เก๊าต์, ปวดเก๊าต์, ข้ออักเสบ, ข้อเสื่อม, ปวดข้อ


880 ผู้ชม


เลือกกินอาหาร บรรเทาโรคเก๊าต์กันเถอะ

เก๊าต์ เป็นรูปหนึ่งของโรคข้ออักเสบซึ่งเกิดขึ้นเมื่อระดับกรดยูริคในร่างกายสูงกว่าปกติ (7 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) กรดยูริคเป็นผลพลอยได้จากการที่ร่างกายสลายสารพิวรีน ซึ่งเป็นสารที่พบตามธรรมชาติในร่างกายและอาหารที่มาจากสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ โดยปกติกรดยูริคจะละลายในเลือดและส่วนเกินจะถูกนำออกไปขจัดทิ้งในไตเพื่อขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ร่างกายคนเราสามารถผลิตกรดยูริคได้ถึง 85% แต่ถ้าร่างกายผลิตมากเกินไปหรือขับยูริคออกได้น้อยเกินไปเนื่องจากไตไม่สามารถขับกรดยูริคออกไปจากร่างกายได้ตามปกติ กรดยูริคจะตกตะกอนเป็นผลึกรูปคล้ายเข็มและสะสมตามข้อ เข่า และหัวแม่เท้าทำให้เกิดอาการเจ็บปวด อักเสบ และบวมตามข้อ

เก๊าต์, ปวดเก๊าต์, ข้ออักเสบ, ข้อเสื่อม, ปวดข้อ

อะไรบ้างที่เป็นความเสี่ยงของโรค เก๊าต์

  • การกินอาหารไขมันสูง และเนื้อสัตว์มากเกินควรร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากไป(มากกว่าวันละ 2 ดริ้งสำหรับผู้ชาย และมากกว่าวันละ 1 ดริ้งสำหรับผู้หญิง) โดยเฉพาะเบียร์ ซึ่งมีสารพิวรีนมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อย่างอื่นมาก
  • การลดน้ำหนักเร็วเกินไปก็จะมีความเสี่ยงของเก๊าต์มากขึ้น เหตุผลก็คือ ในขณะที่น้ำหนักลดลงร่างกายเริ่มทำการสลายเนื้อเยื่อ ทำให้มีการปลดปล่อยสารพิวรีนออกมามาก มีผลทำให้ร่างกายผลิตกรดยูริคออกมามากตาม
  • อาหารลดน้ำหนักชนิดโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรตต่ำเพิ่มความเสี่ยงของเก๊าต์ได้ เนื่องอาหารที่แนะนำ เช่น เบคอน เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเลบางชนิดมีสารพิวรีนสูง นอกจากนี้อาหารโปรตีนสูง หากใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้ไตต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจทำให้ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับกรดยูริคได้
  • โรคบางชนิดรวมทั้งยารักษาโรคบางชนิดอาจเร่งการเกิดโรคเก๊าต์ เช่นโรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, ไขมัน และคอเลสเทอรอลในเลือดสูง, หลอดเลือดตีบ, การผ่าตัด, อาการบาดเจ็บเฉียบพลันหรือรุนแรง, การพักฟื้นบนเตียง, การใช้ยาขับปัสสาวะ, การใช้แอสไพรินในปริมาณต่ำๆ และยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ นอกจากนี้เคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งเพื่อทำลายเซลที่ผิดปกติ ทำให้สารพิวรีนถูกปลดปล่อยออกมาในกระแสเลือดในปริมาณมาก
  • มีปัญหาทางกรรมพันธุ์
  • อายุและเพศ  มักจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 5 เท่า ทั้งนี้เพราะผู้หญิงจะมีระดับกรดยูริคในเลือดต่ำกว่าผู้ชาย แต่หลังจากหมดประจำเดือน ระดับกรดยูริคจะสูงขึ้นเท่ากับผู้ชาย นอกจากนี้ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเกิดเก๊าต์อายุน้อยกว่าผู้หญิงคือช่วงอายุ 30-50 ในขณะที่ผู้หญิงจะเกิดอาการหลังจากอายุ 50

อาหารเร่ง เก๊าต์

  • พิวรีนมีมากในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ยกเว้นนมพร่องมันเนย และไข่) เครื่องในสัตว์ (ตับ หัวใจ ไต) ปลาเฮอริ่ง แมคเคอเรล
    ปลาแองโชวี (คล้ายใส้ตัน) และปลาเทร้า  ส่วนไก่และเนื้ออื่นๆ ที่มีมันน้อยไม่เพิ่มความเสี่ยง
  • สำหรับถั่วมีปริมาณพิวรีนปานกลาง  อย่างไรก็ตามพืช และเมล็ดพืชที่มีพิวรีนสูงเช่น ข้าวโอ๊ตกลับพบว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงของเก๊าต์เลย
  • นักวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำสามารถป้องกันโรคเก๊าต์ได้ การดื่มนมวันละ 2 แก้วขึ้นไปจะลดความเสี่ยงโรคเก๊าต์ได้ถึง 50% เนื่องจากนมมีสารพิวรีนต่ำ แต่มีโปรตีนสูง และโปรตีนมีแนวโน้มจะช่วยลดระดับกรดยูริค
  • ปลาถึงแม้จะเป็นอาหารที่ดีในการป้องกันโรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ แต่จากข้อมูลที่พบอาหารทะเลทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ปลาทูน่า หอย กุ้ง ปู แซลมอน ต่างก็เพิ่มความเสี่ยงเก๊าต์ในผู้ชายที่ไม่อ้วน แต่ขณะเดียวกันเราต้องการประโยชน์จากกรดโอเมก้า 3  ฉะนั้นคนที่เป็นเก๊าต์ควรเสริมน้ำมันปลามากกว่าการกินปลามากๆ

การรักษา เก๊าต์

ปัจจุบันการใช้ยาลดกรดยูริคจะเป็นหลักในการบำบัดเก๊าต์ และแม้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะไม่สามารถรักษาเก๊าต์ให้หายขาดได้ แต่ก็ช่วยลดอาการของเก๊าต์ได้ ในทางโภชนบำบัดการเลือกบริโภคอาหารพิวรีนต่ำจะช่วยลดกรดยูริคในลือดที่มาจากอาหารและเครื่องดื่มถึง 15%  ข้อแนะนำคือ

  • ดูแลน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน ถ้าจะต้องลดน้ำหนักไม่ควรลดเร็วเกินไป ควรลดช้าๆ สัปดาห์ละ0.5-1 กิโล
  • ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว จะช่วยลดความเข้มข้นของกรดยูริคในเลือด
  • งด/ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง
  • กินโปรตีนแต่พอควร แหล่งโปรตีนที่ดีได้แก่เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ กินถั่วและไข่เล็กนัอย จำกัดเนื้อสัตว์ต่างๆไม่เกินวันละ 120-180 กรัม(สุก) เลาะหนังและมันก่อนกิน
  • จำกัดอาหารไขมันสูง เลี่ยงอาหารทอด จำกัดน้ำมันสลัดวันละ 3-6 ช้อนชา
  • เลี่ยงอาหารมื้อใหญ่โดยเฉพาะมื้อเย็น

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าอาหารที่มีผักผลไม้มากและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำเช่น แดชไดเอท (DASH Diet) ซึ่งเป็นอาหารในการควบคุมความดันโลหิต นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของเก๊าต์ด้วย

ขอบคุณที่มาจาก : Health&Cuisine มิถุนายน, Issue 53


อัพเดทล่าสุด