อาการ คัดจมูก เป็นอาการทางจมูกที่พบได้บ่อยและไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคของจมูกหลายโรค อาการ คัดจมูก ในโรคบางโรค สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
อาการ คัดจมูก เป็นอาการทางจมูกที่พบได้บ่อยและไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคของจมูกหลายโรค อาการ คัดจมูก ในโรคบางโรค สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา ได้แก่ โรคหวัด หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอาการเล็กน้อย อาการ คัดจมูก อย่างมาก หรือ คัดจมูก ตลอดเวลาทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง หรือเกิดโรคไซนัสอักเสบตามมาได้ เนื่องจากอาการ คัดจมูก เป็นอาการที่ผู้ป่วยบอกกับแพทย์ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของอาการ คัดจมูก จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติ, การตรวจร่างกาย และการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค
สาเหตุของอาการ คัดจมูก
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
- โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
- โรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราก็ได้
- ผนังกั้นช่องจมูกคด
- สิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงจมูก ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก
- เนื้องอกในโพรงจมูก เช่น ริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกชนิดร้าย
- โรคเยื่อบุจมูกเหี่ยวฝ่อ
- ภาวะเลือดคั่งในผนังกั้นช่องจมูก
- ภาวะกระดูกอ่อนของจมูกทางด้านข้างยุบตัว เวลาหายใจเข้า (nasal valve collapse)
- ภาวะกระดูกเทอร์บิเนตด้านข้างโพรงจมูกบวมโต
- ภาวะรูเปิดของโพรงจมูกด้านหลังตีบตัน (choanal atresia)
- ต่อมแอดีนอยด์หลังโพรงจมูกโต
- เกิดจากยาขยายหลอดเลือดบางชนิด เช่นใช้ยาหดหลอดเลือดนานเกินไป, ยาจำพวก aspirin, nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS), beta-blocker (oral and ophthalmic), bromocriptine, estrogens, oral contraceptive, prazosin, methyldopa, phentolamine, guanethidine, reserpine และ tricyclic antidepressant
การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการ คัดจมูก
ประวัติ
- เวลาที่เริ่มมีอาการ คัดจมูก ระยะเวลาที่มีอาการ คัดจมูก สิ่งใดที่ทำให้อาการ คัดจมูก เป็นมากขึ้น หรือน้อยลง
- อาการ คัดจมูก เป็นข้างเดียวหรือสองข้าง อาการคัดจมูกเป็นๆหายๆ หรือเป็นตลอดเวลา
- ลักษณะของน้ำมูกที่ไหลออกมาเป็นอย่างไร
- มีเลือดกำเดาไหล หรือน้ำมูกปนเลือดหรือไม่
- อาการปวดจมูกสัมพันธ์กับอาการปวดตาหรือไม่
- มีอาการหูอื้อหรือไม่ มีอาการไอหรือไม่ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคหอบหืด
- ประวัติการใช้ยา การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า
- อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดจมูก
การตรวจร่างกาย
เริ่มตั้งแต่ลักษณะภายนอกของจมูก แพทย์จะตรวจดูว่ามีจมูกส่วนนอกโก่งหรือยุบตัวหรือไม่ การกระแทกบริเวณกระดูกอ่อนด้านข้างส่วนบน สามารถทำให้ผนังกั้นช่องจมูกเคลื่อน หรือคดได้ การพบเส้นแนวขวาง ที่สันจมูก อาจเกิดจากการใช้มือขยี้จมูกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การเคาะหรือกดเจ็บบริเวณข้างแก้ม อาจพบได้ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบ
การตรวจภายในโพรงจมูก แพทย์จะตรวจทั้งด้านหน้าและด้านหลังของโพรงจมูก โดยไม่ใช้ยาหดหลอดเลือด ลดอาการบวมในขั้นแรก การตรวจทางด้านหน้าโพรงจมูก แพทย์จะดูลักษณะและสีของน้ำมูก ลักษณะผนังกั้นช่องจมูก ลักษณะเยื่อบุจมูก ตรวจบริเวณรูเปิดไซนัส ถ้าพบว่ามีผนังกั้นช่องจมูกคดมาด้านใดด้านหนึ่ง อาจพบว่ามีเยื่อบุจมูกของอีกข้างหนึ่งโตกว่าปกติได้ การตรวจทางด้านหลังโพรงจมูก อาจพบต่อมแอดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองหลังโพรงจมูกโตได้ หลังการตรวจดังกล่าวแล้วแพทย์อาจพ่นยาหดหลอดเลือดลดการบวมของเยื่อบุจมูกแล้วตรวจซ้ำ หากอาการ คัดจมูก ดีขึ้นมากหลังการพ่นยาหดหลอดเลือด แสดงว่าผู้ป่วยมีเยื่อ บุของเทอร์บิเนทอันล่างบวมโต หากอาการ คัดจมูก ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ดีขึ้น อาจเป็นจากผู้ป่วยใช้ยาหดหลอดเลือด ลดการบวมของเยื่อบุจมูกนานเกินไปจนเกิดเยื่อจมูกอักเสบที่เรียกว่า rhinitis medicamentosa หรือาจเป็นจากปัญหาผนังกั้นช่องจมูกคด มีเนื้องอกหรือริดสีดวงจมูก หรือมีโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติไป ในกรณีที่เป็นเด็ก แพทย์อาจใช้ที่ตรวจหู ตรวจในจมูกแทนได้ หรือในผู้ใหญ่บางรายที่ต้องการตรวจอย่างละเอียด แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจภายในจมูกชนิดแข็งหรือชนิดอ่อนที่ทำจากเส้นใยไฟเบอร์ (rigid or fiberoptic nasal endoscope ) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น
การวัดความกว้างของช่องจมูก
แพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจออกบนไม้กดลิ้น แล้ววัดขนาดวงของไอน้ำบนไม้กดลิ้น โดยเปรียบเทียบกันสองข้าง ถ้ามีปัญหาเรื่องผนังกั้นช่องจมูกคด อาจจะมีวงของไอน้ำขนาดต่างกันได้ นอกจากนี้แพทย์อาจวัดปริมาตรของจมูกโดยการใช้คลื่นเสียง (acoustic rhinometry) โดยปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงและวัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมา หรือวัดความดันและปริมาตรของอากาศที่ผ่านเข้าออกในช่องจมูก (rhinomanometry)
การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี
- เอ็กซเรย์จมูกและไซนัสโดยใช้ฟิลม์ธรรมดา (plain film) สามารถเห็นลักษณะผนังกั้นช่องจมูกที่คด, เทอร์บิเนทอันล่างโต หรือภาวะไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการ คัดจมูก ได้
- เอ็กซเรย์กระดูกของจมูก (lateral nasal bone) ดูว่ามีการหักของกระดูกสันจมูกหรือไม่
- เอ็กซเรย์จมูกและไซนัสโดยใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT nose and paranasal sinus) ช่วยประเมินโครงสร้างจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกได้ดีขึ้น โดยเห็นโครงสร้างส่วนที่เป็นกระดูกได้ชัดเจน
- เอ็กซเรย์จมูกและไซนัสโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก (MRI nose and paranasal sinus) สามารถบอกรายละเอียดของเยื่อบุจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกได้ดี แต่ดูโครงสร้างจมูกส่วนที่เป็นกระดูกได้ไม่ชัดเจน
การรักษา อาจทำได้โดยการรับประทานยาหรือพ่นยาในจมูก หรือการผ่าตัดแล้วแต่สาเหตุ
ขอบคุณที่มาจาก : รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล