ลำไส้รั่ว, ลำไส้, ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่


1,062 ผู้ชม


ลำไส้รั่ว เพราะกินซ้ำซาก

“You are what you absorb” เพราะทุกสิ่งที่เรากินเข้าไป ล้วนต้องผ่านการย่อยและดูดซึมขั้นสุดท้ายที่ลำไส้เล็ก กล้ามเนื้อยืดหยุ่นขนาดประมาณ 6 เมตรนี้จึงเป็นเหมือนปราการคัดกรองสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบในปัจจุบัน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญของอาหารการกิน คนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยที่มีพฤติกรรมกินอาหารซ้ำซาก เมื่อนึกอะไรไม่ออกก็สั่งแต่เมนูซ้ำ ๆ กินประทังชีวิต เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อลำไส้ จนกลายเป็น “ ภาวะ ลำไส้รั่ว ”

ลำไส้รั่ว, ลำไส้, ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่

โจรพันหน้าที่ชื่อว่า “ ลำไส้รั่ว ”

ลำไส้รั่ว หรือ Leaky Gut Syndrome เปรียบเหมือนโจรพันหน้าที่ผันตัวให้เกิดความผิดปกติในร่างกายได้หลายประการ เพราะเมื่อลำไส้รั่ว สารอาหารที่ยังย่อยไม่เสร็จและมีขนาดใหญ่จะหลุดเข้าสู่ร่างกาย กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจึงต้องเร่งสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อรับมือ หรือหากมีเชื้อโรคจากลำไส้หลุดเข้าไปติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตั้งแต่สิวที่รักษาไม่หาย ผื่นผิวหนังไม่ทราบสาเหตุหรือภูมิเพี้ยน ภูมิแพ้ แพ้อาหาร อ่อนเพลียเรื้อรัง หอบหืด ลำไส้แปรปรวน (IBS) ลำไส้อักเสบโครห์น (Crohn’s disease) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปลอกประสาทอักเสบ (multiple sclerosis) ต่อมหมวกไตบกพร่อง แพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง (SLE) หรือไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น

เหตุใดลำไส้จึงรั่ว

หากจะมีสิ่งใดทำให้ ลำไส้รั่ว ได้ คงหนีไม่พ้นเป็นสิ่งที่สัมผัสกับลำไส้อยู่เป็นประจำ นั่นก็คือ อาหารและยา ทั้งยังมีข้อมูลอีกว่าความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลขัดขาว จะไปกระตุ้นให้เกิดยีสต์ในร่างกายมากกว่าปกติ กลายเป็นแหล่งชุมนุมยีสต์คอยก่อกวนผนังลำไส้จนรั่วได้ในที่สุด

อีกหนึ่งสาเหตุที่มองข้ามไม่ได้อย่างที่กล่าวไปแล้วคือ พฤติกรรมการบริโภคของหนุ่มสาวคนเมือง เคยเป็นไหมที่นึกไม่ออกว่าแต่ละมื้อจะกินอะไร ไม่ว่าไปกินที่ไหนก็สั่งแต่เมนูเดิมซ้ำ ๆ เช่นตลอดทั้งสัปดาห์เมนูคือกระเพราะไก่ รับรองว่าลำไส้รั่วถามหาแน่ เพราะร่างกายจะได้สารอาหารเดิมซ้ำซาก จนลำไส้ไม่ชินกับความหลากหลาย สารเคมีตกค้างในอาหารจานนั้นจะเข้าไปสะสมในลำไส้ตลอดเวลา เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงออกฤทธิ์ทำร้ายจนไส้รั่วได้เช่นกัน ส่วนยาที่ทำร้ายลำไส้คงหนีไม่พ้นจำพวก ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะทั้งหลาย ซึ่งออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียโดยไม่เลือกว่าเป็นเชื้อดีหรือเชื้อร้าย จนไม่มีแบคทีเรียตัวดีคอยรักษาสมดุล ลำไส้จึงอ่อนแอและทำงานผิดปกติได้

สาเหตุหลักอีกอย่างคือความเครียด จะเรียกว่า “สมองสั่งไส้” ก็ไม่ผิดนัก เพราะเมื่อเราเครียดสมองจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายทางรวมทั้งการบีบตัวของลำไส้ด้วย อย่างที่เคยได้ยินกันว่าเครียดลงกระเพาะหรือเครียดลงลำไส้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุย่อยอื่น ๆ เช่น โรคตับ เนื่องจากตับมีหน้าขับสารพิษ เมื่อตับทำงานผิดปกติสารพิษจึงถูกส่งต่อสู่ลำไส้ และโรคเบาหวาน ที่ทำให้ลำไส้ผู้ป่วยบีบตัวช้าหรืออาการลำไส้ขี้เกียจ จึงมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารย่อยช้า โอกาสที่ลำไส้จะสัมผัสกับอาหารที่หมักหมมก็นานขึ้น ความเสี่ยงติดเชื้อจนไส้รั่วจึงมากตามไปด้วย

ลำไส้รั่วตรงไหน

รู้จักสาเหตุของภาวะลำไส้รั่วไปแล้ว หลายคนอาจงงว่าไส้รั่วนี้รั่วตรงไหน เป็นแผลใหญ่เหมือนกระเพาะทะลุหรือเปล่า มาคลายสงสัยไปพร้อมกันเลยค่ะ หากลองจินตนาการถึงอวัยวะในช่องท้อง ท่อกล้ามเนื้อยืดหยุ่นที่ขดวนไปมาคือ ลำไส้เล็ก ประกอบไปด้วยชั้นกล้ามเนื้อ 4 ชั้น ชั้นในสุดที่สัมผัสกับอาหารจะมีลักษณะเป็นลอนคลื่น และบนผิวลอนคลื่นทั่วทั้งลำไส้เล็กนี้จะมี วิลไล (Villi) หรือเนื้อเยื่อส่วนที่ยื่นออกมาคล้ายขนแปรงอีกราว 3 ล้านเส้น แต่ละเส้นจะมีเซลล์ดูดซึมสารอาหาร 5,000 เซลล์ และบนวิลไลแต่ละเส้นยังปกคลุมไปด้วยขนแปรงจิ๋วไมโครวิลไล (Microvilli) เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซึมด้วย

และจุดรั่วที่แท้จริงก็คือบริเวณเซลล์ดูดซึมสารอาหารบนวิลไล ที่เกิดความผิดปกติหรือสูญเสียฟังก์ชันการทำงานจากสิ่งที่เรากินเข้าไป จนทำให้โมเลกุลสารอาหารหลุดรั่วเข้าไปได้ง่าย เป็นการรั่วกระจายทั่วลำไส้เล็ก ทั้งเยอะและเล็กจนบางครั้งแม้ส่องกล้องยังแทบมองไม่เห็นเลยล่ะ

สัญญาณเตือนลำไส้รั่ว

เพราะร่างกายมีระบบเตือนภัยในตัว ไม่ว่าจะมีสิ่งผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น หากสังเกตจะพบว่ามีสิ่งบอกเหตุทั้งสิ้น และ 3 อาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่ภาวะลำไส้รั่วได้

  1. ปวดท้อง ปวดบ่อย ๆ แบบไม่มีสาเหตุ
  2. ท้องอืด ท้องเฟ้อ กินอะไรเข้าไปก็ไม่ย่อยหรือย่อยช้า เกิดลมในท้อง อึดอัด ไม่สบายตัว
  3. ท้องเสีย ไม่ว่าจะกินอะไรก็ถ่ายท้องง่ายกว่าปกติ ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำตลอดเวลา

อาการเบื้องต้นที่ดูไม่น่ามีอันตรายนี่แหละ ที่บอกว่าคุณอาจตกอยู่ในภาวะลำไส้รั่ว เมื่อใดที่พบเจออาการเหล่านี้บ่อยเข้าจนรบกวนชีวิตประจำวัน ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ได้แล้วค่ะ

ทำอย่างไรเมื่อลำไส้รั่ว

น่าปวดหัวที่ลำไส้รั่ววินิจฉัยตรงตัวได้ยาก หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะลำไส้รั่วควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจให้กลืนแป้งหรือน้ำตาลโมเลกุลใหญ่เพื่อตรวจดูสิ่งตกค้างในปัสสาวะ ถ้าพบว่าน้ำตาลในปัสสาวะนั้นไม่ผ่านการย่อยเลย แสดงว่าไส้รั่วชัวร์แล้ว หรือถ้ามีอาการของโรคต่าง ๆ ข้างต้นร่วมด้วย แพทย์อาจต้องรักษาตามอาการ พร้อมกันนั้นตัวเราต้องเป็นหมอรักษาตนเองควบคู่ไปด้วย โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อฟื้นฟูลำไส้ค่ะ

สาเหตุของลำไส้รั่วอยู่ที่ อาหาร ยา และความเครียด ทางออกที่ดีที่สุดก็ต้องแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหาร ลดการใช้ยา และปรับ
สภาพจิตใจ

  • ปรับอาหาร ด้วยการงดกินแป้งและน้ำตาลขัดขาว แต่หันมากินข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท หรือน้ำตาลทรายแดง กินอาหารให้หลากหลายขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงลำไส้ได้รับสารอาหารและสัมผัสสารเคมีชนิดเดียวนาน ๆ กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้มาก เพื่อช่วยการทำงานของทางเดินอาหารทั้งระบบ รวมทั้งงดเครื่องดื่มกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ที่จะไปกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานผิดปกติ และควรกินอาหารให้ตรงเวลา เคยกินมื้อไหนช่วงเวลาไหนก็พยายามทำให้ได้ตรงกันทุกวัน ไม่จำเป็นต้องกินมื้อเช้าตอน 7 โมง มื้อกลางวันตอนเที่ยงตรง หรือมื้อเย็นตอน 6 โมง เพราะนาฬิกาลำไส้ของแต่ละคนเดินไม่พร้อมกันอยู่แล้ว
  • ลดการใช้ยา การเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางครั้งอาจทำให้คุณได้ยาถุงเบ้อเร่อจากโรงพยาบาล หากป่วยไม่มากอย่างเป็นหวัด มีไข้อ่อน ๆ เมื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ควรลองปล่อยให้ร่างกายเยียวยาตัวเอง งดใช้ยา แต่หันมาพักผ่อนให้มากขึ้น ออกกำลังกายเบา ๆ ให้ร่างกายมีแรงสู้กับเชื้อโรค และบำรุงด้วยอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เท่านี้ก็เลิกกังวลกับการกินยาแล้ว
  • ปรับสภาพจิตใจ เรื่องนี้ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเอง บางคนมีความสุขได้กับกิจกรรมเบา ๆ ยามว่าง ส่วนบางคนอาจหันหน้าเข้าพึ่งพาความร่มเย็นของศาสนา ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากมีวิธีใดจะสร้างความสุขให้ตัวเองได้นั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำได้ด้วยตัวเอง คือ เข้านอนให้เร็วขึ้น เพราะการนอนเป็นวิธีการพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายได้ดีที่สุด เนื่องจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เป็นดั่งน้ำพุแห่งความอ่อนเยาว์ออกมา 2 ชนิด คือ เอริโทรโพอีติน (Erythropoietin) และโกร๊ธฮอร์โมน ที่ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมทุกเซลล์ในร่างกาย รวมทั้งเซลล์ลำไส้ มีรายงานว่าช่วงเวลาทองของการเข้านอนคือ 4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า หากเข้านอนระหว่างนี้ร่างกายจะได้รับประโยชน์จากฮอร์โมนทั้งสองชนิดมากที่สุด

แหล่งอาหารรักษ์ลำไส้

อาหารที่เป็นมิตรกับลำไส้ ได้แก่ อาหารที่มีวิตามิน เอ วิตามินอี และสังกะสี ซึ่งสุดยอดมิตรแท้ของลำไส้ก็คือ “มะเขือเทศ” ที่นอกจากจะมีวิตามินหลายชนิดแล้ว ยังมีสุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระทรงพลัง อย่างไลโคปีน ที่ต้านการติดเชื้อเรื้อรังอย่างได้ผล นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลโมเลกุลขนาดกลาง (FOS) ทำ

หน้าที่เป็นสารอาหารพรีไบโอติกส์ ช่วยทำลายแบคทีเรียร้ายและเกื้อกูลแบคทีเรียดีในลำไส้อีกด้วย
มะเขือเทศจะให้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อผ่านความร้อน แม้วิตามินจะเสียไปบ้างแต่ไลโคปีนกลับเพิ่มมากขึ้น หากชอบกินมะเขือเทศแช่เย็น แนะนำให้วางทิ้งไว้สักครู่ เพราะความเย็นจะไปทำให้ไลโคปีนลดลง
และอาหารชนิดอื่น ๆ ที่เป็นเพื่อนแท้ของลำไส้ ได้แก่ โยเกิร์ต บลูชีส บรีชีส น้ำผึ้ง แก้วมังกร กล้วยหอม หน่อไม้ฝรั่ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม และข้าวสาลี เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า Leaky Gut Syndrome หรือภาวะลำไส้รั่วที่แม้จะฟังดูร้ายเพราะนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้นั้น แท้จริงแล้วป้องกันและรักษาได้ด้วยตัวเราเอง ทั้งการกิน การพักผ่อน การงดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เมื่อใดที่เราตระหนักถึงการดูแลลำไส้ดีแล้ว ก็เลิกตระหนกและมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าปลอดภัยจากภาวะลำไส้รั่วและเหล่าโรคแอบแฝงแล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณที่มาจาก : นิตยสาร Health&Cuisine มกราคม, Issue 120

อัพเดทล่าสุด