10 โรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์


2,233 ผู้ชม

โรคประจำตัวบางโรคของแม่มีผลต่อทารกในครรภ์มาก บางโรคอาจเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์เลยก็ได้ แต่คุณแม่อย่าเพิ่งวิตกไปก่อนว่าจะมีลูกไม่ได้


โรคประจำตัวบางโรคของแม่มีผลต่อทารกในครรภ์มาก บางโรคอาจเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์เลยก็ได้ แต่คุณแม่อย่าเพิ่งวิตกไปก่อนว่าจะมีลูกไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือ ให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ รับการรักษา และการดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงการดูแลรักษาโรคที่อาจจะเกิดในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และทารก และ10โรคเหล่านี้ที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ 

  • โรคหัวใจ
  • โรคลมบ้าหมูหรือลมชัก
  • โรคไต
  • เบาหวาน
  • โรคหัดเยอรมัน
  • โรคซิฟิลิส
  • โรคเอดส์
  • ภูมิแพ้ หอบหืด
  • โรคทาลัสซีเมีย
  • ไวรัสตับอักเสบบี

โรคหัวใจ
คุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจพบบ่อยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจรั่วจากการติดเชื้อบางชนิด หรือมีปัญหาผนังกั้นห้องหัวใจมีรูโหว่ เมื่อคุณแม่ต้องการตั้งครรภ์ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าอาการของโรคมีระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่


โดยปกติหัวใจจะทำงานค่อนข้างหนัก เพื่อสูบฉีดเลือดผ่านเข้าออกให้สมดุล และเมื่อตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครึ่งหลังของอายุครรภ์ ปริมาณเลือดจะเพิ่มขึ้นถึง 40% หัวใจจึงยิ่งทำงานหนักมากขึ้น คุณแม่ที่มีโรคหัวใจบางคนอาจเกิดอาการหัวใจวายขณะตั้งครรภ์ได้

โรคลมบ้าหมูหรือลมชัก
โรคลมบ้าหมูหรือลมชักเกิดจากการมีแผลในสมอง จึงมีการส่งคลื่นสมองออกมาผิดปกติ ซึ่งจะทำให้คุณแม่เกิดอาการชักและหมดสติไปชั่วครู่หลังการชัก เป็นผลให้คุณแม่จะขาดออกซิเจนชั่วคราว มีผลต่อการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ คุณแม่ที่เป็นโรคนี้ร้อยละ 50 จะไม่มีอาการเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ร้อย 40 บอกว่ามีอาการดีขึ้น และร้อยละ 10 แพทย์ผู้ดูแลครรภ์ต้องเพิ่มขนาดยาควบคุมการชัก


โรคไต
ปกติไตจะทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดและขับของเสียจากการเผาผลาญพลังงานในร่างกายออกทางปัสสาวะ ขณะคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีของเสียจากทารกที่ฝากออกมาทางสายสะดือเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ด้วย เพราะฉะนั้นไตของคุณแม่จะต้องทำหน้าที่หนักขึ้น
คุณแม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์

เบาหวาน
คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานหรืออาจเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากเมื่อตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนหลายตัวที่ผลิตจากรก ฮอร์โมนเหล่าจะมีฤทธิ์ต่อต้านอินซูลิน ทำให้อินซูลินของคุณแม่ลดต่ำลงจนไม่พอที่จะดึงน้ำตาลในเลือดมาเก็บไว้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคุณแม่สูงตลอดเวลา ลูกจะได้รับเลือดที่มีน้ำตาลในเลือดสูงจากคุณแม่ด้วย
ผลจากการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์คือ ลูกกลายเป็น Sugar Baby คือ ตัวใหญ่มากกว่าเด็กทารกแรกคลอดปกติทั่วไป หน้าอ้วนเหมือนอมลูกกวาด ทำให้คลอดทางช่องคลอดไม่ได้ หรือคลอดแล้วติดไหล่ ถ้าติดอยู่นานทารกอาจเสียชีวิตได้ และถ้าหมอดึงทารกออกมาแรงๆ จะมีผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับแขนเคลื่อนไหวผิดปกติหรืออาจพิการได้ เมื่อคุณแม่เป็นโรคเบาหวานต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติตลอดการตั้งครรภ์ และต้องป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากเบาหวานได้

10 โรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์

โรคหัดเยอรมัน
โรคหัดเยอรมันที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์สามารถทำให้ทารกพิการหรือกลายเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกอาจกลายเป็นเด็กพิการลิ้นหัวใจรั่ว ตาบอดจากต้อกระจก สมองเล็กลีบ ทำให้เกิดโรคปัญญาอ่อน เป็นต้น ทำให้คุณแม่หวาดกลัวโรคนี้มาก แต่ทั้งนี้ถ้าได้รับวัคซีนป้องกันก็จะช่วยไม่ให้เกิดเรื่องที่น่าเสียใจขึ้นได้


คุณแม่สามารถทำให้ตัวเองปลอดจากโรคหัดเยอรมันได้ด้วยการเจาะเลือดตรวจภูมิต้านทานเสียก่อน สำหรับคุณแม่ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต แต่ถ้าตรวจไม่พบภูมิต้านทาน คุณแม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันก่อนจะตั้งครรภ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน


กรณีที่ตั้งครรภ์แล้วยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ ควรเจาะเลือดดูระดับความต้านทาน ถ้ายังมีภูมิต้านทาน คุณแม่สบายใจได้ แต่ถ้าไม่มีภูมิเลยหรืออยู่ในระดับต่ำ คุณแม่ห้ามฉีดวัคซีนตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ เพราะวัคซีนหัดเยอรมันเป็นวัคซีนไวรัสที่มีชีวิต


สิ่งที่จะช่วยป้องกันคุณแม่จากหัดเยอรมันได้ดีที่สุดคือ ต้องคอยหลบคนเป็นหวัด ผู้ที่สงสัยว่าเป็นหัดเยอรมัน หรือในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านหนาแน่น ถ้าไม่สามารถหลบหลีกหรือเลี่ยงไต้ต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน แพทย์จะเจาะดูระดับภูมิต้านทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ และตรวจหาภูมิชนิดพิเศษที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งช่วยทำให้รู้ได้ว่าคุณแม่ได้รับเชื้อหัดเยอรมันหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่จะได้ร่วมกันตัดสินใจแก้ไขปัญหากับแพทย์ต่อไป


โรคซิฟิลิส
ถ้าตรวจพบในขณะตั้งครรภ์ไม่เกิน 5 เดือน จะสามารถรักษาให้หายขาด โดยที่เชื้อซิฟิลิสยังไม่เข้าไปทำอันตรายหรือสร้างความพิการให้ทารกในครรภ์ แต่ถ้าหลังจากอายุครรภ์ 5 เดือนแล้ว เชื้อซิฟิลิสจะสามารถผ่านรกไปถึงทารกได้ ทำให้เกิดความพิการต่างๆ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว แท้งลูก คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย หรือรุนแรงถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์


โรคเอดส์
โรคเอดส์ถือเป็นโรคอันตรายที่ทุกคนหวาดกลัว เพราะเกี่ยวกับชีวิตและยังไม่มียารักษา กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี (HIV) ในระยะตั้งครรภ์อ่อนๆ สามารถปรึกษากับแพทย์ถึงการทำแท้งหรือยังคงรักษาการตั้งครรภ์ต่อไป
ถ้าคุณแม่มีความประสงค์ที่จะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสแก่คุณแม่ในเดือนสุดท้ายก่อนคลอด ซึ่งโอกาสที่เจ้าตัวเล็กติดเชื้อไวรัสจากแม่ขณะคลอดจะลดลงจากประมาณ 30% เหลือไม่เกิน 8%


ภูมิแพ้ หอบหืด
คุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการแพ้กำเริบ ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ยังสามารถใช้ยาพ่นจมูกขยายหลอดลม และสารสเตียรอยด์ที่นิยมใช้กันได้อยู่ เนื่องจากค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตามเมื่อตั้งครรภ์ ต้องแจ้งแพทย์ที่ดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ว่าสงสัยจะตั้งครรภ์และควรแจ้งสูตินรีแพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์ด้วยว่ารักษาโรคภูมิแพ้อยู่ เพื่อให้การดูแลและการให้ยาต่างๆ เป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด นอกจากนั้นคุณแม่ควรให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ควรซื้อยามาใช้เองเด็ดขาด

10 โรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์


โรคทาลัสซีเมีย
ยีนที่ผิดปกติจะทำให้เกิดการสร้างสารโพลีเปปไตด์โกลบิน (Polypeptideglobin) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลงหรือไม่สร้างเลย ทำให้มีอาการซีดเล็กน้อยหรือถึงขั้นต้องให้เลือดทดแทน


โรคทาลัสซีเมียนี้เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดด้อย คุณพ่อคุณแม่มักไม่มีอาการปรากฏ แต่จะมียีนแฝงอยู่ในตัว เมื่อต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดยีนด้อยจึงทำให้ลูกได้รับยีนที่ผิดปกติเต็มที่ แสดงอาการของโรคทาลัสซีเมียชัดเจน

        • คนที่เป็นโรคทาลัสซีเมียในประเทศไทยพบว่า มีอุบัติการณ์ของโรคนี้ร้อยละ 1 แต่ผู้ที่เป็นพาหนะของโรคหรือโรคทาลัสซีเมียแฝงอยู่ร้อยละ 30
        • โรคทาลัสซีเมียมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยคือ ทาลัสซีเมียชนิดแอลฟา (Alpha Thalassemia) และเบต้า (Beta Thalassemia)
        • ทารกที่เป็นโรคทาลัสซีเมียอาจมีความรุนแรงมากจนทำให้เสียตั้งแต่ในครรภ์ คลอดแล้วเสียชีวิต หรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อยๆ บางรายอาจรอดชีวิตแล้วเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ความผิดปกติจะไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ เพราะสามารถถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานได้
        • โรคเบต้าทาลัสซีเมีย ทารกที่คลอดออกมาแล้วมีชีวิตรอด อาจมีอาการซีดมาก เจริญเติบโตช้า ตับม้ามโต จำเป็นจะต้องเติมเลือดบ่อยๆ เพื่อยืดการมีชีวิตต่อได้ประมาณ 10–30 ปี


ไวรัสตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่พบกันบ่อยในเมืองไทย มีคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นพาหะของโรคนี้กันมาก ผู้ที่เป็นพาหะของโรคมีโอกาสเกิดโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไป 200 เท่า และสามารถติดต่อกันง่ายที่สุดโดยผ่านทางเลือด ดังนั้นโอกาสที่ทารกจะติดโรคนี้จากแม่ก็โดยการสัมผัสกับเลือดที่เป็นพาหะในขณะคลอดนั่นเอง


วิธีป้องกันคือการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ทารกภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด และฉีดกระตุ้นภูมิต้านทานอีก 3 เข็ม คือ ตั้งแต่หลังคลอด เมื่ออายุได้ 1 เดือน และ 6 เดือน

อัพเดทล่าสุด