บอกให้รู้...กินยาแบบนี้ต้องเลี่ยงขับรถ อาจทำง่วง เสี่ยงอุบัติเหตุ


1,944 ผู้ชม

ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ และยาอีกหลายชนิด ไม่ควรทานก่อนขับรถ เพราะจะทำให้ง่วง หลับใน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้สูง



          ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ และยาอีกหลายชนิด ไม่ควรทานก่อนขับรถ เพราะจะทำให้ง่วง หลับใน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้สูง

          ถึงเทศกาลทีไร คนไทยก็ได้โอกาสเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดยาว แต่การเดินทางพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมากขนาดนี้ ก็มาพร้อมกับข่าวอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากให้เห็นกันทุกปี ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของอุบัติเหตุก็คือ เมาแล้วขับ รวมทั้งความประมาท แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่หลายคนไม่ทันคิดก็คือ ความไม่พร้อมของตัวผู้ขับขี่เองที่มีอาการง่วงนอน หลับใน จากการทานยาบางชนิดก่อนขับรถ


          เรื่องนี้ ภญ.นิภาพร ชาตะวิริยะพันธ์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม จึงได้ออกมาเตือนดัง ๆ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมาถึง ว่า ใครที่ต้องขับรถเดินทางควรระมัดระวังการรับประทานยาแก้ปวด อาทิ ยาแก้ปวดทรามาดอล (Tramadol), ยาแก้ปวดอะมิทริปทัยลีน (Amitriptyline) และยาแก้ปวดกาบ้าเพนติน (Gabapentin) ไว้ด้วย เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพื่อบรรเทาอาการปวด 

บอกให้รู้...กินยาแบบนี้ต้องเลี่ยงขับรถ อาจทำง่วง เสี่ยงอุบัติเหตุ


          นอกจากนี้ คนไหนจะขับรถยังต้องระวังการทานยาคลายกล้ามเนื้อ อย่าง ยาโทลเพอริโซน (Tolperisone) และยาออเฟเนดรีน (Orphenadrine) ด้วยเช่นกัน  เพราะเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการปวดตึงทั้งร่างกาย ซึ่งยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีผลข้างเคียงมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล อาจจะทำให้ลดประสิทธิภาพในการขับขี่ ทำให้ตัดสินใจได้ช้าลง มองเห็นเป็นภาพเบลอ ไม่ชัด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้


          และก็ไม่เพียงแต่จะเป็นยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น เพราะจริง ๆ ยังมียาชนิดอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นยาแก้แพ้ลดน้ำมูก, ยาแก้แพ้ แก้คัน, ยากล่อมประสาท, ยาคลายกังวล, ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้เมารถ ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปต้องหลีกเลี่ยงการขับรถไว้จะดีที่สุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง

บอกให้รู้...กินยาแบบนี้ต้องเลี่ยงขับรถ อาจทำง่วง เสี่ยงอุบัติเหตุ


          ในส่วนของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องทานยาลดน้ำตาลในเลือด และจำเป็นต้องขับรถ อาจไม่สามารถทานอาหารได้ตรงเวลา ภญ.นิภาพร ก็แนะนำให้เตรียมอาหาร ลูกอม น้ำหวานเอาไว้ระหว่างเดินทางด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อออกมาก ใจสั่น และอาจหมดสติได้



          นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยังได้เตือนว่า ไม่ควรทานยาร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ด้วย เพราะจะทำให้อาการหนักขึ้น เช่น หากดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาลดน้ำมูก จะทำให้อาการง่วงของยาเพิ่มขึ้น หรือถ้าดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาบรรเทาปวด ลดไข้ จะทำให้ตับเสียหายได้มากขึ้น เป็นต้น


          ทั้งนี้ หากใครอยากทราบว่า ยาที่ตัวเองต้องทานระหว่างเดินทางจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้างหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการเดินทางและการทานยาให้เหมาะสม ก็สามารถปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือโทรปรึกษาปัญหาการใช้ยาได้ที่ Call Center องค์การเภสัชกรรม 1648 ได้เลย
 

อัพเดทล่าสุด