เด็กผู้หญิง ไม่กินข้าวเช้า ระวังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
ก็ไม่รู้ว่าเพราะสาเหตุใด ทำไมเด็กๆถึงไม่ทานข้าวเช้ากัน ทั้งๆที่เป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวันและจำเป็นต่อคนทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งทางกรมอนามัยเองก็ได้ออกมาบอกว่า ในเด็กนักเรียนหญิงในช่วงอายุ 12-14 ปี ไม่ทานข้าวเช้า ถึงร้อยละ 52 ซึ่งถือว่ามันก็สูงอยู่มาก เพราะอาหารเช้าถือเป็นมื้อสำคัญ และถ้าไม่ทานข้าวเช้า มันก็อาจจะส่งผลต่อการเรียนและการเจริญเติบโต
กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข เผยว่าเด็กไทยมักพลาด ไม่ชอบรับประทานอาหารเช้าถึงร้อยละ 52 โดยเฉพาะในเด็กนักเรียนหญิงที่อายุอยู่ในช่วง 12-14 ปี จึงต้องขอเน้นย้ำให้คุณพ่อ คุณแม่หรือผู้ปกครอง พยายามเตรียมอาหารเช้าง่ายๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ขนมปัง 1 คู่ ไข่ดาว 1 ฟอง พร้อมนมหรือน้ำส้มคั้น พร้อมหนุนทุกกลุ่ม ทุกวัยให้หันมาทานอาหารเช้า เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมไม่กินอาหารเช้าของเด็กในแต่ช่วงวัย มีสัดส่วนดังนี้ เด็กวัยเรียน อายุ 6-11 ปี ไม่ทานอาหารเช้า ร้อยละ 30 ส่วนในเด็กนักเรียนหญิง อายุ 12-14 ปี ไม่ทานอาหารเช้า ถึงร้อยละ 52 ซึ่งจะทำให้ขาดสารอาหารในตอนเช้า โดยเด็กที่อดอาหารเช้าเป็นประจำ อาจจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ร่างกายเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ และยังส่งผลต่อสติปัญญา ขาดสมาธิ ส่งผลต่อการเรียน เน้นย้ำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับอาหารเช้าสำหรับเด็กวัยเรียน เนื่องจากมื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยเติมพลังงานให้กลับร่างกายเพื่อให้เริ่มต้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ของในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสมองที่เกี่ยวกับความจำ การเรียนรู้ และความกระตือรือร้น
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ยังกล่าวต่อไปว่า การงดอาหารเช้านั้น อาจทำให้ร่างกายได้พลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนที่ความต้องการพลังงานและสารอาหารต่อหน่วยน้ำหนักมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นวัยที่ยังเจริญเติบโต ดังนั้นเด็กๆ จึงจำเป็นต้องกินอาหารให้ครบ 3 มื้อในทุกๆวัน เพื่อที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารเพียงพอ
“ทั้งนี้ หลักโภชนาการที่ถูกต้องควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะอาหารเช้า ผู้ปกครองต้องสร้างนิสัย การกินอาหารเช้าของเด็ก โดยกินร่วมกับเด็ก และไม่ควรเร่งรีบกดดันลูก เวลากินข้าวเช้า ผู้ปกครองควรหัดบุตรหลานตั้งแต่ แรก ๆ ให้การกินอาหารเช้าเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำทุกเช้า และผู้ปกครองควรทำอาหารเช้าที่ถูกหลักโภชนาการ เช่น ข้าวต้ม โจ๊กขนมปัง 1 คู่ ไข่ดาว 1 ฟอง พร้อมนมหรือน้ำส้ม แซนวิชชนิดต่าง ๆ ข้าวไข่เจียว และซีเรียลใส่นมเติมจมูกข้าวกับกล้วยน้ำว้า 1 ผล” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย ยังเผยต่อว่าสำหรับวัยอื่นๆ การทานอาหารเช้าจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ *เพราะหลังจากกินมื้อเย็นจนถึงเช้าวันใหม่ ร่างกายอดอาหารมานานเกือบ 12 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่กินอาหารเช้าจะทำให้ระบบ เผาผลาญเริ่มต้นช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง จะรู้สึกหิวตลอดเวลา ทำให้อยากทานมื้อถัดไปมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เป็นโรคอ้วน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจ เพราะในช่วงเช้าเลือดมีความเข้มข้นส฿ง และทำให้เส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจอุดตันได้ แต่ถ้ากินอาหารเช้าเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้ระดับความเข้มข้นในเลือด เจือจางลง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โดยคนที่รับประทานอาหารเช้าจะมีภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินหรือที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานลดลงถึงร้อยละ 35-50 นอกจากนี้ยังลดโอกาสเกิดโรคนิ่ว การไม่กินอาหารนานกว่า 14 ชั่วโมง จะทำให้คอเรสเตอรอลในถุงน้ำดีจับตัวกันนาน หากนาน ๆ ไปสิ่งที่จับตัวกันนั้นกลายเป็นก้อนนิ่ว แต่หากเรากินอาหารเช้าเข้าไปมันจะกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำดีออกมาละลายคอเลสเตอรอลที่จับตัวกันด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย