มีหลายสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ของเด็กแตกต่างกันไป ครูหมูขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ดังนี้นะคะ มีคุณแม่หลายคนบอกว่าตอนที่ตั้งครรภ์มักมีอารมณ์หงุดหงิด ใจน้อย วิตกกังวลสูง เมื่อลูกเกิดมามีอารมณ์เหมือนคุณแม่ขณะตั้งครรภ์เลยค่ะ
ลูกเป็นคนอ่อนไหวง่าย ! (รักลูก)
โดย อ.รุ่งรวี กนกวิบูลย์ศรี
Q : ลูกสาวอายุ 4 ขวบ เป็นเด็กอ่อนไหวมาก มักจะเสียใจกับอะไรง่าย ๆ เช่น สุนัขที่บ้านตาย ก็ร้องไห้ และเสียใจอยู่นานจนไม่ยอมไปโรงเรียน ตอนอยู่ที่โรงเรียน คุณครูก็เคยเล่าให้ฟังว่าลูกงอนง่าย โกรธง่าย เพียงแค่คุณครูตำหนินิดเดียว หรือเพื่อนพูดเล่นด้วย เขาก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ยอมพูดกับคนนั้นเลย กลุ้มใจมากค่ะ ดิฉันควรทำอย่างไรดี ให้ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็ง และอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ อย่างเข้าใจค่ะ
คุณน้ำหนึ่ง / จ.แพร่
A : ถ้านึกถึงวัยเด็กเล็ก ๆ ผู้ใหญ่มักจะคิดถึงความสดใส ร่าเริง เป็นวัยแห่งความสุข วัยที่รู้สึกอย่างไร อารมณ์ที่แสดงออกจะตรงกับความรู้สึก ซึ่งเด็กในวัยนี้จะยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือความรู้สึกได้มากนัก ยังต้องมีการทำความเข้าใจเรื่องเหตุผลว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำครูหมูคิดว่าอารมณ์ของเด็กสามารถปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กได้ค่ะ
มีหลายสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ของเด็กแตกต่างกันไป ครูหมูขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ดังนี้นะคะ มีคุณแม่หลายคนบอกว่าตอนที่ตั้งครรภ์มักมีอารมณ์หงุดหงิด ใจน้อย วิตกกังวลสูง เมื่อลูกเกิดมามีอารมณ์เหมือนคุณแม่ขณะตั้งครรภ์เลยค่ะ ไม่รู้ว่าถ่ายทอดกันมาได้อย่างไร
อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูแบบประคบประหงมแบบไข่ในหินไม่เคยให้เด็กผจญกับปัญหาและแก้ปัญหาด้วยตัวของเด็กเอง ไม่เคยถูกดุ แม้จะทำอะไรผิด เด็กก็อาจจะกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเอง ขี้งอนหรือมีความอ่อนไหวง่ายเหมือนกัน มีน้องอีกคนหนึ่งค่ะ คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูแบบปกติไม่ได้ตามใจโชคร้ายประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แม้เหตุการณ์จะผ่านมานาน แต่น้องยังตกใจกับอุบัติเหตุครั้งนั้น กลายเป็นเด็กที่อ่อนไหวง่ายเสียใจง่าย
ดังนั้น ครูหมูจึงคิดว่าพัฒนาการของเด็กแต่ละด้านมีส่วนสัมพันธ์กัน เช่น ร่างกายที่เจ็บป่วยย่อมส่งผลต่ออารมณ์ของเด็ก เช่น น้องแพร เป็นเด็กที่ครูหมูเคยเจอเมื่อน้องเล็ก ๆ เกือบทุกวัน น้องแพรจะฟ้องคุณครูบ่อยครั้งว่าเพื่อนไม่รัก บางทีก็งอนไม่เล่นกับเพื่อน คุณแม่ก็เล่าให้คุณครูฟังว่าน้องแพรจะร้องไห้บ่อยมากถูกดุก็โกรธไม่กินข้าวได้ทั้งวัน กรณีตัวอย่างที่ครูหมูเล่าให้ฟังจะเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ๆ นั้นมีผลมาจากหลายสาเหตุที่ต่างกันออกไปนะคะ
ในกรณีของลูกคุณแม่ ครูหมูแนะนำให้ลองปรับเรื่องวิธีการอบรมเลี้ยงดูค่ะ
การเลี้ยงดูลูกควรปรับผู้เลี้ยงดูให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีการเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลคงเส้นคงวา เป็นต้นแบบของการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม สถานการณ์ที่ควรดีใจก็ดีใจ ยิ้มหัวเราะ สถานการณ์ที่เสียใจก็แสดงความเศร้า รู้สึกแบบใดก็แสดงออกมา ลูกจะสังเกตและค่อย ๆ ซึมซับต้นแบบของการใช้อารมณ์
ให้ลูกพบกับความผิดหวังในสถานการณ์ที่ควรผิดหวัง เช่น ลูกขอกระเป๋าใบใหม่แต่ยังไม่ถึงเวลาที่ลูกควรจะได้ก็ต้องไม่ให้ ถ้าลูกทำผิด เช่น ถึงเวลาอาบน้ำไม่ยอมอาบน้ำยังขอดูโทรทัศน์ ก็ต้องขัดใจให้ลูกไปอาบน้ำ ไม่ตามใจลูกจนเคยตัว
ถ้าลูกขี้โกรธ ขี้งอน ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นไม่สนใจ ไม่ง้อ ไม่กระเช้าเหย้าแหย่ให้ลูกอารมณ์เสีย นิ่ง ๆ ไม่สนใจ ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้งช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าการทำพฤติกรรมแบบนี้จะไม่ได้รับความสนใจ พฤติกรรมจะค่อย ๆ ลดลงค่ะ
ให้ลูกได้เล่นได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เป็นกลุ่ม จะเป็นวัยเดียวกันหรือต่างวัยก็ได้ค่ะ ซึ่งการได้อยู่รวมกลุ่มเพื่อนจะช่วยสอนให้ลูกปรับตัวเข้ากับกลุ่มได้ลูกเราจะเรียนรู้และเฝ้ามองคนอื่น ลูกจะสังเกตคนอื่นว่าปฏิบัติอย่างไร เพื่อนรักจึงชอบเล่นด้วย
ทุกคนเมื่อทำผิดต้องถูกตำหนิ เมื่อลูกทำผิดก็ต้องถูกดุ ครั้งแรก ๆ อาจรับการถูกดุไม่ได้ ลูกอาจผิดหวังเสียใจ อย่าลืมว่าเมื่อลูกคลายความเสียใจแล้วพูดคุยอธิบายถึงสิ่งที่ลูกทำผิด และบอกลูกว่าลูกจะแก้ไขสิ่งผิดอย่างไร
อธิบายให้ลูกเข้าใจ การที่ลูกเราร้องไห้เพราะสุนัขตายนั้น ควรอธิบายให้ลูกฟังว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าลูกยังไม่เข้าใจให้อธิบายด้วยการใช้นิทานที่อิงเรื่องจริงนะคะ
เราต้องสร้างต้นทุนของอารมณ์ให้มีความเข้มแข็งตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อลูกจะได้มีภูมิคุ้มกันเมื่อเขาเติบโตขึ้นค่ะ