อาหารแช่แข็ง, เก็บรักษาอาหาร, แช่ตู้เย็น, แช่แข็งอาหาร


987 ผู้ชม


แช่แข็งอาหาร อย่างฉลาดและปลอดโรค

ทราบหรือไม่ว่า การเก็บรักษาอาหาร หรือ แช่แข็งอาหาร ไม่ถูกวิธีจะทำให้แบคทีเรียเพียงตัวเดียวขยายจำนวนได้ถึง 2,097,152 ตัวภายใน 7 ชั่วโมง เป็นสาเหตุของโรคภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากการเลือกซื้อและกินอาหารให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว การเก็บรักษาคุณภาพของอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยลดการเจ็บป่วย เช่น ท้องเสีย ไวรัสลงกระเพาะ อาหารเป็นพิษ

อาหารแช่แข็ง, เก็บรักษาอาหาร, แช่ตู้เย็น, แช่แข็งอาหาร

ตู้เย็นผู้ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร

ความเย็นของตู้เย็นจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ต้องรู้จักใช้อย่างถูกวิธี

  • ตั้งอุณหภูมิตู้เย็นต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส (40 องศาฟาเรนไฮต์) และช่องแข็งต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส (0 องศาฟาเรนไฮต์) ควรมีเทอร์โมมิเตอร์ไว้ในตู้เย็นด้วยเพื่อตรวจอุณหภูมิ
  • ตรวจดูวันที่บนห่ออาหารที่ซื้อมา เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทะเล ถ้าแช่แข็งจะเก็บได้นานกว่าวันหมดอายุที่ระบุไว้ แต่ถ้าเปิดห่อเมื่อไรควรใช้ให้หมดคราวเดียวหรือเก็บแช่แข็งส่วนที่เหลือทันที กรณีเนื้อสดที่ซื้อไม่ได้บรรจุห่อและระบุวันที่ ควรแบ่งเป็นห่อเล็กตามปริมาณที่จะใช้แต่ละครั้งและเขียนวันที่ๆ ซื้อก่อนเก็บเข้าตู้เย็น
  • อย่าอัดอาหารไว้ในตู้เย็นจนแน่นเกินไป ควรมีพื้นที่ว่างเพื่อให้ความเย็นได้หมุนเวียน
  • อาหารที่เสียง่าย อาหารปรุงแล้ว หรืออาหารเหลือ ควรเก็บในตู้เย็นทันทีก่อนที่อุณหภูมิอาหารจะลดลงเท่ากับอุณหภูมิห้อง เพื่อป้องกันแบคทีเรียแบ่งตัว อาหารที่เหลือมากควรแบ่งใส่ภาชนะก้นตื้นๆ ก่อนเก็บเข้าตู้เย็นจะช่วยให้อาหารเย็นเร็วขึ้น และหากเก็บไว้นานเกิน 3-4 วันไม่ควรบริโภค
  • เก็บอาหารดิบและสุกแยกกัน ไม่เก็บเนื้อสุกร่วมกับผักสลัดเพราะแบคทีเรียในผักอาจปนเปื้อนเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ที่หั่นแล้วควรเก็บเข้าตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมง มิฉะนั้นเชื้อโรคจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

อาหารแช่แข็ง, เก็บรักษาอาหาร, แช่ตู้เย็น, แช่แข็งอาหาร

4 ข้อควรรู้เมื่อต้องละลายอาหารแช่แข็ง

  1. ให้นำอาหารแช่แข็งพักไว้ที่ช่องธรรมดาล่วงหน้า ซึ่งถ้าเป็นเนื้อสัตว์น้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม จะใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หลังจากละลายแล้ว เก็บเนื้อสัตว์บดหรือสัตว์ปีกไว้ในช่องธรรมดาต่อได้อีก 1-2 วัน เนื้อแดง 3-5 วัน อาหารที่ละลายในตู้เย็นหากยังไม่ได้นำออกจากตู้เย็นจะเก็บเข้าช่องแข็งได้ต่อ แต่จะเสียคุณค่าทางอาหาร
  2. แช่ในน้ำเย็นโดยบรรจุอาหารในถุงพลาสติกที่ปิดสนิทไม่มีรอยรั่ว มิฉะนั้นแบคทีเรียใน อากาศหรือภายนอกถุงจะปนเปื้อนอาหาร และน้ำภายนอกถุงจะซึมเข้าไปในเนื้อสัตว์ทำให้เสียรส หากต้องการละลายเร็วขึ้นให้เปลี่ยนน้ำทุก 30 นาที เนื้อสัตว์ไม่เกินครึ่งกิโลกรัมใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง 1-2 กิโลกรัม ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง
  3. ละลายในไมโครเวฟ เมื่อละลายแล้วควรใช้ทันทีเพราะบางส่วนของอาหารจะเริ่มสุก แบคทีเรียจะเริ่มแบ่งตัว แต่ถ้าต้องการเก็บควรทำให้สุกก่อนที่จะเก็บแช่แข็งอีกครั้ง
  4. การละลายอาหารโดยทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง หรือละลายโดยใช้น้ำร้อนควรใช้ให้หมดในครั้ง เดียว เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตเร็ว ถึงแม้มีเทคนิคยืดอายุวัสถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้ แต่การกินอาหารที่สดใหม่ย่อมได้รับสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์กว่า

ขอบคุณที่มาจาก : นิตยสาร Health&Cuisine กุมภาพันธ์, Issue 85

อัพเดทล่าสุด