ต้องขนาดไหนถึงจะเรียกว่า คอร์รัปชั่น, คอร์รัปชั่น, ฉ้อราษฎร์บังหลวง


842 ผู้ชม


ต้องขนาดไหนถึงจะเรียกว่า คอร์รัปชั่น?

ต้องขนาดไหนถึงจะเรียกว่า คอร์รัปชั่น, คอร์รัปชั่น, ฉ้อราษฎร์บังหลวง

เรื่อง : ดร. อภิชาต อินทรวิศิษฏ์

ผมทำงานเป็นฝ่ายขายให้กับหน่วยงานราชการ ทำมา 2-3 ปีแล้ว ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเซนซิทีฟเกินไปหรือเปล่า ที่ต้องพบเห็นการพาไปดูงาน ให้ของขวัญกัน เช้าถึงเย็นถึง ดูแลไปถึงเรื่องส่วนตัวของข้าราชการเลยก็มี เพื่อแลกกับความสะดวกในการติดต่องาน พวกรุ่นพี่ในแผนกก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกบริษัทในวงการนี้ทำเหมือนกันหมด เราขายโครงการผ่านการประมูลถูกต้อง จึงไม่ต้องคิดมาก แต่ผมก็ยังคิดว่ามันไม่เป็นมืออาชีพอยู่ดี การทำงานในตำแหน่งหน้าที่แบบนี้ เราควรจะทำตัวอย่างไรครับ

คอร์รัปชั่น หรือ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เกิดและพัฒนาคู่สังคมทุกแห่งในโลกมาตั้งแต่บรรพกาล เพราะคนเราต้องการจูงใจหรือวางอำนาจเหนือฝ่ายหนึ่ง ให้ฝ่ายนั้นโอนอ่อนตาม ไม่ว่าจะด้วยการต่างตอบแทน เอาอกเอาใจ ทิป หรือตบรางวัล ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมูลเหตุนำไปสู่คอร์รัปชั่นได้ทั้งสิ้น

สังคมที่มีภาวะคอร์รัปชั่นหนักๆ มักเป็นสังคมที่มิได้มองความเสมอภาคเป็นใหญ่ หากแต่มองระบบอุปถัมภ์ หรือสถานะของผู้น้อยผู้ใหญ่ เป็นปัจจัยสำคัญกว่าเรื่องอื่นใด เพราะต่างเชื่อว่าต่างต้องเกื้อกูลกัน สังคมจึงธำรงอยู่ได้

วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นหรือธรรมเนียมธุรกิจแต่ละชนิด มีอิทธิพลต่อการตัดสินว่า คอร์รัปชั่นต้องถึงแค่ไหน? ส่วนที่จะบอกว่าผิดศีลธรรม ละเมิดจรรยาบรรณ หรือบาปกรรมนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคนที่ศรัทธามากน้อยเพียงไรในศาสนา หรือยึดมั่นในหลักธรรมใด

การเป็นคน ‘เซนซิทีฟ’ หรือละเอียดอ่อนต่อเรื่องเหล่านี้เป็นข้อดี เพราะอย่างน้อยๆ เราก็บรรลุและเข้าถึงแก่นแท้ของคำว่า ‘ยุติธรรม’ ได้ หากแต่เราควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างภูมิความอดกลั้นให้เป็น มิฉะนั้น เราจะอยู่ในสังคมธุรกิจได้ยาก

หลักการเป็นคนดีของสังคมนั้น Carroll และ Buchholtz แจกแจงว่า นักธุรกิจควรทำหน้าที่ให้ครบ 4 ลำดับ คือ

> หนึ่ง ทำมาหากิน (Economic Responsibility) ให้เกิดดอกออกผล เป็นประโยชน์แก่ตน ลูกจ้าง และลูกค้า

> สอง ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย (Legal Responsibility) เช่น เสียภาษี ทำงานให้ถูกกฎระเบียบต่างๆ ไม่พลิกกฎหมายเพื่อให้ตนได้เปรียบหรือทำให้คนอื่นเสียเปรียบ

> สาม นักธุรกิจต้องมีจรรยาบรรณ (Ethical Responsibility) กล่าวคือ กระทำการใดๆ ด้วยความเที่ยงธรรม สุจริต ไม่เอาเปรียบใครๆ มาถึงเรื่องนี้ชีวิตเริ่มยากขึ้น เพราะความสำเร็จของธุรกิจมักต้องแข่งขัน การแข่งขันมักไม่เอื้อความยุติธรรมให้กับใครได้ง่ายๆ

> สี่ ลำดับสุดท้ายคือ ใจบุญสุนทาน (Philanthropic Responsibility) เอื้อเฟื้อเสียสละเหมือนมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง Warren Buffet หรือ Bill Gates

สองลำดับหลังนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่เรา ‘ต้อง’ ทำเหมือนสองลำดับแรก แต่มักเป็นเรื่องที่ใครๆ ‘คาดหวัง’ ให้เราทำ

ส่วนใหญ่เรามักเห็นว่าทำเพียงแค่สองขั้นแรกก็พอแล้ว พูดง่ายๆ คือ ตราบใดที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และไม่ผิดกฎหมาย ส่วนอีกสองขั้นต่อไป ถ้ารวยขึ้นสักนิดเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ ดังนั้น ใครๆ จึงเห็นว่าการพาไปดูงานต่างประเทศ หรือการเลี้ยงดูปูเสื่อผู้ใหญ่ในวงราชการ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้เอาเปรียบใคร

นักวิชาการกำหนดว่า ‘จรรยาบรรณธุรกิจ’ ดูได้จากขั้นตอนดังนี้

> เรื่องนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดก็ยุติ ถ้าไม่ผิดถามต่อไปว่า

> แล้วจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นไหม? ไม่ว่าคำตอบคือเกิดหรือไม่เกิด ก็ต้องมาถ่วงน้ำหนักกับผลที่จะตามมา และประโยชน์ระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือลูกค้า ลูกจ้างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้ค้าส่งวัตถุดิบ (Suppliers) กับอีกฝ่ายคือผู้ถือหุ้นและกลุ่มเจ้าของธุรกิจ หากจะทำหรือจะยุติ ก็ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

ทริปไปดูงานของกลุ่มแพทย์หรือเภสัชกรโรงพยาบาล ที่มีบริษัทผลิตยาเป็นเจ้าภาพ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่คุ้นและเห็นได้อย่างโปร่งใส จนวงการท่องเที่ยวยกให้เป็นหน่วยธุรกิจ Incentives หรือ ตัวอักษร I ในกลุ่ม MICE

สังคมธุรกิจในบ้านเรา มักให้คุณค่าแก่กลุ่มเพื่อนและสัมพันธภาพเป็นสำคัญ ยิ่งพอมีทฤษฎีการดูแลบริหารการตลาดด้วยวิธี Customer Relationship Management เข้ามาอีกด้วยแล้ว ความสัมพันธ์หรือคอนเนคชั่นก็ยิ่งทวีความสำคัญขึ้น จนเรานำไปผสมโรงกับคอร์รัปชั่นไปโดยปริยาย

ว่าแต่ว่า คอร์รัปชั่น เกี่ยวอะไรกับมิสเตอร์แมนเนอร์ หรือประเด็นเรื่องบุคลิกภาพ?

คนที่พยายามเอาใจ มัดใจ ชนะใจ หรือสร้างภาพ ด้วยเจตนาของคอร์รัปชั่น ล้วนแล้วแต่ต้องปรุงแต่งบุคลิกภาพให้เกินธรรมชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น มิหนำซ้ำยังอาจสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อบอกว่าคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องผิดตรงไหน

บุคลิกภาพเหล่านี้ไม่ช้าไม่นานมักจะเพลี่ยงพล้ำและสะดุดขาตัวเอง เพราะมิได้เกิดจากความจริงใจ มิใช่นิสัยแท้จริงของคนคนนั้น เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในแวดวงธุรกิจ ต้องทำใจเป็นกลาง ถ่วงน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์และความเดือดร้อนของทุกฝ่ายให้ถ้วนทั่ว ถึงตอนนั้นแล้ว คุณจะพบว่า คุณสามารถใช้ ‘เซนซิทีฟ’ ของคุณให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าที่จะมานั่งหงุดหงิด เจ็บใจ หรือกลุ้มใจไปกับคอร์รัปชั่น

GM#428 MR.MANNER Vol.28 MARCH 2014Views: 491

อัพเดทล่าสุด