ระวัง! ยาจุดกันยุง ปลอม พบสารอันตรายให้โทษ
ปฏิบัติการเข้ม ถึงคิวเชือดผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนผิดกฎหมาย อย. รุดจับมือ ตำรวจ บก.ปคบ. บุกตรวจสอบแหล่งผลิต/นำเข้า/จำหน่าย “ยาจุดกันยุง” หลังรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคและสสจ. พิจิตร แห่งแรกพบ บ.หลาน ไค ซิน หยวน ฟา จก. นำเข้ายาจุดกันยุง ตรา LaoJun โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน และแห่ง ที่ 2 พบ ยาจุดกันยุง ตรา goldeer แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากภาษาไทย ยึดของกลางจำนวนมาก พร้อมกับ ตรวจค้นโกดังย่านบางขุนเทียน พบซีอิ๊วเห็ดหอมฮ่องกง ตรา OHYE สวมทะเบียนปลอมไม่ตรงกับที่ขอขึ้นทะเบียน ยึดของกลางทั้งหมด มูลค่ากว่า 7 แสนบาท แจ้งความผิดหลายข้อหาทันที มีโทษทั้งจำและปรับเตือนผู้บริโภค อย่าซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตามตลาดนัด หรือรถเร่ขายสินค้า แผงลอยต่าง ๆ ที่ โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่อาจลักลอบนำเข้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. ที่สำคัญอาจได้รับสารอันตรายที่ปลอมปนใส่ในผลิตภัณฑ์ เป็นอันตรายได้ ย้ำ อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนซื้อ ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกครั้ง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่ อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. ปฏิบัติการร่วมกันในการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความ ปลอดภัยให้ผู้บริโภค นั้น ล่าสุดได้จับ “ยาจุดกันยุง” ผิดกฎหมาย ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียน 2 กรณี โดยกรณี แรก อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบสถานที่นำเข้ายาจุดกันยุงแห่งหนึ่งคาดว่าอาจจะทำผิด กฎหมาย ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 อย. ได้เข้าตรวจสอบสถานที่นำเข้าชื่อ บริษัท หลาน ไค ซิน หยวน ฟา จำกัด เลขที่ 25/3 หมู่ 4 ต.บางคูรัด อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งพบว่าเป็นสถานที่เก็บยาจุดกันยุงตรา LaoJun ลักษณะเป็นกล่องสีเหลือง ฉลากแสดงภาษาจีน ระบุส่วนประกอบสำคัญของสาร Meperfluthrin 0.05% เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลาง จำนวน 21,000 กล่อง มูลค่ากว่า 500,000 บาท เพื่อดำเนินคดีต่อไป กรณีที่สอง อย. ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรให้ตรวจสอบการผลิต การนำเข้า และการควบคุมฉลากของผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง ตรา goldeer ซึ่งตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าแสดงฉลากไม่ ถูกต้อง และไม่มีฉลากภาษาไทย
ดังนั้น อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. ทำการสืบสวนและล่อซื้อยาจุดกันยุงดังกล่าว จากนายอภิเชษฐ์ ผ่านทางเฟซบุ๊ค (www.facebook/goldeer999) จำนวน 100 ลัง โดยนัดส่งของในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บริเวณซอยเอกมัย 89/7 และเมื่อนายอภิเชษฐ์นำสินค้ามาส่ง เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวและทำ การตรวจยึดของกลาง ซึ่งจากการตรวจสอบพบเป็นยาจุดกันยุง ตรา goldeer 1981 ลักษณะกล่องสีน้ำเงิน แสดงฉลากภาษาจีน ระบุส่วนประกอบสำคัญของสาร Meperfluthrin 0.08% เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางมูลค่า กว่า 1 แสนบาท จากนั้นในวันเดียวกัน ( 22 พ.ค. 57 ) อย. ได้เข้าตรวจค้นโกดังสินค้า เลขที่ 14/12 ซ.บางกระดี่ 35/1 แยก 4 ถ.บางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ปรากฏพบ ซีอิ๋วเห็ดหอมฮ่องกง ตรา OHYE ฉลากระบุเลขสารบบอาหาร 10-3-15147-1-0004 ไม่ระบุผู้นำเข้า และเมื่อตรวจสอบเลขสารบบอาหารพบว่า เป็นการสวมทะเบียน โดยเลขสารบบอาหารดังกล่าวได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วถั่วเหลือง เจ้าหน้าที่ จึงยึดของกลางมูลค่า 100,000 บาท เพื่อดำเนินคดีอย่างเข้มงวดต่อไป ส่วนของการดำเนินคดี ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
กรณีของ บริษัท หลาน ไค ซิน หยวน ฟา จำกัด (นำเข้ายาจุดกันยุง ตรา LaoJun โดยไม่ได้ขอ อนุญาต)
- นำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 โดยมิได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีของนายอภิเชษฐ์ (นำเข้า/ขาย ยาจุดกันยุง ตรา goldeer โดยไม่ได้ขออนุญาต )
- นำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 โดยมิได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีของโกดังสินค้า พบซีอิ๊วเห็ดหอมฮ่องกง ตรา OHYE ฉลากสวมทะเบียน
1. นำเข้าและขายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
2. ขายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สารเมเพอร์ฟลูทริน ( Meperfluthrin ) ที่ระบุไว้ตามเอกสารยา จุดกันยุงของผู้ผลิตทั้งสองราย นั้น เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยัง ไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้ออย่าใช้ยาจุดกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร ดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายได้ เนื่องจากสาร Meperfluthrin ยังไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยันในความ ปลอดภัยแต่อย่างใด นอกจากนี้ ขอให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ จากแหล่งร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และ อย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงเด็ดขาด หากจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ใน บ้านเรือน เช่น ยาจุดกันยุง ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยให้สังเกตที่ ฉลาก ต้องมีเลขทะเบียน อย. วอส. ส่วนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ควรสังเกตฉลากต้องมีข้อความ ภาษาไทยที่แสดงรายละเอียดครบถ้วน เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือวันเดือนปีที่ หมดอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้ อย. จะขอความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ในการเฝ้าระวังตรวจสอบ การผลิต/จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่นั้น ๆ มิให้กระทำผิดกฎหมาย ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงาน คุ้มครองผู้บริโภคของ อย. หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ที่คาดว่าจะเป็นอันตราย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบการกระทำผิดนั้นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อ อย. จะได้ร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบและ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
ขอบคุณที่มาจาก : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค