ฝังเข็ม, แพทย์แผนจีน, ฝังเข็มรักษาโรค


2,455 ผู้ชม


เรื่องน่ารู้ก่อนไป ฝังเข็ม !!

เวชกรรม ฝังเข็ม เป็นศาสตร์การรักษาโรคที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานนับ 4,000 กว่าปีมาแล้ว ศาสตร์วิชานี้มีกำหนดมาจากการแพทย์แผนโบราณของจีนและได้รับการพัฒนาสืบทอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ปัจจุบันนี้  การรักษาโรคด้วยการ ฝังเข็ม ได้เป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์ทั่วโลกนับ 140 กว่าประเทศแล้วองค์การอนามัยโลกหรือ WHO (  World Health Organization ) ได้ประกาศรับรองผล  การรักษาโรคด้วยวิธีนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979

เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1996 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NIH ( National Institutes of Health ) ก็ยอมรับว่า การฝังเข็มเป็น “ทางเลือกที่สมเหตุผล” ในการรักษาโรคได้หลายอย่าง

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะปักเข็มคาเอาไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงถอนเข็มออก การรักษามักจะทำวันละหนึ่งครั้ง ทุกวันหรือวันเว้นวันต่อเนื่องกันไปประมาณ 7-10 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคนั้น ๆ นอกจากนี้ เวชกรรมฝังเข็มยังมีรูปแบบการรักษาปลีกย่อยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น เข็มหู,เข็มเคาะผิวหนัง,การรมยา,การใช้กระปุกดูด เป็นต้น

ฝังเข็ม, แพทย์แผนจีน, ฝังเข็มรักษาโรค

การปฏิบัติตัวขณะรักษา

ก่อนไปฝังเข็ม ผู้ป่วยก็ควรต้องมีการเตรียมตัวด้วย

1.เตรียมใจไปรักษา

การฝังเข็มนั้นเป็นการรักษาที่มีลักษณะเป็น “หัตถการ” ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยหวดกลัวดิ้นไปมาโดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กแพทย์ก็จะปักเข็มได้ไม่ถนัดหรือ ผิดพลาด ผลการรักษาย่อมไม่ดีอย่างแน่นอน หรือกระทั่งอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม จึงควรมาด้วยความมั่นใจต่อการรักษามิใช่มาด้วย ความกังวลหวาดวิตก

2.สวนใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม

ในการฝังเข็ม ตำแหน่งจุดปักเข็มบางครั้งจะอยู่บริเวณใต้ร่มผ้าผู้ป่วยจึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นชุดแยกส่วน ระหว่างเสื้อกับกระโปรงหรือกางเกง เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ควรรัดแน่นเกินไปเพื่อสะดวกในการพับแขนเสื้อและปลายขากางเกง ควรให้หลวมหรือกว้างพอที่จะพับสูงขึ้นมาเหนือข้อศอกหรือข้อเข่าได้ ในกรณีที่ต้องปักเข็มบริเวณไหล่หรือต้นคอก็ควรเลือกสวมเสื้อที่มีคอกว้าง

3.รับประทานอาหารให้พอเหมา

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป หากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มมาใหม่ ๆ หรือรับประทานมากเกินไป อาหารยังคงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารมาก เมื่อมาฝังเข็มซึ่งต้องนอนเป็นเวลานาน ๆ ถึง 20 นาที อาจทำให้รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะในท่านอนคว่ำผู้ป่วยอาจทนไม่ได้นอกจากนี้ หากต้องปักเข็มบริเวณหน้าท้อง ถ้ากระเพาะอาหารบรรจุอาหารจนพองโตมากๆ อาจทำให้เกิดอันตรายจากการปักเข็มทะลุเข้าไปในช่องท้องหรือกระเพาะอาหารได้ง่าย

ตรงกันข้าม ไม่ควรมารักษาในขณะที่กำลังหิวจัด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ได้ง่ายเมื่อกระตุ้นเข็มแรง ๆ ทั้งนี้เพราะว่าร่างกายอาจขาดพลังงาน ที่จะเอามาใช้เผาผลาญ ในขณะที่ระบบประสาทและฮอร์โมนกำลังถูกกระตุ้น จากการฝังเข็ม

4. ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย

การฝังเข็มเป็นหัตถการที่ต้องใช้วัตถุแหลมคมปักผ่านผิวหนังลงไปในร่างกาย ผู้ป่วยจึงควรมีสภาพร่างกายที่สะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนมาฝังเข็ม หากผู้ป่วยสามารถอาบน้ำสระผมมาก่อนได้นั่นก็จะดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็อย่าให้ส่วนของร่างกายบริเวณที่ต้องปักเข็มนั้นสกปรกจนเกินไป ก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน

ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการปักเข็มศีรษะ ควรตัดผมให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ไม่ควรใช้เยลหรือครีมทาผมที่เหนียวเหนอะหนะหรือ ถ้าหากไม่ใช้เลยจะดีที่สุด เพื่อสะดวกแก่แพทย็ในการปักเข็มเช่นกัน

ผู้ป่วยสตรีที่กำลังมีประจำเดือนมานั้น สามารถปักเข็มรักษาได้โดยไม่มีอันตราย อะไรเลย การที่ไม่นิยมฝังเข็มในช่วงนี้คงเป็นเรื่องของความไม่สะดวกหรือกระดากอายมากกว่า

5.สงบกายและใจในขณะรักษา

เมื่อแพทย์ปักเข็มลงบนผิวหนัง ผู้ป่วนจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับถูกมดกัด เมื่อแพทย์ปักถึงตำแหน่งจุด ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อ ๆ หรือหนัก ๆ หรือชา เล็กน้อย เมื่อแพทย์เริ่มทำการกระตุ้นหมุนปั่นเข็มก็จะรู้สึกตื้อหรือหนักชา มากขึ้น ในบางครั้ง ความรู้สึกดังกล่าวอาจจะแผ่เคลื่อนที่ออกไปตามแนว เส้นลมปราณก็ได้ หากเกิดความรู้สึก เช่นนี้ มักจะมีผลการรักษาดีเสมอ

ในกรณีทีใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็ม มีการเต้นกระตุกเบาๆ เป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้น

โดยทั่วไปแล้ว ในระหว่างการฝังเข็มผู้ป่วยไม่ควรมีอาการเจ็บปวดหรือชามากจนเกินไป หากรู้สึกเจ็บปวดมากหรือมีอาการชามากๆ หรือรู้สึกเหมือนถูก “ไฟฟ้าช๊อต” ควรรีบบอกแพทย์ทันที เพราะเข็มอาจจะไปแทงถูกเส้นเลือดหรือ เส้นประสารท หรือตำแหน่งของเข็มไม่ถูกต้องหรือตั้งความแรงของกระแสไฟฟ้าจาก เครื่องกระตุ้นไม่เหมาะสมก็ได้

ในระหว่างรักษา หากมีอาการผิดปกติหรือไม่สบายใด ๆ เกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หน้ามือ รู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม ให้รีบบอกแพทย์ผู้รักษาหรือผู้ช่วยแพทย์ทันที

ขณะที่มีเข็มปักคาร่างกายนั้น ควรนั่งหรือนอนนิ่ง ๆ ไม่ควรขยับเคลื่อนไหว ส่วนของร่างกายที่มีเข็มปักคาอยู่เพราะอาจทำให้เข็มงดหรือหักคาเนื้อได้ ยกเว้นการขยับตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังสามารถทำได้ แต่ร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีเข็มปักอยู่นั้น สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ตามสบาย

ระหว่างที่ปักเข็มรักษา ผู้ป่วยจึงควรอยู่ในสภาพที่สงบผ่อนคลายอาจหลับตาและหายใจเข้าออกช้า ๆ ให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เพื่อช่วยทำให้จิตใจสงบสบาย

ระหว่างที่ปักเข็มกระตุ้นอยู่นั้น ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกง่วงนอนเนื่องจาก การฝังเข็มสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่ง สารเอนเดอร์ฟีน ( Endorphins ) เกิดขึ้น สารนี้มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนช่วยลดความเจ็บปวดและ ช่วยกล่อมประสาทให้รู้สึก เคลิบเคลิ้ม เมื่อรักษาไปหลาย ๆ ครั้ง ผู้ป่วยบางคนจะพบว่าตนเองนอนหลับได้ง่ายขึ้น หรือหลับสนิทขึ้นและจิตใจก็จะสดชื่น แจ่มใสมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ฝังเข็ม, แพทย์แผนจีน, ฝังเข็มรักษาโรค

6.การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

หลังจากปักเข็มกระตุ้นครบเวลาตามกำหนด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีแล้ว แพทย์ก็จะถอนเข็มออก บางครั้งอาจมีเลือดออกเล็กน้อยตรงจุดที่ปักเข็ม เหมือนกับเวลาไปฉีดยา เนื่องจากเข็มอาจปักไปถูกเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ เมื่อใช้สำลีกด เอาไว้สักครู่ เลือดก็จะหยุดได้เอง

หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้วไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษอะไรเลย  ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นกรณีที่ติดเข็มคาใบหูเวลาอาบน้ำต้องระมัดระวัง มิให้ใบหูเปียกน้ำ

โดยทั่วไปแล้วหลังจากฝังเข็ม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องกลับไปนอนพักที่บ้านแต่อย่างไร  สามารถขับรถหรือกลับไปทำงานได้ เว้นแต่บางคนอาจมี อาการอ่อนเพลียได้บ้างหลังจากฝังเข็ม เมื่อนอนพักแล้วก็จะหายไปได้

7.การรักษาอื่น ๆร่วมกับการฝังเข็ม

ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม อาจมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งมักจะต้องมียารับประทานรักษาอยู่เป็นประจำหรือมีการ รักษาอื่น ๆ เช่น กายภาพบำบัด ร่วมอยู่ด้วย

โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยการฝังเข็ม มักสามารถจะรับประทานยาหรือไข้ การรักษาอื่น ๆ ร่วมไปด้วยได้ โดยไม่มีข้อห้ามอะไร

8.ข้อห้ามสำหรับการฝังเข็ม

  • ผู้ป่วยที่ตื่นเต้นหวาดกลัวต่อการรักษามากเกินไปทั้ง ๆ ที่ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังควบคุมจิตใจตนเองไม่ได้
  • ผู้ป่วยที่เหน็ดเหนื่อยหลังออกกำลังกายหนัก
  • สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอด เพราะว่าผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่สามารถทนนอนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ ได้ การนอนหงายจะทำให้มดลูกและทารกในครรภ์  กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อกเป็นลมได้ ส่วนท่านอนคว่ำก็ไม่เหมาะสมกับสตรีขณะตั้งครรภ์ เพราะจะกดทับอารกในครรภ์และก่อให้เกิดความอึดอัดไม่สบายแก่มารดา
  • นอกจากนี้แล้ว การปักเข็มที่รุนแรงอาจกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากเกินไป จนทำให้เกิดการแท้งลูกได้
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เมื่อเลือดออกแล้วหยุดยาก เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาควรระมัดระวังเป็นพิเศษ การปักเข็มหรือการกระตุ้นเข็ม แพทย์จะต้องทำอย่างนุ่มนวล ระวังมิให้เข็มปักโดนเส้นเลือดใหญ่ หลังจากถอนเข็มต้องกดห้ามเลือดให้ นานกว่าผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป
  • ทารกเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคจิต โรคสมองเสื่อมที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (pacemaker) ติดอยู่ในร่างกาย ห้ามรักษาโดยเครื่องกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า เพราะอาจรบกวน การทำงานของเครื่อง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ ยังคงสามารถปักเข็มกระตุ้นโดยวิธีการหมุนปั่น ด้วยมือได้

“ข้อห้าม” ดังกล่าวเหล่านี้ มิใช่เป็นข้อห้ามอย่างสมบูรณ์เด็ดขาด ตัวอย่างเช่น การปักเข็มในผู้ป่วยโรคจิตก็อาจทำได้เหมือนกัน ขอเพียงแต่เข้าใจถึงเหตุผลที่ จะทำให้เกิดอันตราย เมื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง เราก็อาจพลิกแพลง ปักเข็มให้แก่ผู้ป่วยเหล่านี้ก็ได้

ขอบคุณที่มาจาก : คลินิกแพทย์ฝังเข็ม โรงพยาบาลราชวิถี

อัพเดทล่าสุด