะเป็นภาษาในกลุ่มคนหูหนวกวัยรุ่นใช้ก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการเผยแพร่ออกไปแล้วมีคนใช้มากขึ้นตามลำดับ
แนะคุณสมบัติที่ล่ามภาษามือต้องมี!
ล่ามภาษามือที่จดแจ้งเอาไว้กับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีคุณสมบัติกำหนดเอาไว้ 2 ข้อ คือ
1. มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
2. ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรมทางด้านล่ามภาษามือมา หรือหากไม่ได้ผ่าน ต้องได้รับการรับรองจากคนหูหนวก 3 คน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการล่ามรับรอง
แต่นายกสมาคมล่ามภาษามือไทยได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้ามีคุณสมบัติที่ถือว่าคนเป็นล่ามจริงๆควรจะต้องมี คือ ต้องมีทักษะการใช้ภาษามือที่ดี และทักษะในการสื่อสารภาษาไทยที่ดีด้วย มีความรู้เรื่องการเป็นล่ามฯ เช่น เทคนิคของการแปล เทคนิคของการล่าม ที่สำคัญคือมีความรู้เรื่องของคนหูหนวกไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมคนหูหนวก วิถีชีวิต ชุมชน เจตคติที่มีต่อคนหูหนวก ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติของคนที่จะเป็นล่ามควรมือ
หลักสูตรล่ามภาษามือระดับมหาวิทยาลัย
ตอนนี้เรามีหลักสูตรด้านล่ามภาษามือโดยตรง ที่วิทยาลัยราชสุดา ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเป็นเวลา 4 ปี นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรของสมาคมล่ามเป็นหลักสูตร ล่ามภาษามือเพื่อการสื่อสารเรียน 3 คอร์สจะได้วุฒิบัตรจากสมาคมฯ ที่เหลือเป็นการอบรมระยะสั้น โดยทั้งสองเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว
"ล่ามภาษามือ"วิชาชีพอีกกลุ่ม พร้อมให้บริการคนหูหนวกไทยทั่วถึงหรือไม่?
ในประเทศไทยมีล่ามภาษามือประมาณ 550 คน โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ ล่ามหูดี มีประมาณ 450 คนโดยประมาณ อีกส่วนประมาณ100เป็นล่ามภาษามือที่เป็นคนหูหนวก นายไพรวัลย์เปิดเผยว่า จำนวนล่ามภาษามือในเมืองไทยเมื่อเทียบกับการมีล่ามมาตรฐานสากลถือว่าวิกฤติ ไม่พอเพียง เพราะในจำนวน 450 คน ซึ่งเป็นล่ามหูดี ไม่ได้ถูกใช้ทั้งหมดที่สามารถบริการล่ามฯ จริงอยู่ประมาณ 50-60 คนเท่านั้น เพราะล่ามภาษามือส่วนใหญ่มีงานประจำกันอยู่แล้ว เช่น เป็นคุณครูในโรงเรียน ฯลฯ
ต่อมาในเรื่องของคุณภาพของล่าม หรือทักษะในการเป็นล่ามให้ดี เพื่อที่ว่า เมื่อให้บริการแล้ว คุณภาพจะได้เกิดกับคนหูหนวก นอกจากนั้นยังมีประเด็นของคนหูหนวกเอง เรื่องแรกคือ คนหูหนวกเอง ต้องรู้ภาษามือ ที่ล่ามใช้ ต้องพยายามสนับสนุนให้คนหูหนวกใช้ภาษามือได้ ไม่ใช่ชี้ไปชี้มาเป็นภาษาท่าทางแบบที่ชุมชนใช้กัน ต้องให้คนหูหนวกใช้ภาษามือ สื่อสารกับล่ามได้ ให้ล่ามเป็นตัวเชื่อมไปยังบริการอื่นๆที่จำเป็นกับชีวิตของคนหูหนวก
ต่อมาเป็นเรื่องของ การประเมินของคนหูหนวกในฐานะผู้รับบริการ เช่น ล่ามแปลภาษามือ คนหูหนวกเข้าใจภาษามือตรงนั้นหรือไม่ ล่ามมีบุคลิกภาพการแต่งกายเป็นอย่างไร ความตรงต่อเวลา คนหูหนวกในฐานะของคนใช้ ต้องรู้และเข้าใจวิธีการใช้ล่ามภาษามือ และวิธีการให้บริการของล่ามได้
ปัญหาการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ช่องโหว่แรงจูงใจสำหรับคนเป็นล่ามภาษามือ
ในเชิงวิชาชีพ หากอ้างอิงจากระบบราชการ ค่าวิทยากรในอัตราของราชการรับได้ แต่หากจะให้ทุกหน่วยงานยึดเป็นระบบราชการก็ไม่เหมาะสมเท่าไร เพราะว่าราชการจริงๆ เราเน้นบริการประชาชน เพราะฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจกับล่ามก่อนว่า ถ้าให้บริการคนหูหนวกคือ ให้บริการประชาชน ตามระบบ เพราะฉะนั้น 600 บาทต่อชั่วโมงก็เป็นเกณฑ์ที่รับได้ ถ้าหากเป็นงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่บริการทางสังคม ล่าสุด สมาคมล่ามฯ เองกำลังดำเนินการหาแนวทางเรื่องนี้ ซึ่งไม่ช้าจะออกประกาศอย่างเป็นทางการ และตามประกาศของ กสทช.ด้วยแล้ว หากคิดตามอัตราค่าตอบแทนวิทยากรเอกชนอยู่ที่อัตรา 1,200 บาท ต่อ 1 ชั่วโมง
การเข้ามาของทีวีดิจิตอล ถือเป็นโอกาสของวิชาชีพล่ามภาษามือ เปิดช่องทางให้วิชาชีพนี้พัฒนาต่อไปในอนาคต
สุดท้ายนี้ นายกสมาคมล่ามฯ ขอฝากเพิ่มเติมว่า ตัวล่ามภาษามือ ต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง ฝึกฝนให้มีทักษะที่ดี ต้องเคารพในคุณภาพการให้บริการ ไม่ใช่แค่แปลจบแล้วรับเงินเท่านั้น ต่อมาฝากถึงคนหูหนวกเอง ต้องร่วมมือกับล่าม เพราะต้องยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไม่สามารถแยกจากกันได้ คนหูหนวกต้องเรียนรู้ภาษามือที่จะสื่อสารกับล่ามได้ เข้าใจการประเมิน แนะนำ ตำหนิติเตียนหรือว่าบอกกล่าวให้ล่ามพัฒนาได้ และสุดท้ายหน่วยงานอื่นๆ จำเป็นต้องเข้าใจการใช้ล่ามและบริบทการใช้บริการล่ามด้วยเช่นกัน