เลือด, เหงื่อออกเป็นเลือด, เหงื่อเลือด, โรคเหงื่อออกเป็นเลือด, Hematidrosis


882 ผู้ชม


โรคประหลาด เหงื่อออกเป็นเลือด รักษาหายขาดได้

อธิบดีกรมการแพทย์เผยโรคเหงื่อไหลเป็นเลือด พบได้น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายขาดได้ ระบุพบในเพศหญิงมากกว่าชาย พร้อมแนะวิธีดูแลโรคอื่นๆ ที่เกิดจากเหงื่อ

เลือด, เหงื่อออกเป็นเลือด, เหงื่อเลือด, โรคเหงื่อออกเป็นเลือด, Hematidrosis

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีพบเด็กชายที่มีอาการโรคประหลาดมีเลือดซึมออกตามผิวหนังหลายจุด เช่น ใบหน้าใกล้ตา ขา และบนศีรษะ  เข้าข่ายเป็นโรค เหงื่อออกเป็นเลือด หรือคำศัพท์ทางด้านการแพทย์เรียกว่า Hematidrosis เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก อาการผู้ป่วยคือจะมีเลือดออกบริเวณผิวหนัง และเยื่อบุอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเลือดจะไหลออกเป็นพัก ๆ สำหรับโรค เหงื่อออกเป็นเลือด เกิดจากเส้นเลือดฝอยรอบ ๆ บริเวณต่อมเหงื่อ เกิดความเปราะบาง  เกิดการปริแตก และมีเลือดไหลออกมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และส่วนมากจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับในเพศหญิงจะอยู่ในช่วงอายุก่อนจะมีประจำเดือน พบมากระหว่างอายุประมาณ 11-14 ปี  อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงอากาศร้อนจะพบว่าร่างกายมีเหงื่อออกจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และรักแร้ ซึ่งการที่มีเหงื่อออกนั้น เกิดจากความร้อนหรืออารมณ์และจิตใจที่ถูกกระตุ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติหรือเรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมากหรือภาวะเหงื่อท่วม” เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ มีสาเหตุ ที่พบได้บ่อย คือโรคอ้วนเพราะชั้นไขมันใต้ผิวหนังที่หนาขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี จึงต้องเพิ่มการระบายความร้อนออกทางเหงื่อ   การขาดฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนหรือภาวะวัยทอง  ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวานที่มีความผิดปกติในการใช้พลังงานและการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อต่างๆ  การติดเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการไข้เรื้อรัง เช่น โรคมาลาเรีย และวัณโรค โรคหัวใจวายเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังงานเพิ่มในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ ความร้อนในร่างกายจึงสูงขึ้น  ซึ่งต้องกำจัดออกโดยการเพิ่มภาวะเหงื่อออก นอกนี้ยังมีสาเหตุจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด  ยาพาราเซตามอล หรือยาที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน  ยาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน  ยาด้านจิตเวช โรคมะเร็งบางชนิด  เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในโรคมะเร็งอาการเหงื่อออกมากผิดปกติทั่วตัวมักเกิดในช่วงกลางคืน

สำหรับโรคที่เกิดจากเหงื่อที่พบบ่อยจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง ได้แก่ ผด เป็นโรคที่พบบ่อย ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง  เกิดจากการอุดกั้นที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง ทำให้เหงื่อไม่สามารถไหลซึมออกมาได้จะเกิดเป็นตุ่มพองน้ำใสๆ เล็กๆ ตื้น ๆ โดยมากจะเป็นบริเวณที่ถูกแดดหรือถูกความร้อน ซึ่งมักเรียกว่าผดแดด ถ้ามีเหงื่อออกมาก ก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น และจะยุบหายไป เมื่อไม่มีเหงื่อออก รังแค เกิดจากการทำงานที่มากขึ้นของต่อมไขมัน  มีลักษณะเป็นสะเก็ดบางๆ หรือขุยละเอียดอ่อนบนหนังศีรษะ พบมากในวัยหนุ่มสาวและจะน้อยลงในวัยชรา   สิว เกิดจากการขับถ่ายไขมันออกมาผิดปกติ ขึ้นอยู่กับวัยส่วนมากพบในวัยหนุ่มสาว และเกิดจากความเครียดทางจิตใจ สภาวะแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งอากาศร้อน การเสียดสี สารเคมีในเครื่องสำอาง การรับประทานยา และพันธุกรรม ส่วนใหญ่บริเวณใบหน้า แผ่นหลัง หน้าอก และหัวไหล่มากน้อยตามลำดับ ดังนั้น การป้องกันเกิดโรคต่างจากเหงื่อ  คือ การรักษาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วน ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน หวาน และเค็ม เพิ่ม ผัก และผลไม้  ที่สำคัญคือควรรักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค ที่เกิดจากเหงื่อ เพื่อส่งผลดีคุณภาพชีวิต

ขอบคุณที่มาจาก :  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์

อัพเดทล่าสุด