ติดเชื้อ, พยาธิ, ฤดูฝน, หน้าฝน, เชื้อโรค, เท้า, แบคทีเรีย, ไวรัส


1,109 ผู้ชม


ดูแลสุขภาพเท้าจาก เชื้อโรค ในหน้าฝน

ในช่วงหน้าฝนมักทำให้พื้นดินเปียกและชื้นแฉะ บางครั้งอาจเกิดน้ำท่วมขัง โอกาสที่เท้าและขาจะติด เชื้อโรค หรือได้รับปรสิตบางชนิดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย เรามาดูกันค่ะว่าในพื้นดินและแหล่งน้ำที่เหมือนว่าจะไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ที่จริงแล้วมีวายร้ายตัวจิ๋วปะปนอยู่ไปทั่ว แต่จะเป็นอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ

ติดเชื้อ, พยาธิ, ฤดูฝน, หน้าฝน, เชื้อโรค, เท้า, แบคทีเรีย, ไวรัส

“ปรสิต” ไม่พึงประสงค์

  • พยาธิปากขอ (Hookworm) มักจะพบในดินที่ชื้นแฉะ ระยะตัวอ่อนที่ไชเข้าผิวหนังจะเข้ากระแสเลือดสู่หัวใจ ปอด ผ่านหลอดลมมายังหลอดอาหาร แล้วไปเจริญเติบโตเป็นระยะตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก ผิวหนังบริเวณที่พยาธิตัวอ่อนไชเข้าไปจะเกิดเป็นตุ่มแดงและคัน ระยะตัวเต็มวัยจะใช้ส่วนปากเกาะผนังลำไส้และดูดเลือดเป็นอาหาร ทำให้เกิดโลหิตจาง ผู้ที่มีภาวะซีดเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ในกรณีที่ระยะตัวอ่อนของพยาธิปากขอของ “สุนัข” หรือ “แมว” ไชเข้าผิวหนังของคน พยาธิจะเคลื่อนที่ในผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ทำให้เกิดรอยโรคนูนแดงเป็นทางคดเคี้ยว
  • พยาธิสตรองจีลอยด์ (Strongyloides stercoralis) มักพบในดินที่ชื้นแฉะ พยาธิระยะตัวอ่อนที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง จะเคลื่อนที่ไปในร่างกายทำนองเดียวกับระยะตัวอ่อนพยาธิปากขอ ผิวหนังบริเวณที่พยาธิตัวอ่อนไชเข้าไป จะเกิดเป็นตุ่มแดงคัน และเกิดรอยโรคนูนแดงเป็นทางคดเคี้ยว พยาธิระยะตัวเต็มวัยที่ลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะเกิดโรคอุจจาระร่วงเรื้อรังและเกิดภาวะขาดสารอาหาร และซ้ำร้ายหากพยาธิชนิดนี้เดินทางไปอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
  • พยาธิใบไม้เลือด (Schistosoma) พบในแหล่งน้ำที่มีหอยน้ำจืด เมื่อคนเดินหรือแช่ขาในแหล่งน้ำ พยาธิระยะเซอร์คาเรียจากหอยจะไชเข้าผิวหนัง ทำให้เกิดตุ่มแดงและคันที่ผิวหนัง พยาธิระยะตัวเต็มวัยจะอาศัยในเส้นเลือดดำที่ช่องท้อง ทำให้มีไข้ ปวดท้อง อุจจาระเป็นมูกเลือด ตับม้ามโต ตับแข็ง ท้องมาน และเสียชีวิตได้ พยาธิใบไม้เลือดบางชนิดทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
  • พยาธิหอยคัน (Schistosoma spindale) เป็นพยาธิใบไม้เลือดของสัตว์จำพวกโค กระบือ เมื่อคนเดินในแหล่งน้ำที่มีหอยคัน พยาธิระยะเซอร์คาเรียจากหอยจะไชเข้าผิวหนังที่ชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดตุ่มแดงและคันที่ผิวหนัง แต่ไม่เข้าสู่กระแสเลือด เนื่องจากคนไม่ใช่โฮสต์ปกติของพยาธิชนิดนี้
  • Acanthamoeba เป็นโปรโตซัวจำพวกอะมีบาที่อาศัยเป็นอิสระตามดิน โคลน เลน และแหล่งน้ำต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายทางแผลที่ผิวหนัง ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง ลักษณะแผลนูนขอบแผลไม่เรียบ โรคผิวหนังจาก Acanthamoeba มักจะพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การเดินด้วยเท้าเปล่าในดินที่ชื้นแฉะ การเดินหรือแช่เท้าในแหล่งน้ำโดยเฉพาะแหล่งน้ำขังหรือแหล่งที่มีหอยที่เป็นโฮสต์กลางของพยาธิ อาจเกิดโรคหรืออันตรายที่เราคาดไม่ถึง การใส่รองเท้าที่ปกปิดเท้าหรือรองเท้าบู๊ตจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคหรือพยาธิได้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำได้ ควรใช้สบู่ทำความสะอาดผิวหนังแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด

“เชื้อโรคร้าย” ในน้ำขัง

ในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา เชื้อโรคที่ก่อโรคมักแฝงตัวอยู่ในน้ำท่วมขัง มีอยู่มากมาย ที่พบมาก 2 อันดับแรก คือ

โรคฉี่หนู เรียกในทางการแพทย์ว่า “โรคเลปโตสไปโรซิส(Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเส้นเกลียว ที่มีชื่อว่า”เลปโตสไปรา”(Leptospira)ที่เรียกว่าโรคฉี่หนูนั้นเป็นเพราะมีหนูเป็นพาหะนำโรค แต่ยังมีสัตว์อื่นอีกหลายชนิดที่สามารถเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โค กระบือ สุกร และสุนัข

สัตว์ที่เป็นพาหะของแบคทีเรียชนิดนี้อาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วย แต่เชื้อมักรวมกลุ่มในบริเวณท่อไต และถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ดังนั้นในบริเวณที่มีน้ำขัง ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ เช่น ไร่นา แอ่งดินโคลน บ่อน้ำ แม่น้ำ น้ำตก และท่อระบายน้ำ รวมถึงแอ่งน้ำตามท้องถนนที่เอ่อล้นขึ้นมาจากท่อน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม ระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์จนถึง 4 สัปดาห์
ผู้ติดเชื้อบางส่วน อาจไม่แสดงอาการ แต่บางรายจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามตัว และคลื่นไส้อาเจียน รายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ร่วมกับมีความผิดปกติของตับและไต จนถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแหล่งน้ำขัง หากจำเป็นควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ท แต่หากมีประวัติสัมผัสน้ำท่วมขัง และเริ่มมีอาการไข้ขึ้น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน มีรายงานว่ามีการติดเชื้อในหลายจังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศไทย

แบคทีเรีย “วิบริโอ”(Vibrio)และ “แอโรโมแนส”(Aeromonas) ซึ่งโดยปกติพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป แต่ในฤดูฝน น้ำตามแหล่งน้ำอาจไหลเข้าท่วมพื้นที่ในชุมชน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคดังกล่าวมากขึ้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางรอยแผลที่ผิวหนัง ก่อให้เกิดการติดเชื้อมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ รายที่เป็นรุนแรง อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ผิวหนังบวมแดงอักเสบเป็นบริเวณกว้าง ตุ่มน้ำปนเลือดขนาดใหญ่ ปวดกล้ามเนื้อขามาจนเดินไม่ไหว และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากเริ่มมีอาการผิดปกติหลังจากสัมผัสแหล่งน้ำ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

จะเห็นได้ว่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำท่วมขังนั้น สามารถก่อโรคที่อันตรายได้ถึงชีวิต มีเชื้อโรคมากมายปนเปื้อนและอาศัยอยู่ในน้ำ รวมถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆ ทั้งแม่น้ำลำคลอง และแหล่งทำเกษตรกรรม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแหล่งน้ำโดยตรง โดยเฉพาะหากมีแผลถลอกที่ผิวหนัง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน และรีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ

ขอบคุณที่มาจาก : รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา
รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อัพเดทล่าสุด