จิตเภท, รถชน, ลมชัก, ลมบ้าหมู, อัลไซเมอร์, อุบัติเหตุ, ใบขับขี่, ใบอนุญาตขับขี่


842 ผู้ชม


สธ.เสนอพิจารณา ใบขับขี่ ของผู้ป่วย 3 โรค ป้องกันอุบัติเหตุ

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอที่ประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ให้พิจารณาการออกใบอนุญาตขับขี่รถให้กับผู้ป่วย 3 โรคประจำตัวคือโรคลมชัก อัลไซเมอร์ และจิตเภท เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ   เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงหากควบคุมอาการได้ไม่ดีหรืออาจได้รับสิ่งกระตุ้นเฉียบพลัน อาการกำเริบระหว่างขับรถได้  เผยขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคลมชักขึ้นทะเบียนรักษากว่า 6  หมื่นราย เป็นชายมากกว่าหญิง

จิตเภท, รถชน, ลมชัก, ลมบ้าหมู, อัลไซเมอร์, อุบัติเหตุ, ใบขับขี่, ใบอนุญาตขับขี่

จากกรณีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนวังน้ำขาวชินูปถัมภ์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เกิดอาการลมชักขณะขับรถ จนพุ่งชนนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 7 ราย นั้น

ความคืบหน้าวันนี้ (12 มิถุนายน 2557)  นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ทุกฝ่ายต้องหันมาช่วยกันแก้ไข เพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิต ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลผู้เจ็บป่วย เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ และนอกจากโรคลมชักแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่ไม่ควรขับรถเช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อเสนอกรมการขนส่งทางบก ในการพิจารณาเข้มงวดในออกใบอนุญาตขับขี่รถแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว 3 โรค ได้แก่ ลมชัก อัลไซเมอร์ และจิตเภท เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ออาการกำเริบจากการได้รับสิ่งกระตุ้นเฉียบพลันระหว่างขับรถได้ โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งมีหลายหน่วยงานเป็นคณะกรรมการ  โดยมอบหมายให้นายแพทย์นพพร  ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดำเนินการ

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนออกใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวนั้น จะต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์และมีใบรับรองว่าสามารถควบคุมโรคได้ดี โดยได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์และกินยาอย่างสม่ำเสมอจึงจะสามารถออก ใบขับขี่ ให้ได้

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักนั้นพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั่วไป ขณะนี้ทั่วประเทศมีขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 62,934 ราย ในการดูแลควบคุมอาการขอแนะนำให้กินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง อย่าหยุดยาเอง ไปตรวจตามนัดทุกครั้ง อย่าเปลี่ยนแพทย์เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ขอให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการชักได้ ได้แก่ การอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานตรากตรำ  อดอาหาร การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ การเข้าไปในที่มีเสียงอึกทึก มีแสงจ้าหรือแสงไฟกระพริบ วูบวาบ  หากมีไข้สูง ต้องรีบกินยาลดไข้ และเช็ดตัวให้ไข้ลดลง มิเช่นนั้นอาจกระตุ้นให้ชักได้

ประการสำคัญ ขอให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการกระทำหรืออยูในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายเช่นว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ การทำงานกับเครื่องจักร การขับรถ ขับเรือ พายเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น เนื่องจากหากเกิดอาการชักอาจได้รับอันตรายได้ ทั้งนี้ ควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือโรงเรียนได้ทราบถึงโรคที่เป็น รวมทั้งควรพกบัตรประจำตัวและบันทึกข้อความเกี่ยวกับโรคที่เป็นและวิธการปฐมพยาบาลเพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชัก ผู้พบเห็นจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัยได้ โดยทั่วไปโรคนี้จะเกิดอาการชักเพียง 2-3นาทีเท่านั้น จะไม่ชักจนหมดสติเสียชีวิต

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ฝากเตือนญาติผู้ป่วย ที่เป็นโรคที่กล่าวมา ให้ระมัดระวัง ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งไม่ควรให้ผู้ป่วยขับรถ

อัพเดทล่าสุด