ถั่วน้อยหรือถั่วลันเตา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pisum sativum L. ลักษณะเป็นไม้เถา มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศเอธิโอเปีย เดิมขยายพันธุ์เฉพาะในประเทศแถบยุโรปกระทั่งชาวฮอลแลนด์นำไปปลูกในประเทศจีน
ถั่วน้อยหรือถั่วลันเตา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pisum sativum L. ลักษณะเป็นไม้เถา มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศเอธิโอเปีย เดิมขยายพันธุ์เฉพาะในประเทศแถบยุโรปกระทั่งชาวฮอลแลนด์นำไปปลูกในประเทศจีน คนจีนจึงตั้งชื่อให้ว่าห่อหลั่นเตา แปลว่า ถั่วฮอลแลนด์ (เตา แปลว่า ถั่ว และห่อหลั่น คือคำที่คนจีนใช้เรียกคฮอลแลนด์)
เมื่อคนไทยนำมาปลูกจึงเรียกชื่อถั่วตามคนจีน แต่ปรากฏว่าการออกเสียงนั้นเพี้ยนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นถั่วลันเตา ในอดีตคนโบราณใช้เถาถั่วลันเตาเข้าสำรับยาสมุนไพรวิธีการคือ ต้มเถาถั่วลันเตา กรองแต่น้ำมาใช้ดื่ม ช่วยรักษาอาการตับทรุดหรือตับพิการที่ไม่รุนแรงมาก
ปัจจุบันนี้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของถั่วลันเตาว่าช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้ ถั่วลันเตานั้นอุดมด้วยโปรตีนโฟเลต วิตามินซี เบต้าแคโรทีน โพแทสเซียม แมงกานีส และใยอาหาร ซึ่งสามารถดูดซับสารพิษและไขมันในร่างกายได้ โดยจะกำจัดของเสียเหล่านั้นออกมาพร้อมกับอุจจาระ
วิตามินซี โฟเลต และเบต้าแคโรทีนในถั่วลันเตานี้เองที่เป็นตัวช่วยต่อต้านฟรีแรดิคัลและป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น มะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งวิตามินซีจะช่วยบำรุงเซลล์และทำหน้าที่คล้ายเกราะป้องกัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงที่เชื้อนั้นๆ จะเข้าไปฝังตัวในร่างกายหรือพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วยค่ะ
ถั่วลันเตา 200 กรัม ให้โปรตีน 8–9 กรัม ใยอาหาร 7.6-8.2 กรัม พลังงาน 90-100 แคลอรี และมีวิตามินซีร้อยละ 28 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
หากผู้อ่านอยากลองปลูกถั่วลันเตา ควรระวังสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
- อย่าให้ต้นอ่อนขึ้นติดๆ กันจนเกิดการแย่งอาหารในดิน ถ้าไม่ค่อยมีพื้นที่ในการปลูกให้แยกต้นกล้าใส่ลงกระถางก้นลึกและปักไม้หรือทำค้างสูงประมาณ 1–2 เมตรเตรียมไว้ให้เถาถั่วเลื้อยเกาะ
- ควรรดน้ำสม่ำเสมอ ยิ่งช่วงที่กำลังจะออกฝัก เพราะหากขาดน้ำ ถั่วจะไม่ติดฝัก
ปลูกผักไว้กินเอง อิ่มท้อง…อิ่มใจ ได้ผักที่ปลอดภัย…ไร้สารพิษแน่นอนค่ะ”
มือใหม่หัดปลูก
- เตรียมกระถางหรือกระบะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 – 45 เซนติเมตรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองพื้น 1 ใน 3 ของกระถาง และใส่ดินร่วนที่หมักกับเศษใบไม้และปุ๋ยจากมูลสัตว์จนเต็ม
- แช่เมล็ดถั่วลันเตาในน้ำสะอาด ทิ้งไว้ 1 คืน
- ขุดหลุมเล็กๆ ลึกประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร หยอดเมล็ดถั่วลันเตาลงหลุม 4 – 5 เมล็ด โรยดินกลบบางๆ รดน้ำทันที
- คลุมทับด้วยหญ้าแห้งหรือกาบมะพร้าวฉีกฝอย
- แยกต้นกล้าออกจากกัน นำไปปลูกในกระถางใบอื่นๆ หลังปลูกได้ 12 – 15 วัน หรือเมื่อต้นกล้าสูง 10 – 15 เซนติเมตร
- ทำค้างหรือปักไม้สูงประมาณ 1 – 2 เมตรไว้ในกระถางให้ต้นถั่วลันเตาเกาะ