ตากุ้งยิง
บริเวณขอบเปลือกตาของคนเราจะมีต่อมขนาดเล็กๆเป็นจำนวนมาก ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้อักเสบเป็นฝีที่เปลือกตาเรียกว่า ตากุ้งยิง (Hordeolum, Sty) ทำให้มีก้อนที่เปลือกตามีอาการบวมแดงและเจ็บบริเวณเปลือกตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ต่อไปก้อนนี้จะเป็นหนองและอาจแตกเองได้
สาเหตุที่ทำให้เกิด ตากุ้งยิง
กุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บางรายเกิดเนื่องจากมีการอุดตันของต่อมเปลือกตานำมาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อซึ่งมีอยู่เป็นปกติในบริเวณนั้นตามมา เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกุ้งยิงส่วนใหญ่ได้แก่เชื้อสแตพไฟโลคอคคัส
ต้นเหตุที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายได้แก่
- เปลือกตาไม่สะอาด มักเกิดจากการขยี้ตาบ่อยๆ
- ใช้เครื่องสำอาง แล้วล้างออกไม่หมดหรือล้างไม่สะอาด
- ใส่ถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด
การรักษา
- กุ้งยิงในระยะแรก ซึ่งมีลักษณะแบบเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง รักษาโดยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที เป็นเวลา 3-4 วัน เพื่อช่วยลดอาการบวมเจ็บ และเป็นการทำให้รูเปิดของต่อมเปลือกตาไม่อุดตัน ในขณะทำการประคบให้หลับตาไว้
- การใช้ยา ควรได้รับการตรวจตาและสั่งยาโดยแพทย์ ยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะหยอดตา ป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วย
- กุ้งยิงที่เป็นประมาณ 2-3 วันขึ้นไป ถ้ายังไม่ดีขึ้นมักจะมีหนองอยู่ภายในก้อน จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อเจาะและขูดเอาหนองออก และใช้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 3-5 วัน หรือจนกว่าจะหายอักเสบ ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าหนองยังออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี
- หลังการเจาะกุ้งยิงแพทย์มักปิดตาข้างนั้นไว้เพื่อไม่ให้เลือดออก และช่วยลดอาการบวมประมาณ 4-6 ชั่วโมง ยังไม่ควรขับรถในช่วงนั้นเพราะอาจเกิดอุบัติได้
- ถ้ามีอาการปวดเจ็บบริเวณที่เป็น ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
- ไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากขึ้นได้
การป้องกัน
- ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตาหรือขยี้ตาบ่อยๆ
- ทำการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้การอักเสบเป็นมากขึ้น
สรุป
กุ้งยิงเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ถ้าระมัดระวังในเรื่องของสุขอนามัย กุ้งยิงไม่ใช่โรคร้ายแรง โดยทั่วไปมักรักษาให้หายได้ภายใน 1 สัปดาห์ ในกรณีที่กุ้งยิงเป็นนานผิดปกติหรือเป็นซ้ำบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ขอบคุณที่มาจาก : ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย