ภาษีมรดก MUSLIMTHAIPOST

 

ภาษีมรดก


1,778 ผู้ชม

การเก็บภาษีมรดกไม่ว่าจะเป็นวิธีเก็บจากกองมรดก หรือจากผู้รับมรดก ย่อมมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งว่า เพื่อแก้ไขความไม่เสมอภาคในสังคม


มุสลิมไทยโพสต์

ภาษีมรดก

ภาษีมรดก

ในบทความตอนที่แล้วเรื่อง “จากงบประมาณปี 2457 ถึงปี 2558” ได้เขียนค้างไว้เรื่อง หลักการสำคัญประการหนึ่งในการจัดทำงบประมาณว่าที่ดีนั้นก็คือการต้องยึดหลัก “ความครบถ้วน” ซึ่งหมายความว่า รายจ่าย-รายรับ ทุกรายการ ทุกจำนวน ต้องปรากฏในงบประมาณ ดังเช่น การทำงบประมาณปี 2457 (หมายเหตุ : อาทิตย์ก่อนพิมพ์ผิดเป็น การทำงบประมาณปี 2557 )
               สัปดาห์นี้ ตอนแรกตั้งใจจะเขียนถึง การจัดทำงบประมาณปี 2558 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นตอนที่สอง แต่เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2558 ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เพิ่งประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันศุกร์ ดังนั้นจึงขอรอให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ก่อน หลังจากนั้นจะได้นำมาวิเคราะห์ต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องของการบริหารการคลัง ไม่ได้มีเฉพาะการใช้จ่ายผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพียงอย่างเดียว นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวกับภาษีต่างๆ ที่ คสช. ประกาศออกมาก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการบริหารนโยบายการคลัง และภาษีชนิดหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมานานในสังคมไทยก็คือ “ภาษีมรดก” ซึ่งกรมสรรพากรกำลังศึกษาพิจารณาข้อดีและข้อเสียว่าแนวทางจัดเก็บแบบไหนจะเหมาะสมมากที่สุด
               เมื่อกล่าวถึงภาษีมรดกคงจะทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกที่ว่า “การเก็บภาษีมรดกจะเป็นการชอบธรรมหรือไม่” เรื่องนี้เป็นข้อน่าคิดมาก และก็เป็นปัญหาที่ไม่ใช่แต่เพียงเกิดขึ้นในบ้านเรา แม้ในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีมรดก ก็เป็นปัญหาที่ยังโต้เถียงกันอยู่และยังไม่ยุติจนถึงปัจจุบันนี้
               ประเทศไทยได้เคยมีการเก็บภาษีมรดกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ในสมัยนั้นเรียกว่า อากรมรดก เหตุผลที่เรียกเก็บนั้น นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามาก คือเรียกเก็บเฉพาะทรัพย์สมบัติที่เกินกำลังของทายาทที่ใช้สอย ให้ตกเป็นของหลวงทั้งหมด
               การเก็บภาษีมรดกยังมีปรากฏต่อมาในกฎหมายเก่าที่เรียกว่า กฎหมายมรดก ในบทที่ 13 กล่าวคือ มรดกชายมีบรรดาศักดิ์ให้แบ่งเป็น 4 ภาค เท่าๆ กันคือ ภาคหลวงหนึ่ง ภาคบิดามารดาหนึ่ง ภาคภรรยาหนึ่ง และภาคญาติหนึ่ง
               ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของประเทศสยาม ในเค้าโครงดังกล่าวนั้นได้เสนอถึงวิธีการจัดหาทุนโดยให้มีการเก็บภาษีมรดกไว้ด้วย
               ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2476 รัฐบาลในสมัยพันเอก พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรได้ตราพระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก พ.ศ.2476 ขึ้นมาใช้บังคับ
               แต่ต่อมากฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2487 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
               สาระสำคัญบางประการของพระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก พ.ศ.2476 มีดังนี้
               1.ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ใช้วิธีการเก็บภาษีมรดกทั้งสองวิธีรวมกัน คือ
               อากรมรดก โดยเก็บจากกองมรดก
               อากรรับมรดก โดยเป็นการเรียกเก็บจากผู้รับมรดก
               2.ทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมีเกณฑ์ดังนี้
               1) ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในประเทศไทย
               2) บรรดาทรัพย์สินที่ผู้ตายได้มีการโอนให้แก่บุคคลอื่นในเวลาหนึ่งปีก่อนตายให้เสียภาษีมรดกเช่นเดียวกัน
               3) การตีราคา ให้ตีตามราคาตลาดในเวลาที่เจ้ามรดกตาย แต่ให้มีการคัดค้านและอุทธรณ์ได้
               3.อัตราการเก็บ ใช้วิธีเก็บในอัตราก้าวหน้า กล่าวคือกองมรดกหรือผู้รับมรดกที่มีวงเงินสุทธิไม่เกิน 10,000 บาทจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากรมรดก หรืออากรรับมรดกจะต้องเสียเฉพาะส่วนที่เกินตามอัตราซึ่งได้มีการกำหนดแบ่งไว้เป็นขั้นๆ
               4.ในความเป็นญาติ ได้มีการแบ่งอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงลดหลั่นกันระหว่างความเป็นญาติสนิทและญาติที่ห่างกันออกไป
               ถ้าพิจารณาในแง่การคลัง การเก็บภาษีมรดกผู้เสียภาษีไม่อาจที่จะผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ เพราะผู้เสียภาษีมรดกจะเป็นผู้รับภาระในชั้นที่สุดเสมอ จึงย่อมเป็นความชอบธรรมในการเก็บภาษี และโดยเฉพาะเมื่อได้พิจารณาถึงระบบการเก็บภาษีของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า การเก็บภาษีทางอ้อมนั้นมีอัตราสูงถึง 80% เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีทางตรงที่มีเพียง 20% แสดงให้เห็นชัดว่าคนจนและผู้มีฐานะปานกลางจะต้องรับภาระที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ในชั้นสุดท้ายเสมอไป เพราะมนุษย์เราจำเป็นต้องบริโภค แต่การเรียกเก็บภาษีมรดกนั้น รัฐย่อมรู้ได้แน่นอนว่าใครบ้างเป็นผู้เสียภาษี จึงทำให้การเก็บภาษีในลักษณะนี้ได้สะดวก และถ้ารัฐได้วางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้รัดกุมดีแล้ว นอกจากจะเป็นการสะดวกในการเก็บภาษีแล้ว ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บน้อยลงด้วย
               วิธีเก็บภาษีมรดกประเทศที่มีการเก็บภาษีมรดก เช่น ประเทศในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศอเมริกา หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน จะมีวิธีเก็บภาษีมรดกอยู่ 2 วิธี
               - การเก็บภาษีในค่าแห่งทรัพย์ที่ผู้ตายมีอยู่ทั้งหมด กล่าวคือเป็นการเรียกเก็บในกองมรดกก่อนที่จะมีการแบ่งให้แก่ทายาท
               - วิธีที่สอง เป็นการเรียกเก็บจากตัวทายาทตามส่วนที่ทายาทแต่ละคนจะได้รับมา
               ในทางปฏิบัติประเทศต่างๆ ที่มีการเก็บภาษีมรดก จะใช้วิธีที่แตกต่างกัน บางประเทศก็เลือกใช้วิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว บางประเทศก็ใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นการเก็บจากกองมรดกจะเป็นการเก็บจากผู้ตายก่อนที่จะมีการแบ่งออกเป็นส่วนๆ แต่ถ้าเป็นการเก็บจากผู้รับมรดกก็เสมือนเป็นการเก็บรายได้ที่เพิ่มพูนของทายาทขึ้นมา แต่รายได้ในลักษณะดังกล่าวนี้ มิใช่เป็นการได้มาจากการใช้ความสามารถหรือแรงงานหรือปัญญาของเขาเช่นเจ้าของมรดกผู้ตายแต่อย่างไร
               การเก็บภาษีมรดกไม่ว่าจะเป็นวิธีเก็บจากกองมรดก หรือจากผู้รับมรดก ย่อมมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งว่า เพื่อแก้ไขความไม่เสมอภาคในสังคมโดยเฉพาะในเรื่องภาระที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากภาษีทางอ้อมเพราะภาษีมรดกจะตกเป็นภาระแก่ผู้มีทรัพย์มรดกก็ต่อเมื่อกองมรดกนั้นมีจำนวน “ถึงขนาด” ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น ฉะนั้นวิธีการเก็บที่เป็นธรรม จะต้องเรียกเก็บในลักษณะที่เรียกว่า “อัตราก้าวหน้า” กล่าวคือเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่เกินอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ โดยแบ่งเป็นขั้นๆ ไป และจะต้องคำนึงถึงเหตุประกอบที่สำคัญบางประการ เพื่อคำนวณในการหักหรือลดหย่อน หรือเพิ่มหรือลด อัตราการเก็บอันอาจจะได้แก่เหตุดังต่อไปนี้
               (1) อายุของทายาท
               (2) ความเป็นญาติสนิทหรือห่างออกไป
               (3) หนี้สินของผู้ตาย
               (4) ความแตกต่างในการเรียกเก็บระหว่างอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์บางอย่าง
               (5) ได้มีการเรียกเก็บภาษีมรดกมาจากทรัพย์สินเดียวกันกี่ครั้งแล้ว
               (6) มาตรการสำหรับการหลีกเลี่ยงโดยการโอนไปก่อนตาย

ภาษีมรดก

ยกตัวอย่าง เช่น

1) ใครที่โอนทรัพย์สินของตนให้ลูกหลานหรือผู้อื่น ก่อนตนตายไม่น้อยกว่า 5 ปี (ครบ5ปีก่อนตนตาย) ผู้รับมรดกไม่ต้องเสียภาษีมรดก
2) ถ้าโอนฯน้อยกว่า 5 ปี ผู้รับมรดกต้องจ่ายเงินภาษีมรดกตามสัดส่วนดังนี้
          - 4 ปีก่อนตาย ผู้รับมรดก เสียภาษีฯ 10% ของมูลค่ามรดกรวม
          - 3 ปี 20%
          - 2 ปี 30%
3) ไม่ถึง 2 ปี หรือตายไปเสียก่อนโอนฯ ผู้รับมรดกเสียภาษีมรดก 40%
ตัวอย่าง ภาษีมรดก ลด คอรัปชั่นได้อย่างไร
เช่น รมว.คลังรบ.นี้ ที่มีทรัพย์สินรวยสุดคือ 500กว่าล้านบาท สมมุติมีกม.ภาษีมรดกใช้แล้ว และสมมุติเกิดตายตกไปในวันนี้ ผู้ที่มีสิทธิรับมรดก อันดับแรกคือ เมียและลูก ของรมว.คลัง ก็จะต้องหาเงินสดไปจ่ายภาษีมรดกเป็นจำนวนถึง 200 กว่าล้านบาท
เคยมีกรณีศึกษา(ในอังกฤษ)ว่า ผู้รับมรดก ไม่มีเงินสดไปเสียภาษีมรดก (เพราะมรดกเป็นที่ดินไม่ใช่เงินสด)ผู้รับมรดก ต้องการยกเว้นการจ่ายเงินภาษีมรดก จึงบริจาคมรดกที่ดินนั้นให้เป็นของรัฐไปและ กรณีที่ซุกซ่อนทรัพย์สิน เช่น นายกฯ บางคนที่รวยแบบซุกซ่อนทรัพย์สิน และชอบอ้างว่าจน สมมุติตายไปในวันนี้ ผู้ที่รับซ่อนทรัพย์สินเอาไว้ ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเป็นทรัพย์สมบัติของอดีตนายกฯผู้ตายไป แต่ถ้าเมีย,ลูกและญาติสนิทอื่นๆ อยากทวงทรัพย์สมบัติของอดีตนายกฯที่เสียชีวิตมาเป็นของตน ก็ต้องไปหาเงินสดมาเสียภาษีมรดกถึง 40% ของมูลค่าทรัพย์สมบัตินั้นๆ
ข้อสังเกต
1) ภาษีมรดก ทำให้ คนยิ่งรวยมาก สร้างทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้เมียลูกมาก รัฐฯยิ่งหาเงินได้มาก
2) ใครที่กลัวว่า เมียและลูก จะลำบากหาเงินมาเสียภาษีมรดกภายหลังที่ตนตาย ก็จะรีบยกทรัพย์สมบัติออกไปให้พ้นตัว เป็นการกระจายความรวย ลดปัญหาการมีอำนาจบารมีล้นฟ้าของคนๆเดียวลงได้
3) เมื่อคนเห็นว่า ความรวยไม่ได้ทำให้ลูกเมียสบายขึ้นเลย รังแต่จะทำให้ลำบากเพิ่มคือต้องไปหาเงินสดมาเสียภาษีมรดก ความโลภก็จะลดลงไปอย่างไม่ตั้งใจและไม่ต้องเป็นคนดี
4) นำไปสู่ การทำหมันคอรัปชั่น อย่างได้ผล
เว้นเสียแต่ว่า หลักการจัดเก็บภาษีมรดก ถูกบิดเบือนไปจากนี้

เรียบเรียงโดยมุสลิมไทยโพสต์

อัพเดทล่าสุด