มีหลายท่านที่มีปัญหาเรื่องมือชา ระหว่างทำงาน หรือในเวลากลางคืน บางท่านก็มีอาการเช่นนี้บ่อย ๆ บางครั้งก็ดีขึ้นหรือหายไปเองได้
มีหลายท่านที่มีปัญหาเรื่องมือชา ระหว่างทำงาน หรือในเวลากลางคืน บางท่านก็มีอาการเช่นนี้บ่อย ๆ บางครั้งก็ดีขึ้นหรือหายไปเองได้ ถ้ามีอาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ ปลายนิ้วมือมีอาการชามากขึ้นหรือชาตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้กล้ามเนื้อฝ่ามือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือลีบได้
อาการที่พบบ่อยของ นิ้วมือชา
- ชาบริเวณปลายนิ้วอาจจะเป็นนิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง บางนิ้วหรือทั้ง 3 นิ้ว รวมทั้งนิ้วนางครึ่งนิ้ว
- อาการชาบางครั้งหายไปได้เอง หรือมีอาการชามากขึ้นตอนกลางคืน
- ชามากขึ้นเวลาทำงาน หรือชาตลอดเวลา
- มีอาการกดเจ็บบริเวณฝ่ามือ
ถ้าท่านมีอาการเช่นนี้ อาจจะเป็นภาวะที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ
โครงสร้างของมือ ที่ทำให้มีอาการชาลักษณะนี้
เส้นประสาทที่มาเลี้ยงฝ่ามือทางด้านฝ่ามือจะมี 2 เส้น คือ
- เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เลี้ยงฝ่ามือทางด้านนิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว
- เส้นประสาทอัลน่าร์ เลี้ยงฝ่ามือทางด้านนิ้วก้อย และอีกครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง
ความสำคัญ
เส้นประสาทมีเดียน เข้าไปในฝ่ามือโดยผ่านอุโมงค์ (Carpal tunnel) โดยมีเยื่อพังผืด (Deep tranverse carpal ligament) ขึงระหว่างกระดูกข้อมูล ในอุโมงค์นี้ นอกจากจะมีเส้นประสาทมีเดียนแล้วยังมีเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วอีก 9 เส้น อยู่รวมกัน เส้นประสาทมีเดียนเมื่อคลอดอุโมงค์ข้อมือเข้าไปแล้ว จะไปแยกแขนงไปรับความรู้สึกที่นิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง ครึ่งนิ้วของนิ้วนางและอีกแขนงหนึ่งจะเลี้ยงกล้ามเนื้อที่เนินฝ่าข้อมือด้านโคนนิ้วหัวแม่มือ (Thenar eminence)
สาเหตุของ นิ้วมือชา
- การใช้งานของข้อมือที่มีการงอข้อมือ, หรือกระดกข้อมือมาก ๆ จะทำให้เยื่อพังผืดไปกดรัดเส้นประสาทมากขึ้น
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่พบภาวะนี้ได้ เช่น โรคเบาหวาน, โรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคไทรอยด์ และผู้ป่วยสูงอายุ เป็นภาวะที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณส่วนต่าง ๆ ในอุโมงค์นี้น้อยลง เซลล์บางส่วนตาย มีอาการบวมของเอ็นเยื่อหุ้มเอ็นไปกดเส้นประสาทมีเดียนได้มากขึ้น
ข้อแนะนำ
ถ้ามีอาการชาปลายนิ้ว ลองขยับข้อมือ นิ้วมือเบา ๆ ถ้ามีอาการดีขึ้นหายชาได้ หรือมีอาการชาตอนกลางคืนบางครั้ง อาจจะมีสาเหตุจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียนในระยะแรก ๆ ได้
- ท่านควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือที่อยู่ท่าที่ผิดปกติ เช่น ในท่องอข้อมือมาก ๆ การยกของ หรือการกระดกข้อมือมาก ๆ เช่น การยันพื้น, ดันสิ่งของต่าง ๆ
- การที่ใช้ข้อมือมากเกินไป การปวด ขา กลางคืน บางท่านบอกต้องเอาข้อมือวางบนหมอนหรือบางครั้งต้องเอาหนังสือพิมพ์ม้วนผูกติดกับข้อมือให้ข้อมืออยู่ในท่าตรงจะไม่ค่อยชา ก็เป็นวิธีที่ถูกต้อง ข้อมือที่อยู่ในท่าปกติ ไม่หักงอพับไปด้านใดด้านหนึ่ง จะเป็นท่าที่เส้นประสาทถูกกดทับน้อยที่สุด ถ้าท่านลองแก้ไขด้วยตัวเองไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์
การรักษา นิ้วมือชา
รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อมือมากเกินไป รวมทั้งการรับแรงกระแทก, การสั่นสะเทือน บริเวณข้อมือ
- การใส่เครื่องพยุงข้อมือ
- การใช้ยา ส่วนใหญ่เป็นยาพวก NSAIDS (Non-steroidal antinflammatory drug)
- การฉีดสเตียรอยด์ ในกรณีทานยาแล้วไม่ดีขึ้น และเป็นมาน้อยกว่า 1 ปี ได้ผลดีประมาณ 80% แต่มักจะไม่หายขาด
การผ่าตัดรักษา
- ในกรณีที่รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผลหรือมีอาการปวด ชา มากขึ้น
- กรณีที่เป็นนาน หรือไม่ได้รักษา มีกล้ามเนื้อฝ่ามือด้านโคนนิ้วหัวแม่มือลีบ การผ่าตัดช่วยให้อาการชาลดลงแต่กล้ามเนื้อที่ลีบแล้วมักไม่ค่อยดีขึ้น
วิธีผ่าตัด
- วิธีผ่าตัดแบบทั่วไป เปิดแผลบริเวณข้อมือ ตัดเยื่อพังผืด บริเวณที่กดรัดเอ็นเส้นประสาทจะทำให้อุโมงค์ขยายออก โดยเฉลี่ยปริมาตรในอุโมงค์จะขยายเพิ่มขึ้น 24% หลังผ่าตัด ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหาปวด ชา และกลับไปใช้มือได้อย่างเดิมเป็นส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 80-90)
- การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดบางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องเจ็บแผลเป็น บริเวณผ่าตัดทำให้มีการวิวัฒนาการเครื่องมือและเทคนิคการผ่าตัดขึ้นมาเป็นการเปิดแผลเล็ก ๆ บริเวณข้อมือใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในช่องอุโมงค์และตัดเฉพาะเยื่อพังผืดจากด้านในอุโมงค์ขึ้นมา โดยไม่ต้องมีแผลบริเวณผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้ช่องในอุโมงค์ขยายขึ้น ผู้ป่วยมีอาการหายปวดชาและเจ็บแผลผ่าตัดน้อย สามารถกลับมาใช้มือได้เร็วขึ้น วิธีนี้ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง, และความรู้ความชำนาญของแพทย์