โรคกังวลต่อการเข้าสังคม, โรคกลัวสังคม, อาย, ขี้อาย, การเข้าสังคม


949 ผู้ชม


โรคกังวลต่อการเข้าสังคม

เคยบ้างไหมที่บางครั้งคุณรู้สึกกังวลต่อการเข้าสังคม ไม่กล้าสุงสิงกับใคร หรืออายเมื่อเวลาต้องเผชิญกับคนเยอะๆ จนความรู้สึกเหล่านั้นกลายเป็นความกลัวที่ทำให้คุมณไม่กล้าที่จะออกไปพบกับใคร หรือใช้ชีวิตอยู่ในโลกส่วนตัว เหล่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า โรคกังวลต่อการเข้าสังคม (Social Anxiety in Children & Adolescents) หรืออาจกลายเป็นขั้น Social Phobia หรือโรคกลัวสังคมนั่นเอง

โรคกังวลต่อการเข้าสังคม, โรคกลัวสังคม, อาย, ขี้อาย, การเข้าสังคม

โรคกังวลต่อการเข้าสังคม อาจพบเห็นได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้สึกขัดอกขัดใจกับบุตรหลานของตนอย่าง มากว่าทำไม “ไม่กล้าแสดงออก” หรือพ่อแม่อาจอับอายที่มีลูกขี้อายและยิ่งพยายามผลักดันให้เด็กๆ ได้แสดงออก เช่น ส่งไปเต้นระบำขับร้องบนเวทีที่มีคนดูเยอะๆ วิธีการนี้อาจยิ่งจะทำให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นที่ไม่อาจทำให้พ่อ แม่พอใจได้

อาการหลักๆ ของโรคนี้คือ ความกลัวต่อการถูกเฝ้ามองหรือถูกประเมินจากคนอื่น เด็กเหล่านี้จะกลัวโดยคิดไปว่า เขาอาจจะทำหรือพูดอะไรที่ดู “เปิ่นๆ เชยๆ ผิด งี่เง่า ไม่เข้าท่า” ออกไปทำให้ตัวเองอับอาย หรืออาจตกเป็นเป้าสายตาของการถูกวิพากษ์วิจารณ์

ถ้าพูดให้ดีคนที่เป็นโรคกลัวหรือกังวลต่อการเข้าสังคมจะแตกต่างกับ “ความอาย” เพราะว่าความอายจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่คนที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมจะไม่สามารถทำอะไรต่อหน้าผู้อื่นได้เลย และอาการก็ไม่ดีขึ้นเมื่อโต เวลาที่เด็กเหล่านี้กลัว เด็กอาจมีอาการทางร่างกายต่างๆ ตามมา เช่น เวียนหัว มึนงง ท้องไส้ปั่นป่วน มือสั่น ใจสั่น เหงื่อแตก หน้าแดงหรือเกร็งกล้ามเนื้อต่างๆ หรือบางคนอาจกลัวลนลาน หรืออาจจะวิ่งหนีเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ก็ได้

สำหรับสถานการณ์หลักๆ ที่มักทำให้เด็กเหล่านี้แสดงอาการออกมาคือ การต้องเป็นคนนำการสนทนาให้กับคนที่ไม่คุ้น การร่วมกิจกรรมหรือต้องแสดง พูดหน้าชั้นเรียน และการถูกถามคำถามในห้องเรียน

หากพ่อแม่ท่านไหนสงสัยว่าลูกของท่านอาจเป็น โรคกังวลต่อการเข้าสังคม สามารถสังเกตลูกได้ว่ามีอาการดังนี้หรือไม่ เช่น

  • ลังเล รู้สึกไม่สบายใจ หรือยอมเป็นคนตามเมื่อต้องเป็นจุดสนใจของคนอื่น
  • หลบเลี่ยงที่จะเริ่มพูดคุย แสดงออก ไปงานรื่นเริง รับโทรศัพท์หรือสั่งอาหารตามร้านภัตตาคาร
  • ไม่ค่อยสบตา หรือมักพูดเบาๆ พึมพำ-คุยหรือเล่นกับเพื่อนน้อย- แยกตัวจากกลุ่มเพื่อนไปเก็บตัวในห้องสมุดอย่างไม่มีความสุข (ไม่ใช่เพราะรักการอ่าน)
  • ใส่ใจกับคำพูดคำวิจารณ์ต่างๆ อย่างมาก กลัว “ขายหน้า” ฯลฯ

นอกจากนี้ ผลตามมาของการที่เด็กกลัวสังคมมากๆ อาจทำให้เด็กปฏิเสธการไปโรงเรียน (School refusal)โดยหาสาเหตุต่างๆ นานามาอ้างว่าไม่สบาย ปวดหัว ปวดท้องบ่อยๆ ปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เด็กกลายเป็นใบ้ เพราะไม่กล้าพูดหรือคุยกับใครเลย หรืออาจจะพูดเฉพาะคนที่คุ้นเคย รู้จักกัน (Selective mutism) ก็ได้.

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อพบว่าลูกของท่านเป็น โรคกังวลต่อการเข้าสังคม หรือมีแนวโน้มควรปฏิบัติดังนี้

  • สร้างโอกาสให้บุตรหลานของท่านได้ “ทดลอง” กับสังคมที่หลากหลาย อย่างเล่นกับเพื่อนๆ กลุ่มต่างๆ ไปงานวันเกิดเพื่อนๆ ญาติๆ เข้ากิจกรรมโรงเรียน แต่ไม่ควรผลักดันลูกไปเข้าสถานการณ์ใหญ่ๆ ยากๆ เช่น ประกวดร้องเพลง แข่งพูดโต้วาที เป็นต้น เพราะเด็กอาจล้มเหลว ได้รับแต่ประสบการณ์ที่แย่แทนที่จะรู้สึกว่าทำได้
  • เวลาเห็นลูกทำท่าอึดอัดหรือตอบคนอื่นช้า อย่า “พูดแทน” ลูก เช่น เวลาสั่งอาหารช้าก็สั่งให้ หรือแย่งตอบคำถามที่ผู้ใหญ่คนอื่นถามให้แทน
  • จูงใจให้รางวัลหากลูกกล้าพูด- ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นในสถานการณ์สังคมต่างๆ ว่าควรวางตัวอย่างไร
  • กรุณาอย่าทำท่าทางเหนื่อยหน่าย “เบื่อ” หรือโมโห หากลูกไม่สามารถแสดงออกได้ดังใจของท่าน (จริงๆ เขาก็ผิดหวังตัวเองอยู่เยอะแล้ว) ควรแสดงความเข้าใจเขา และให้กำลังใจแนะนำให้ลองครั้งต่อไป

สำหรับคุณครูควรจะปฏิบัติต่อนักเรียนด้วย ดังนี้

  • ลองเปลี่ยนบรรยากาศกฎเกณฑ์ให้ลูกศิษย์ที่กลัวการเข้าสังคมของคุณ ซึ่งอาจจะ “ช้า” หรือ “ลังเล” ให้มีโอกาสได้แสดงออกบ้าง ไม่ใช่เน้นแต่ “ความเร็ว” หรือ “ความเด่น”
  • คุยกับเขาว่า เราพยายามสร้างโอกาสให้เขาได้แสดงออก ไม่ใช่ “แกล้ง” ทำให้เขาได้อาย
  • แนะนำเขาว่าการได้พูดตอบแค่ “เบาๆ” ในห้องก็เพียงพอแล้วสำหรับการมีส่วนร่วมในช่วงแรกๆ เขาจะรู้สึกว่าการมีส่วนร่วมนั้น “ง่าย” ขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งถัดมา
  • อย่าระดมถามแต่เด็กที่กำลังฝึกคนนี้อยู่คนเดียว ควรกระจายถามเด็กคนอื่นๆ ให้เสมอๆ กันอย่างเป็นธรรมชาติ

ขอบคุณที่มาจาก : โรงพยาบาลมนารมย์

อัพเดทล่าสุด