โดน แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล กัด ควรทำอย่างไร?
จากข่าวที่หนุ่มเมืองแพร่ ถูก แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล กัดจนเป็นแผลเหวอะวะน่ากลัวนั้น ทำให้หลายๆคนตื่นตระหนกและกังวลว่าหากถูกกัดจะต้องทำอย่างไร แล้ว แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล นั้น รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล กันค่ะ ถ้าหากเจอแมงมุมลักษณะนี้ เราจะได้ระวังตัว และหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ
แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล (Brown widow spider) ถิ่นฐานเดิม มีการแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แถบรัฐฟลอริดา เท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และบริเวณเขตเส้นศูนย์สูตร แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย และมีการขยายพันธุ์อย่างชุกชุมที่เขตอำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนกและตื่นกลัว
ลักษณะทั่วไปของ แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล จะมีส่วนของร่างกายหลักๆ 2 ส่วน เหมือนแมงมุมทั่วๆไป คือ ส่วนหัวและท้อง ขนาดตัวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร หรือใหญ่สุดไม่เกิน 1 เซนติเมตร บริเวณหลังจะเป็นรูปนาฬิกาทราย ท้องจะมีลักษณะเป็นริ้วสีน้ำตาลสลับสีขาวอ่อน ๆ ตรงริ้วมีจุดสีดำสลับขาวตรงท้องข้างละ 3 จุดรวมเป็น 6 จุด
ลักษณะนิสัยจะชอบสร้างรังอยู่ในที่ต่ำๆ เช่น ห้องใต้ดิน ใต้โต๊ะ เก้าอี้ ตามพื้นที่ห้องเก็บของ ที่ต่ำกว่า 1 เมตร นอกบริเวณบ้านอาจพบได้ตามกองฟืนเก่าๆ ลังไม้ ซอกหินที่แตก และในรองเท้าเก่าที่ไม่ได้ใส่มานาน แมงมุมชนิดนี้มักชอบหลบตัวในมุมมืด จะกัดคนต่อเมื่อถูกรุกราน
ความรุนแรงของพิษแมงมุมชนิดนี้ เมื่อเปรียบกับพิษงูเห่า รุนแรงมากกว่าถึง 3 เท่า พิษจะมีฤทธิ์ทำลายระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน และร้ายแรงกว่าพิษของแมงมุมแม่หม้ายดำ เมื่อกัดคนจะปล่อยพิษเพียงนิดเดียว ประมาณ 1 ppm (1 ในล้านส่วน) ไม่มีผลให้เสียชีวิตทันทีทันใด ต่างกับแมงมุมแม่หม้ายดำและงูเห่า ซึ่งจะปล่อยพิษออกมาทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากถูกกัดหลายตัวพร้อมกัน ปริมาณพิษก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ขณะนี้ไม่มียาแก้พิษ
ลักษณะแผลที่ถูกแมงมุมกัดเป็นอย่างไร หลายคนเมื่อถูกกัดแล้วจะไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่าโดนกัด ไม่รู้ว่าแผลเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้อย่างแรง แผลจะเหอะหวะ และเป็นผื่นบวมแดง มีอาการเจ็บปวด มีหนอง แผลจะหายช้ามาก เพราะพิษทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ระบบน้ำเหลือง และทำลายเม็ดเลือดขาว
การรักษา ถ้าเป็นพิษจาก แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล จะต้องให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และรอให้พิษหมดไปเอง อาทิ ให้สารที่มีผลทำให้เลือดแข็งตัว หรือหากเลือดออกมาก อาจต้องให้เลือด หรือฟอกไต ซึ่งต้องติดตามดูอาการที่เกิดขึ้น และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือและแพทย์พร้อม
วิธีป้องกัน ทำได้ง่ายๆ โดยการทำความสะอาดและจัดระเบียบบ้านทั้งในซอกมุม หรือบริเวณที่ไม่มีการใช้งาน ถูกทิ้งร้างเอาไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ สิ่งสำคัญ คือ ควรดูแลเอาใจใส่เด็กๆ ไม่ให้เข้าไปอยู่ตามซอกมุมบ้านเพียงลำพังเด็ดขาด เพราะอาจถูกกัดและได้รับอันตรายได้
ขอบคุณที่มาจาก : โรงพยาบาลสินแพทย์