เนยเทียม รับประทานมาก เสี่ยงอันตรายหลายโรค
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเตือน ไขมันทรานส์ที่อยู่ในเนยเทียม เนยขาว ที่แฝงในอาหารประเภท ฟาสต์ฟู้ดและเบเกอรี่มากเกินไป ทำให้ปริมาณไขมันและน้ำหนักเพิ่ม ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ และเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด แนะอ่านฉลากก่อนซื้อ และลดปริมาณการกิน หันมากินผักและผลไม้สดแทน
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ไขมันที่ใช้ทำครีมเทียมนั้นทำมาจากไขมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ทำให้น้ำมันเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็น กึ่งของแข็งหรือทำเป็นผงได้ เช่น มาร์การีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม ไขมันที่เปลี่ยนไปนี้เรียกว่าไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันที่เกิดจากขบวนการแปรรูปอาหารโดยลักษณะพิเศษของไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ไขมันทรานส์จะมีคุณสมบัติเป็นกึ่งของแข็ง ไม่เหม็นหืนง่าย ไม่เป็นไข ทนความร้อนสูงและราคาถูกทำให้ผู้ประกอบการอาหารฟาสต์ฟู้ดและเบเกอรี่ นิยมนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อลดต้นทุนการผลิตรวมทั้งการผลิตครีมเทียมทั้งชนิดเหลวและชนิดผงด้วย
นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ยังแฝงมากับอาหารชนิดอื่น เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด รวมถึงอาหารที่ระบุว่ามีการเติมไฮโดรเจนลงในไขมัน เมื่อกินไขมันทรานส์เข้าไปสะสมในร่างกาย มากเกินไปทำให้น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตับทำงานผิดปกติ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในเส้นเลือด
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ที่อยู่ในเนยเทียม เนยขาว ควรอ่านฉลากเพื่อดูปริมาณไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไขมันน้อยกว่าและระบุชนิดไขมันทรานส์เป็นศูนย์ อ่านส่วนประกอบข้างบรรจุผลิตภัณฑ์ของอาหารดูว่ามีไขมันทรานส์หรือข้อความ partially hydrogenated oil หรือ hydrogenated vegetable oil ที่หมายถึงน้ำมันแปรรูปจากการเติมไฮโดรเจนบางส่วน จำกัดปริมาณการกินขนมอบกรอบ เบเกอรี่ มาร์การีนชนิดแท่ง ฟาสต์ฟู้ด เฟรนซ์ฟรายส์ ที่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณไขมันและน้ำหนักตัว
“บางครั้งแม้ฉลากจะระบุว่าไร้ไขมันทรานส์เพื่อทำให้กินอาหารนั้นเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อาหารนั้นจะมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้น ทางที่ดีควรเลือกกินอาหารจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการหรืออาหารที่เป็นชนิดที่เลียนแบบธรรมชาติเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายสูงสุด ไม่ใช่เพียงแต่รสชาติหรือรสสัมผัสที่ถูกลิ้นซึ่งส่งผลเสียกับร่างกาย ควรเลือกกินอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็มจนเกินไป เน้นอาหารประเภทผักและผลไม้สด และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเผาผลาญพลังงานและสร้างสุขภาพดีให้กับตนเอง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ที่มาเรื่องจาก กรมอนามัย