ทำไมเราเป็นคนขี้ลืมจังนะ? หลายๆคนคงเคยถามตัวเองแบบนี้ ชอบหลงๆลืมๆ ทำของหายบ่อยๆ นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก นี่เป็นอาการของโรค อัลไซเมอร์ หรือเปล่า?
ทำไมเราเป็นคนขี้ลืมจังนะ? หลายๆคนคงเคยถามตัวเองแบบนี้ ชอบหลงๆลืมๆ ทำของหายบ่อยๆ นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก นี่เป็นอาการของโรค อัลไซเมอร์ หรือเปล่า? วันนี้เราเลยจะพาไปรู้จักกับโรค อัลไซเมอร์ ค่ะ ว่าจริงๆแล้วที่เราหลงลืมบ่อยๆ เพราะเราแค่ขี้ลืม หรือว่าเราป่วยกันแน่ ไปดูกันเลยค่ะ
สาเหตุของ อัลไซเมอร์
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดโรค อัลไซเมอร์ อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้หลายอย่าง ซึ่งได้แก่
- อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 หรือ 65 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก
- เพศ จากสถิติพบว่าผู้หญิงป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย
- พันธุกรรม สำหรับคนที่มีประวัติคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็น อัลไซเมอร์ จะเป็นคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็น อัลไซเมอร์ มากกว่าคนอื่น
- คนที่ใช้สมองน้อย ๆ หรือไม่ค่อยได้ใช้สมอง พบว่ามีความเสี่ยงต่อโรค อัลไซเมอร์ มากกว่า
- คนที่มีโรคประจำตัวที่จะทำให้เกิดความผิดปรกติของเส้นเลือดสมอง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง
อาการของ อัลไซเมอร์
อาการเด่นของโรค อัลไซเมอร์ เริ่มแรกคือความจำบกพร่อง จำอะไรไม่ค่อยได้ หลง ๆ ลืม ๆ เช่น วางของผิดที่แล้วจำไม่ได้ นึกทั้งวัน เดินหาทั้งวันก็หาไม่เจอ โดยความจำปัจจุบัน (ความจำธรรมดาภายใน 24 ชั่วโมง หรือความจำสำคัญ ๆ ภายใน 2 – 3 เดือน) จะบกพร่องมาก ส่วนความจำเก่า ๆ หรือความจำในอดีตก็จะยังจำได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยจะมีปัญหาในเรื่องของการใช้ภาษา อาจจะนึกคำพูดไม่ออก และในเรื่องของความเข้าใจและการสนทนาก็จะลดลง และจะมีปัญหาในการรับรู้ทิศทาง เวลา โดยผู้ป่วยอาจจะหลงทาง ไม่รู้วัน เวลา สถานที่ และมีความผิดปรกติในความเฉลียวฉลาด การมีเหตุผล การตัดสินใจ การแก้ปัญหาก็จะลดลง รวมทั้งมีความผิดปรกติทางด้านจิตใจ เช่น พฤติกรรม อารมณ์
บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ก้าวร้าว หรือบางคนอาจจะมีอาการถึงขั้นเป็นโรคจิตได้ โดยผู้ป่วยบางรายในระยะหลัง ๆ ของอาการป่วยอาจจะมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนไหว กิจกรรมใด ๆ ที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้
ในผู้ป่วย อัลไซเมอร์ ในช่วงแรกที่เริ่มป่วยอาจจะมีอาการน้อย ๆ แต่หากคนรอบข้างสังเกตเห็น ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากหากถูกวินิจฉัยว่าเป็น อัลไซเมอร์ จริง อาการจะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุดท้ายผู้ป่วยก็อาจจะเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน เนื่องจากในระยะหลัง ๆ ผู้ป่วยจะมีปัญหาทางด้านภาษา ทำให้บอกไม่ได้ว่าเจ็บหรือปวดที่ไหน โดยโรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้ก็คือ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่ยอมรับประทานข้าว กลืนไม่ได้ สำลัก เป็นต้น
การรักษา อัลไซเมอร์
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดโรค อัลไซเมอร์ อย่างแน่ชัด ดังนั้นการรักษาโรค อัลไซเมอร์ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ก็คือการรักษาตามอาการโดยการให้ยา ซึ่งยาส่วนหนึ่งก็คือยาที่จะไปช่วยให้ความจำหรือความบกพร่องทางสติปัญญาในด้านความเฉลียวฉลาดถดถอยช้าลงที่สุด โดยในช่วงแรกที่ให้ยาไป อาการของผู้ป่วยอาจจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามต่อไปอาการของผู้ป่วยก็จะถดถอยลงเรื่อย ๆ แต่ยาก็จะช่วยให้ภาวะการถดถอยช้าลง
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ดูแลก็มีบทบาทมากสำหรับผู้ป่วย อัลไซเมอร์ โดยผู้ดูแลจะต้องดูแลทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ โดยหากได้รับการดูแลที่ดี ผู้ป่วยก็จะอยู่ได้ประมาณ 9 – 10 ปี หลังได้รับการวินิจฉัย
หลงลืมตามอายุขัยกับ อัลไซเมอร์ แตกต่างกันอย่างไร?
การหลงลืมตามอายุขัย ส่วนใหญ่ลืมแล้วจะนึกออก เช่น เห็นคนเดินผ่านซึ่งเคยรู้จักแต่นึกชื่อไม่ได้ สักพักหนึ่งก็จะนึกได้ แต่คนเป็น อัลไซเมอร์ จะนึกไม่ออกเลย และจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อารมณ์ การใช้ภาษา ทิศทาง ก็จะเสียไปด้วย โดยอาการเหล่านั้นจะรุนแรงถึงขั้นไปรบกวนการดำเนินชีวิตตามปรกติ
การป้องกัน อัลไซเมอร์
ในคนที่ยังไม่ป่วยเป็น อัลไซเมอร์ วิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ ได้แก่
- การออกกำลังกาย โดยการออกกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งจะมีส่วนทำให้เซลล์สมองแข็งแรง
- การออกกำลังสมอง ซึ่งจะทำให้เซลล์สมองเติบโตได้และทำงานได้ดี ถึงแม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม
- รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ตามหลักโภชนาการ และรับประทานอาหารจำพวกธัญพืช อาหารที่มีโอเมกา 3 น้ำมันปลา ขมิ้นชัน ใบบัวบก
- ไม่ควรเครียดหรือลดความเครียดลงให้ได้ เพราะความเครียดจะทำให้สารที่ปกป้องเซลล์สมองลดลง ทำให้เซลล์สมองฝ่อเร็ว และมีโอกาสทำให้เกิดโรค อัลไซเมอร์ ได้ง่าย
- หมั่นร่วมกิจกรรมทางสังคม เนื่องจากเวลาที่ได้พบปะผู้คนจะได้ฝึกการใช้สมองในทุก ๆ ด้าน และทำให้จิตใจสดชื่นด้วย
- ป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด อัลไซเมอร์ แต่หากเป็นแล้วก็ต้องควบคุมให้ดี จะได้ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไป
สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรค อัลไซเมอร์ เพิ่มเติม ติดตามได้ที่เวบไซต์ของมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย www.alz.or.th หรือสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-6445499 ต่อ 138
ขอบคุณที่มาจาก : ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ
www.prema.or.th