จากข่าวที่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนประชาชนห้ามให้ กระดาษทิชชู่ ซับน้ำมันจากอาหาร เพราะเสี่ยงรับโซดาไฟและสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้น
จากข่าวที่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนประชาชนห้ามให้ กระดาษทิชชู่ ซับน้ำมันจากอาหาร เพราะเสี่ยงรับโซดาไฟและสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ทำให้มีการแชร์และกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในสังคมออนไลน์ มีความคิดเห็นหลากหลายและแตกต่าง ว่าข่าวนี้เป็นเรื่องจริงหรือ?
โดย ดร.นพ.พรเทพ ได้ออกมากล่าวไว้ว่า สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ เมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน จะมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อรุนแรง ทำให้บริเวณนั้นอ่อนนุ่มกลายเป็นวุ้นหรือเจลาตินและสบู่ เนื้อเยื่อถูกทำลายหรือถูกกัดลึกลงไป ซึ่งการทำลายอาจต่อเนื่องหลายวัน การหายใจเอาไอหรือละอองสารยังส่งผลให้ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้จาม ปวดคอ น้ำมูกไหล ปอดอักเสบรุนแรง หายใจขัด การสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง เป็นแผลไหม้และพุพองได้ การกลืนกินทำให้แสบไหม้บริเวณปาก คอ และกระเพาะอาหาร ส่วนสารไดออกซิน (dioxins) เป็นสารที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่อาการจะค่อยๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้
ข่าวดังกล่าวทำให้ชาวสังคมออนไลน์ตั้งข้อสงสัยกันเป็นอย่างมากว่า การใช้ กระดาษทิชชู่ ซับน้ำมันจากอาหารทำให้เป็นมะเร็งได้จริงๆหรือ? จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์ คือ ดร.ภูวดี ตู้จินดา กลุ่มเยื่อและกระดาษ โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ออกมาบอกถึงขั้นตอนการทำ กระดาษทิชชู่ ผ่านเฟสบุคส่วนตัวของ ดร.ภูวดี ตู้จินดา เอง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
จากที่มีข่าวเตือนเรื่องการใช้ “ทิชชู่” ซับน้ำมันอาหารนั้นเสี่ยงต่อการรับสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ขออนุญาตแจ้งข้อเท็จจริงดังนี้ค่ะ
1. การฟอกเยื่อขาวที่จะทำให้เกิดสารไดออกซินนั้น จะเป็นการฟอกเยื่อด้วยสารคลอรีนหรือ Cl2 เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงฟอกเยื่อที่ใช้วิธีการฟอกแบบนี้เพียง 1 โรงเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศทางทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกาได้มีการห้ามใช้วิธีการฟอกเยื่อแบบนี้มาหลายปีแล้ว
2. การฟอกเยื่อขาวปัจจุบันส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้สารประกอบคลอรีน คือ คลอรีนไดออกไซด์ (ClO2) ซึ่งการฟอกเยื่อด้วยสารประกอบคลอรีนทำให้เกิดสารพิษคือ Organically bound chlorine หรือที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า AOX แต่ **ไม่เกิดไดออกซิน** ในกระบวนการฟอกเยื่อ
3. ปริมาณไดออกซินแปรผันตรงกับปริมาณ AOX ค่ะ ซึ่งดิฉันและ Korpong Hongsri ได้เคยทำโครงการวิจัย และมีข้อมูลสาร AOX ตกค้างในเยื่อและกระดาษ มีตัวเลขจากการวิจัยยืนยันว่า ใน กระดาษทิชชู่ นั้น มีปริมาณ AOX ตกค้างน้อยมาก ซึ่งแน่นอนว่า ปริมาณไดออกซินยิ่งน้อยลงไปอีก
** ไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณไดออกซินในประเทศไทย ใกล้ที่สุดที่จะส่งไปวิเคราะห์หาปริมาณไดออกซินได้คือที่ประเทศสิงคโปร์ค่ะ การใช้ปริมาณ AOX เป็นตัวอ้างอิงถึงปริมาณไดออกซิน ((หากมี)) จึงเป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง
4. สารไดออกซินและ AOX ไม่ได้หลุดออกจาก กระดาษทิชชู่ ได้ง่ายๆ การสกัดเพื่อการวิเคราะห์ยังต้องสกัดที่อุณหภูมิสูง แค่เอา กระดาษทิชชู่ มาซับๆ มัน ไม่หลุดตามออกมาหรอกค่ะ
5. มีการใช้โซเดียมไฮดร็อกไซด์ NaOH ในขั้นตอนการฟอกเยื่อขาว แต่กรรมวิธีการผลิตเยื่อกระดาษนั้นมีหลายขั้นตอน และใช้ “น้ำ” ปริมาณมากในการล้างสารต่างๆ ดังนั้นจึงไม่มีโซเดียมไฮดร็อกไซด์บริสุทธิ์ตกค้างในปริมาณที่จะก่อให้เกิดอันตราย
จากที่มีคำถามมามากมาย ขออนุญาตให้รายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้นหรือถูกใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษค่ะ แต่ถูกใช้ในกระบวนการฟอกเยื่อ
ขออธิบายง่ายๆ ดังนี้ค่ะ เยื่อกระดาษผลิตจากไม้ — ไม้มีสารยึดเกาะเรียกว่า “ลิกนิน (lignin)” ซึ่งเป็นสารสีน้ำตาล — กระบวนการฟอกเยื่อคือการกำจัดสารลิกนินนี้ เพื่อให้เยื่อกระดาษมีความขาว ที่จะนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษอนามัย หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “ทิชชู่”
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทิชชู่เกรดไหน ก็ใช้วัตถุดิบเดียวกันนี้ค่ะ คือ “เยื่อกระดาษ” — สำหรับทิชชู่รีไซเคิล ก็มีวัตถุดิบเป็นกระดาษที่เคยใช้แล้ว เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษพิมพ์เขียน นำมาผ่านกระบวนการต่างๆ เผื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมและนำเยื่อกระดาษเวียนไปใช้ใหม่ — กระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับโรงงานว่า ทำอย่างละเอียดและมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน
กระบวนการฟอกเยื่อมีหลายขั้นตอนค่ะ โรงงานแต่ละแห่งจะใช้ขั้นตอนแตกต่างกัน แต่โดยรวมๆ แล้ว จะมีขั้นตอนการใช้โซเดียมไฮดร็อกไซด์อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งหลังจากเกิดปฏิกิริยาเคมีกับลิกนินจนแปลงร่างแล้ว ยังมีขั้นตอนการ “ล้าง” เยื่ออีกมากมาย ดังนั้นการจะมีโซเดียมไฮดร็อกไซด์บริสุทธิ์ถึงขนาดก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษว่าน้อยแล้ว กว่าจะเป็นกระดาษอนามัย จะยิ่งน้อยขนาดไหน ลองคิดตามดูนะคะ
สารฟอกเยื่อที่ใช้ในการขจัดลิกนินที่เป็นที่นิยมอีกตัวก็คือ คลอรีน และ สารประกอบคลอรีน หรือ คลอรีนไดอ็อกไซด์
การใช้คลอรีนเป็นส่วนหนึงในกระบการฟอกเยื่อนั้น ทำให้เกิดไดออกซินแน่นอนค่ะ แต่ๆๆๆๆ เพราะมีเหตุว่าเกิดไดออกซินนี่แหละ จึงมีการห้ามใช้คลอรีนในการฟอกเยื่อในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย โรงฟอกเยื่อก็ปรับเปลี่ยนกระบวนการนี้ออกจนเกือบหมดแล้ว เหลือเพียง 1 โรงอย่างที่กล่าวไป
สารที่นำมาใช้แทนคลอรีนในการฟอกเยื่อคือ สารประกอบคลอรีน ที่ใช้กันคือ คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สารนี้กันค่ะ — การฟอกเยื่อด้วยสารประกอบคลอรีน ทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ **ไม่เกิดไดออกซิน** ค่ะ
ดังนั้น…อยากให้ทุกท่านพิจารณากันนะคะว่า เมื่อ “เยื่อกระดาษ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบไม่มีโซเดียมไฮดร็อกไซด์ และ((แทบ))ไม่มีไดอ็อกซิน ตัวผลิตภัณฑ์กระดาษนั้นจะมีได้อย่างไร?
สรุปว่า…กระดาษอนามัยหรือทิชชู่นั้น…ควรใช้ให้ถูกตามวัตถุประสงค์ในการผลิตค่ะ คือ “ใช้ภายนอก” — มันไม่ใช่ของกินอะค่ะ ดังนั้นขนมจีนน้ำยาใส่ทิชชู่นี่…ไม่ควรนะคะ
สำหรับการซับน้ำมัน ถ้าถามว่า มันถูกวัตถุประสงค์ของการใช้ผลิตภัณฑ์ทิชชู่มั้ย ก็ตอบว่า…ไม่ใช่นะคะ แต่…ถ้าถามว่า เอาทิชชู่ไปซับน้ำมันแล้วจะมีไดออกซินหลุดออกมาหรือมีโซเดียมไฮดร็อกไซด์มาทำลายเนื้อเยื่อ — มันก็ไม่ใช่อะค่ะ
จากการอธิบายของ ดร.ภูวดี ตู้จินดา สรุปได้ง่ายๆก็คือ การผลิต กระดาษทิชชู่ ที่จะทำให้เกิดสารไดออกซิน ตามที่กรมอนามัยได้ออกมาบอกนั้น มีเหลือแค่โรงงานเดียวเท่านั้น เพราะโรงงานส่วนมากยกเลิกการผลิตแบบนี้ไปแล้ว มีวิธีการผลิตแบบใหม่ที่ทำให้ กระดาษทิชชู่ ไม่มีสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งสะสมอยู่ และสารไดออกซินและ AOX ก็ไม่ได้หลุดออกจากกระดาษทิชชู่ได้ง่ายๆเช่นกัน เพียงแต่นำมาซับน้ำมันก็ไม่ได้ทำให้สารเหล่านี้หลุดออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้
ทั้งนี้ ในการเลือกรับประทานอะไรก็ตาม ผู้บริโภคเองก็ควรใช้วิจารณญาณในการเลือกสิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของตนเอง หากเราไม่ดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองแล้ว ก็คงไม่มีใครที่จะสามารถมาดูแลสุขภาพร่างกายของเราได้เช่นกัน