โรคเอดส์ ในสังคมมุสลิม อย่าหลอกตัวเองกันอีกเลย


1,119 ผู้ชม

แต่สำหรับสังคมมุสลิมนั้นการพยายามอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังทำได้ยากอยู่ อันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาเอดส์ในชุมชนมุสลิมตั้งแต่ปี 2548


สำนักข่าวมุสลิมไทย โรคเอดส์ ในสังคมมุสลิม อย่าหลอกตัวเองกันอีกเลย
www.muslimthai.com

โดย : อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ 

โรคเอดส์ ในสังคมมุสลิม อย่าหลอกตัวเองกันอีกเลย
ภาพการรณรงค์เรื่องเพศในอินโดนีเซีย


การจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันเอดส์โลก จะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนได้ให้ความเห็นใจและห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ตลอดจนให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับ โรคเอดส์ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดและจะทำให้การขยายตัวของโรคลดลงในที่สุด

แต่สำหรับสังคมมุสลิมนั้นการพยายามอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังทำได้ยากอยู่ อันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาเอดส์ในชุมชนมุสลิมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันของผู้เขียนในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชน จ. สงขลา ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ ศูนย์ประสานงานโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชนแห่งประเทศไทยซึ่งมี คุณรอซิดี เลิศอริยะพงษ์กุล ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่ พบว่าปัญหาของผู้ป่วยเอดส์เป็นปัญหาที่มุสลิมบางคนยังมองว่า...

"ไม่มีมุสลิมที่จะติดโรคเอดส์  ถึงมีมันก็มีน้อยกว่าคนอื่นเขา โรคนี้เราไม่ค่อยเป็นกันหรอก มันเป็นโรคที่พระเจ้าลงโทษพวกที่สำส่อน พวกลักเพศผิดมนุษย์"

ทัศนคติเหล่านี้ ทำให้ชุมชนมุสลิมไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโรคเอดส์  ความเป็นจริงกล่าวคือ จำนวนผู้ป่วยเอดส์ในปัจจุบันมีมากกว่าจำนวนเตียงในโรงพยาบาล

 ดังนั้นจึงมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ นับตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การให้ยาต้านไวรัส รวมไปถึงการดูแลรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

ยกตัวอย่าง กรณีผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคเอดส์ ผ่านมาทางมารดาที่ติดเชื้อเอดส์ เป็นเด็กๆ วัย 5-6 ขวบ อยู่ในวัยกำลังซน ฉลาด พูดจาฉาดฉาน ผู้ป่วยเหล่านี้บางคนก็ยังมีพ่อแม่พาไปหาหมอ แต่บางคนพ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว ดังนั้นจึงขาดคนรับผิดชอบ

โรคเอดส์ ในสังคมมุสลิม อย่าหลอกตัวเองกันอีกเลย
มุสลิมอินโดนีเซียร่วมกิจกรรมวันเอดส์โลก

     ปัญหาที่พบเห็นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสุขภาพทางกายของผู้ป่วยเพียงเท่านั้น ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกรังเกียจจากบุคคลรอบข้างตั้งแต่ในบ้านจนกระทั่งถึงนอกบ้าน เรื่องการรับรู้ภาวะที่ตัวเองเป็นอยู่ ซึ่งเด็กๆ จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร และเป็นเรื่องลำบากเหมือนกันที่จะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่าตัวเองเป็นโรคอะไรกันแน่ เด็กบางคนยังเข้าใจว่าที่ตัวเองไปหาหมอทุกเดือนนั้น เป็นเพราะว่าตัวเองเป็นหวัด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น แม่ของผู้ป่วยรายหนึ่ง (ตัวเองก็เป็นเอดส์เหมือนกัน) ต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งให้ลูกเพื่อเป็นค่ายาต้านไวรัส ในขณะที่ตัวเองไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากค่ายาสำหรับตัวเองได้ใช้จ่ายไปในส่วนของลูกแล้ว

นี่คือเรื่องราวที่น่าสรรเสริญในความรักของแม่ที่เสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อต่ออายุให้กับชีวิตลูก ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ยังมองข้ามอยู่และ เรื่องนี้นั้นนับว่างดงามกว่าเรื่องราวของชีวิตผู้คนในโลกที่ใส่หน้ากากเข้าหากันมากมายนัก

ในโลกปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกำลังสร้างครอบครัว ผู้คนเหล่านี้กำลังจะตาย และจะมีเรื่องราวโศกนาฏกรรมของคนในบ้านตามมาอีกมากมาย แล้วเรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดในสังคมมุสลิมบ้างหรือ?

ไม่แน่นักว่าหนึ่งในผู้ป่วยเหล่านั้นอาจมีลูกหลานของมุสลิม หรือคนที่เรารักรวมอยู่ด้วยก็เป็นได้

ถ้าคิดว่าเป็นปัญหา มุสลิมจะต้องมองปัญหาเอดส์นี้ด้วยท่าทีของผู้ที่เข้าใจและเห็นใจมากขึ้นกว่าเดิม ถ้ายังมองเอดส์ด้วยท่าทีที่ปฏิเสธ สังคมก็จะขาดองค์ความรู้ที่สำคัญอีกมากมาย ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้บุตรหลานและคนในครอบครัวมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ การดูแลรักษา การเอื้ออาทร การเห็นใจต่อผู้ป่วย การจัดการเกี่ยวกับศพ การอาบน้ำมัยยิต (ศพ) ที่ต้องทำให้ปลอดเชื้อ การจัดการเกี่ยวกับเรื่องราวภายหลังการตายของผู้ป่วย การดูแลทายาทของผู้ป่วย ฯลฯ

สังคมมุสลิมนั้นไม่ได้อยู่โดดๆ หรือห่างออกไปจากสังคมอื่นเลย ปัญหาในสังคมที่แวดล้อมอยู่นั้น จริงๆ

แล้วก็เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมได้เหมือนกัน สังคมต้องตระหนัก และยอมรับความจริง พร้อมทั้งเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยความรู้ ความเข้าใจ มองเพื่อนมนุษย์ด้วยสายตาที่เหมือนเพื่อนมองเพื่อนด้วยกัน ปัญหาต่างๆ จะได้มีทิศทางการแก้ไขที่ชัดเจนมากขึ้น

โรคเอดส์ ในสังคมมุสลิม อย่าหลอกตัวเองกันอีกเลย
ผู้ป่วยเอดส์ ขั้นสุดท้าย

แนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชนมุสลิมได้ ของโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชนมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวคือ นอกจากการใช้ยา การป้องกันด้วยถุงยางอนามัยแล้ว หลักศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมชายแดนใต้เป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชนมุสลิมได้ ซึ่งแนวทางที่ว่านั้นมีองค์ประกอบ 3 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ

1. การพัฒนาทางด้านจิตภาพ (การพัฒนาจิตใจ) เป็นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านความเชื่อมั่นศรัทธา ในหลักคำสอนของศาสนาให้กับปัจเจกบุคคลเพื่อให้เกิดจิตสำนึก ความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับเพศและยาเสพติด

2. การพัฒนาทางด้านกายภาพ (ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม) เป็นการพัฒนาด้านปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในสังคม โดยการให้เยาวชนและชุมชนรู้จักการทำงานร่วมกัน การแบ่งงานกันทำ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน หรือการพัฒนาการทำงานเป็นทีม (กลุ่ม) ตลอดจนการรู้จักนำทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน (สิ่งแวดล้อม) มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตทีดี ห่างไกลจากโรคเอดส์

นอกจากนี้ การพัฒนาทางด้านกายภาพ ยังหมายรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อเยาวชนในการดำเนินกิจกรรมทางสังคมอีกด้วย

3. การพัฒนาด้านศักยภาพ (ความสามารถของบุคคล) เป็นการพัฒนาให้เยาวชนและชุมชนมีทักษะและเทคนิคในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีในการทำงาน เช่น การพัฒนาทักษะการสื่อสาร ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการทำงานเป็นทีม เป็นต้น อันจะนำไปสู่การทำงานในชุมชนในลักษณะ "เพื่อนช่วยเพื่อน"

ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาเมื่อเราพบผู้ป่วยเอดส์ในชุมชนมุสลิม

จากการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยของผู้เขียน ร่วมกับ อาจารย์รอบีอ๊ะ นุ้ยประสิทธิ และทีมงานในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และในพื้นที่อื่นๆ พบแนวทางการสร้างความเข้าใจและอบรมอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาดังนี้

1.การสร้างองค์ความรู้ "อิสลามเป็นศาสนาที่มีความเอ็นดู เมตตา และช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม"

มนุษย์ย่อมมีความเป็นพี่น้องกันในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน อิสลามต้องการให้มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่สนิทสนมกัน ให้หัวใจมีความกรุณาเผื่อแผ่เมตตาต่อกัน แล้วแผ่กระจายออกไปทั่วทุกคน เพื่อพวกเขาจะได้สงสารและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ทั้งนี้ จากลักษณะความเมตตารักใคร่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในอิสลามนั้น สามารถแสดงออกด้วยการดูแลเยี่ยมเยียนพี่น้องของท่านในขณะเจ็บป่วย การช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่สิ้นชีวิต การเลี้ยงดูอุปการะเด็กกำพร้า เมื่อเขามีความสุขก็ร่วมแสดงความดีใจ ถ้าหากเขาประสบกับความทุกข์เศร้าโศกก็ร่วมแสดงความเสียใจด้วย เช่นนี้ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เมตตาปรานี

ส่วนหนึ่งจากตัวอย่างในด้านการปฏิบัติที่แสดงถึงความมีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลนั้น ได้จากแบบฉบับของท่านร่อซูล ท่านจะนั่งร่วมกับคนยากจน รับประทานอาหารร่วมกับคนยากจน ติดต่อเครือญาติ ไม่โต้เถียงทะเลาะเบาะแว้งกับผู้ใด เยี่ยมเยียนผู้ป่วย ฯลฯ อิสลามเรียกร้องให้เอื้อเฟื้อต่อกัน ให้เมตตารักใคร่กัน

ท่านร่อซูล (ศาสดาในอิสลาม) กล่าวว่า "มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องของมุสลิม เขาจะไม่ก่ออธรรมซึ่งกันและกันไม่ทรยศหักหลังกัน" (บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และมุสลิม)

และท่านร่อซูล ยังได้กล่าวอีกว่า "ผู้ใดก็ตามที่ไม่มีความเมตตาเขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา" (บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และมุสลิม)

โรคเอดส์ ในสังคมมุสลิม อย่าหลอกตัวเองกันอีกเลย
มุสลิมในต่างประเทศทำกิจกรรมเกี่ยวกับเอดส์

    ศาสนาอิสลามเรียกร้องให้สร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มั่นคง ไม่ให้มีผู้อ่อนแอ และศาสนาอิสลามยังส่งเสริมให้เวทนาสงสารคนอ่อนแอ ในยามเดินทางไกล ท่านร่อซูล กล่าวว่า "ผู้อ่อนแอนั้นเป็นผู้นำขบวน" กล่าวคือขบวนจะเคลื่อนย้ายออกไปไม่ได้นอกจากจะต้องให้ผู้ที่อ่อนแอได้ขี่ยานพาหนะเรียบร้อยก่อน

และท่านร่อซูล ได้กล่าวอีกว่า "เมื่อคนหนึ่งคนใดนำละหมาดก็จงละหมาดให้พอประมาณ (หมายถึงอย่าอ่านให้ยาวนานเกินควร) เพราะผู้เข้าร่วมละหมาดอยู่ด้วยนั้นมีทั้งคนป่วย คนแก่ชรา และผู้ที่มีธุระจำเป็น" (บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และมุสลิม)

ศาสนาอิสลามเรียกร้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ระทมให้สนองความต้องการแก่ผู้ที่มีธุระ มีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ ในเรื่องนี้ ท่านอาลีร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า "ช่างเป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดเหลือเกินสำหรับชาวมุสลิมเมื่อพี่น้องมุสลิมมาหาเขาเพื่อขอความช่วยเหลือ เขาก็ให้ความช่วยเหลือไปโดยที่ไม่เห็นแก่ตัวหรือเอาตัวรอดว่าตนดีกว่าผู้อื่น"

ท่านร่อซูล ได้กล่าวอีกว่า "คนดีที่สุดนั้นก็คือคนที่สร้างประโยชน์ให้แก่คนอื่น" (บันทึกโดย อัฎฎ็อบรอนีย์อัลบัยฮะกีย์ และอัดดารอกุฎนีย์)

ท่านอะบีฮุร็อยเราะห์ รฎิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานจากท่านนบี มีใจความว่า "คนดีคนประเสริฐในหมู่ท่านทั้งหลาย คือบุคคลที่เขาดำรงมั่นอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยที่ผู้อื่นมีความหวังในความดีของเขาได้..." จาก อิมามอะหมัด

อิสลามรักการมีมารยาทอันดีงาม เรียกร้องให้สิทธิแก่เพื่อนบ้านและให้เยี่ยมเยียนผู้ป่วย รวมทั้งดูแลเด็กกำพร้า เหล่านี้คืออุดมการณ์ของอิสลามในด้านการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสังคมด้วยการสร้างสังคมให้ทุกคนมีเมตตาธรรมโดยถ้วนทั่วกัน การงานทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคมถือเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะเข้าสู่ความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ย่อมเป็นอิบาดะห์ที่ดีที่สุดในทัศนะของอิสลาม

เมื่อบุคคลรู้สึกว่าตนเองเป็นประโยชน์ต่อสังคม และเขาได้รับการเหลียวแลเป็นอย่างดีทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องก็ได้รับความอุดหนุนเกื้อกูล สิทธิต่างๆ ก็ได้รับความคุ้มครอง เช่นนี้แล้วเขาก็มีกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเขาและมุ่งหวังในการงานที่ดีอยู่เสมอ เพราะเขาตระหนักดีว่าผลแห่งการทำความดีนั้นจะสะท้อนกลับมาสู่ตนเองและยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอีกด้วย

2.สร้างจิตสำนึก "การให้ความช่วยเหลือเป็นหน้าที่"

ความเป็นพี่น้องจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามฐานะและความรับผิดชอบที่ทุกคนมีอยู่ นั่นก็คือการรู้จักรักษาหน้าที่ของตนเอง

ท่านอะบีฮุร็อยเราะห์ รฎิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ได้มีวจนะไว้ว่า "หน้าที่ของมุสลิมพึงมีต่อมุสลิมมีอยู่ 5 ประการ คือ การตอบรับสลาม การเยี่ยมผู้ป่วย ตามส่งญานาซะห์ (ศพ) ตอบรับคำเชิญ และขอดุอาอ์ให้กับผู้จาม" (บันทึกโดยบุคอรีย์)

ผู้ที่อ่อนแอนั้นสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ ไม่ใช่คอยความช่วยเหลือ และผู้ที่หลงผิดสมควรที่จะได้รับการชี้นำ ไม่ใช่คำเยาะเย้ยต่อเขา เมื่อท่านพบบุคคลที่มีความทุกข์เข็ญหรือประสบกับความเลวร้าย ดังนั้นท่านก็จงปลอบโยนเขา ไม่ให้เขาเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

คัมภีร์อัล-กุรอาน ได้กล่าวไว้ความว่า "โอ้บรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลาย คนกลุ่มหนึ่งจงอย่าได้ดูแคลนคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะคนกลุ่มที่ถูกดูแคลน อาจจะดีกว่าคนกลุ่มที่ดูแคลนได้ และสตรีทั้งหลายก็อย่าดูแคลนกลุ่มสตรีด้วยกันเอง เพราะสตรีที่ถูกดูแคลนอาจจะดีกว่าสตรีที่ดูแคลนได้ และพวกเจ้าอย่าได้ประจานซึ่งกันและกัน และอย่าได้เรียกขานกันด้วยสมญา (ที่น่าเกลียด) นับเป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง (การที่เรียกขานผู้อื่น) ชื่อที่น่ารังเกียจภายหลังจาก (เขามี) ศรัทธา และผู้ใดไม่สารภาพผิด (ต่ออัลลอฮ์) แน่นอนพวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกที่ฉ้อฉลโดยแท้จริง" (ซูเราะห์อัล-หุญุรอต โองการที่ 11)

3. การสร้างความภูมิใจต่อผู้ดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับหลักการศาสนา

การให้ความช่วยเหลือในสังคมมุสลิมที่จะให้ประโยชน์ต่อตัวเราและสังคม ก็คือ การให้ความช่วยเหลือกันในสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ในอัล-กุรอาน และการปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านร่อซูล คือการให้ความช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ หรือแนะนำตักเตือนสั่งสอนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีๆ เข้าใจกัน หันหน้าคุยกัน ไม่มีการเอาเปรียบกัน

ดังโองการอัล-กุรอานที่พระองค์อัลลอฮ์ ศุบหฯ ทรงตรัสไว้ ความว่า "และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกัน ในเรื่องคุณธรรมความดีและความยำเกรง และพวกเจ้าอย่าช่วยกันในเรื่องบาปและเป็นศัตรูต่อกัน และพวกเจ้าจงยำเกรงต่อเอกองค์อัลลอฮ์ ศุบหฯ แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ ศุบหฯ ทรงลงโทษร้ายแรงยิ่ง" (ซูเราะห์ อัล-มาอิดะห์ โองการที่ 2)

ท่านร่อซูล ได้กล่าวว่า "ผู้ที่มีศรัทธากับผู้ศรัทธานั้น เปรียบประดุจดังตึกอาคารที่สูงใหญ่ซึ่งบางส่วนของมันจะยึดยื้ออยู่กับอีกบางส่วนของมัน"

ดังนั้นการแก้ปัญหาเอดส์ด้วยกระบวนทัศน์อิสลามในสังคมมุสลิม น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาเอดส์ในสังคมที่มีวิถีชีวิต อัตลักษณ์ที่และทัศนคติที่เป็นตัวของตัวเองสูง

" ถ้าคิดว่าเป็นปัญหา มุสลิมจะต้องมองปัญหาเอดส์นี้ด้วยท่าทีของผู้ที่เข้าใจและเห็นใจมากขึ้นกว่าเดิม ถ้ายังมองเอดส์ด้วยท่าทีที่ปฏิเสธ สังคมก็จะขาดองค์ความรู้ที่สำคัญอีกมากมาย ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้บุตรหลานและคนในครอบครัวมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ การดูแลรักษา การเอื้ออาทร การเห็นใจต่อผู้ป่วย การจัดการเกี่ยวกับศพ การอาบน้ำมัยยิต (ศพ) ที่ต้องทำให้ปลอดเชื้อ การจัดการเกี่ยวกับเรื่องราวภายหลังการตายของผู้ป่วย การดูแลทายาทของผู้ป่วย ฯลฯ "

--

ตรัง - ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์โรคเอดส์ยังน่าเป็นห่วงในสังคมไทย โดยพบว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนออกมารณรงค์เฝ้าระวังการติดเชื้อเอดส์กันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในพื้นที่จังหวัดตรังนั้น

นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง

 เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเอดส์สะสมตั้งแต่ปี 2533 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2552 พบว่า จังหวัดตรังมีผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,951 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1,621 ราย โดยเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง คือ ร้อยละ 70.2 และร้อยละ 29.8 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 30-34 ปี ร้อยละ 25.9 หรือ 1,022 ราย รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 24.1 หรือ 953 ราย และกลุ่มอายุ 35-39 ปี ร้อยละ 17.8 หรือ 704 ราย

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มอาชีพที่พบผู้ป่วยโรคเอดส์มากที่สุดคือ รับจ้าง ร้อยละ 43.9 หรือ 1,738 ราย รองลงมาคือ ทำสวน ร้อยละ 27.0 หรือ 1,063 ราย และประมง ร้อยละ 7.1 หรือ 281 ราย ตามลำดับ อำเภอที่พบมากที่สุด คือ อำเภอกันตัง ในพื้นที่ตำบลบางเป้า และพื้นที่ติดต่อคือ เทศบาลเมืองกันตัง รองลงมาคือ อำเภอเมือง อำเภอห้วยยอด และอำเภอปะเหลียน ตามลำดับ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อที่พบมากที่สุดคือ เพศสัมพันธ์ ร้อยละ 76.9 หรือ 3,039 ราย รองลงมาคือ ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ร้อยละ 7.3 หรือ 287 ราย

นายแพทย์สาธิต กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สาเหตุอันดับ 1 ของการป่วยเป็นโรคเอดส์คือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่สามีภรรยาของตนเอง โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย อันดับ 2 คือ การใช้เข็มและกระบอกฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น และอันดับ 3 คือ การแพร่เชื้อจากแม่ที่ติดเชื้อสู่ทารกในครรภ์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในสังคมกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งความสุขสดใสร่าเริง ได้พบการติดเชื้อของนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 1.5 หรือ 66 ราย เป็นเพศชาย 38 คน เพศหญิง 28 คน

ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด

อัพเดทล่าสุด