มากินผักกันดีกว่า


802 ผู้ชม


กินผักตามฤดู 12 เดือน (Momypedia) 
อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า ผักสีเขียว ๆ จะช่วยให้เราผิวพรรณผ่องใส และระบบการขับถ่ายทำงานดีขึ้น ยิ่งถ้าเราได้รับประทานผักสด ๆ ด้วยแล้ว จะยิ่งได้วิตามินซีตามไปด้วย นอกจากนั้นผักทุกประเภทยังอุดมไปด้วยสารโพแทสเซียม ซึ่งช่วยให้เกิดภาวะสมดุลในร่างกายของเรา 
เมื่อรู้ถึงคุณประโยชน์ของผักอย่างนี้แล้ว เห็นทีคงต้องอาศัยข้อมูลจาก รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล หัวหน้าฝ่ายมนุษยโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มาเล่าสู่กันฟังว่า ถ้าจะเลือกผักตามฤดูกาลเพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษ ในแต่ละเดือนเราควรเลือกผักประเภทไหนที่เหมาะสม 
เดือนมกราคม 
แครอต กระหล่ำดอก ผักกาดขาว ผักกาดเขียวปลี และปวยเล้ง
 
คุณค่าทางสารอาหาร : ผักกาดเขียวและปวยเล้งจะมีแคลเซียมสูง และมีเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา และเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ส่วนแครอตจะให้สารเบต้าแคโรทีน กรรมวิธีการปรุงเราสามารถหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อนำมาผัดหรือใส่ลงในซุปได้ 
เดือนกุมภาพันธ์ 
มะเขือเทศ ผักโขม แตงกวา
 
คุณค่าทางสารอาหาร : เม็ดแตงกวาและเปลือกจะให้ใยอาหาร ผักโขมมีเบต้าแคโรทีนสูง ส่วนมะเขือเทศจะให้สารแคโรตินอยด์ ที่ช่วยต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น หรือต้านอนุมูลอิสระ (ภาวะชะลอความเสื่อมของร่างกาย) เราสามารถนำมาซอยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อใส่ในน้ำซุป หรือผัดลงในข้าว หรือในไข่เจียวก็ได้ทั้งนั้น 
เดือนมีนาคม 
ผักกวางตุ้ง เห็ดฟาง ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ คะน้า
 
คุณค่าทางสารอาหาร : ผักคะน้าจะมีแคลเซียมสูง แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าขม ดังนั้น ถ้าเราหั่นใบเป็นชิ้นฝอย ๆ และลอกก้านคะน้าให้เหลือเพียงสีขาวใส ๆ แล้วนำมาผัดโดยเพิ่มแครอตผสมเข้าไปในข้าว จะทำให้อาหารมื้อนั้นอร่อยถูกปากยิ่งขึ้นค่ะ นอกจากนั้นคะน้ายังอุดมไปด้วยสารอาหารเบต้าแคโรทีนด้วย ส่วนถั่วฝักยาวควรล้างให้สะอาด ๆ แล้วรับประทานสด ๆ เพื่อจะได้ปริมาณวิตามินซีอย่างเต็มที่ 
เดือนเมษายน 
หอมใหญ่ ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง
 
คุณค่าทางสารอาหาร : หอมใหญ่มีสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย เราสามารถซอยหอมใหญ่แล้วนำมาผัดกับข้าวผัด ทำให้ข้าวผัดนั้นมีรสชาติหวานขึ้น ส่วนเห็ดฟางก็นำมาใส่ลงในแกงจืดเปลี่ยนรสชาติของอาหาร ทำให้ไม่น่าเบื่อ 
เดือนพฤษภาคม 
ถั่วพู หอมใหญ่ มะละกอดิบ
 
คุณค่าทางสารอาหาร : มะละกอดิบเอามาทำส้มตำ เท่ากับได้รับประทานผักสด ๆ ซึ่งจะได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้นนะคะ สำหรับถั่วพู นำมาหั่นฝอยผสมไก่หรือหมูสับทอด เป็นทางเลือกที่หลากหลายในการเพิ่มแร่ธาตุแคลเซียมและใยอาหาร 
เดือนมิถุนายน 
ดอกกุยฉ่าย คะน้า เห็ด
 
คุณค่าทางสารอาหาร : ดอกกุยช่ายจะอุดมไปด้วยโฟเลต ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายในการสร้างสารพันธุกรรม และช่วยไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิดหนึ่ง ส่วนเห็ดจะให้โปรตีน และคะน้าจะมีแคลเซียมสูง 
เดือนกรกฎาคม 
ยอดตำลึง ผักบุ้งไทย
 
คุณค่าทางสารอาหาร : ผักบุ้งหรือผักที่มีสีเขียวเข้มจะให้สารเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตาและต้านอนุมูลอิสระ ส่วนผักตำลึงจะให้สารเบต้าแคโรทีนเช่นกัน มีเมนูที่ทำง่าย ๆ ได้คุณค่า เช่น ใส่ลงไปในไข่เจียว หรือต้มจืดรับประทานก็ได้ค่ะ 
เดือนสิงหาคม 
ผักกระเฉด หัวปลี ข้าวโพด
 
คุณค่าทางสารอาหาร : หัวปลีจะมีใยอาหารค่อนข้างมาก ช่วยในเรื่องการขับถ่าย ส่วนข้าวโพดซึ่งจัดเป็นธัญพืชจะมีเบต้าแคโรทีนสูง ผักกระเฉดจะช่วยเรื่องขับถ่าย และเป็นผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูงเช่นกัน แต่ระวังในการเลือกซื้อด้วยนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้มีการใส่สารที่เป็นอันตรายทำให้ผักดูสดใหม่อยู่เสมอ 
เดือนกันยายน 
ผักกระเฉด กวางตุ้ง บวบ
 
คุณค่าทางสารอาหาร : กวางตุ้งอุดมไปด้วยแคลเซียม และเบต้าแคโรทีน ส่วนบวบจะให้ใยอาหารค่อนข้างสูง 
เดือนตุลาคม 
มะระ ถั่วพู สายบัว ผักกระเฉด 

คุณค่าทางสารอาหาร : มะระเป็นผักสมุนไพรที่ให้วิตามินซีสูง (ถ้ารับประทานดิบ ๆ) เราสามารถทำเป็นเมนูแกงจืดหรือตุ๋นก็ได้ โดยคว้านไส้ในออกแล้วสอดหมูบดลงไป ส่วนผักกระเฉดและสายบัวควรล้างให้สะอาด ๆ ก่อนนำไปบริโภค 
เดือนพฤศจิกายน 
ผักกาดขาว สายบัว
 
คุณค่าทางสารอาหาร : ผักกาดขาวมีเบต้าแคโรทีนสูง ส่วนสายบัวให้ใยอาหารช่วยในเรื่องขับถ่าย 
เดือนธันวาคม 
ถั่วแขก ถั่วลันเตา กะหล่ำปลี
 
คุณค่าทางสารอาหาร : กะหล่ำปลีหรือกะหล่ำดอกสดเป็นแหล่งของวิตามินซีอย่างดี เราสามารถนำมาผัด หรือต้มโดยใส่หมู หรือรับประทานสด ๆ ก็ได้ ส่วนถั่วลันเตาเป็นผักที่มีโปรตีนค่อนข้างสูง และมีใยอาหารสูง 
เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับผักตามฤดูกาลต่าง ๆ ที่แนะนำ คราวหน้าคุณๆ คงจะมีโอกาสได้เลือกผักเขียวๆ ตามใจชอบ แถมยังปลอดสารพิษด้วย ทีนี้ครอบครัวของคุณก็จะก้าวเดินอยู่บนเส้นทางสายสุขภาพกันแล้วล่ะ

 ที่มา https://www.kroobannok.com/56289

อัพเดทล่าสุด