ผลกระทบสุดแย่ แค่คุณเครียด


934 ผู้ชม


ผลกระทบสุดแย่ แค่คุณเครียด

ผลกระทบสุดแย่ แค่คุณเครียด

           รู้หรือไม่ว่า แค่เพียงคุณวิตกกังวล สุขภาพของคุณก็โดยทำร้ายโดยไม่รู้ตัวแล้วนะ ถ้าไม่อยากเจ็บป่วยต้องเลิกกังวลซะ
           ความวิตกกังวล เป็นอาการส่วนหนึ่งของความเครียด ที่ซึ่งมีส่วนทำให้สุขภาพร่างกายของย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้าหากเกิดความเครียดอย่างเรื้อรังด้วยละก็ มันก็ยิ่งส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้มากมายนับไม่ถ้วนเลยล่ะ แล้วอยากรู้กันไหมคะว่าความเครียดและความวิตกกังวลทำร้ายสุขภาพของเราได้อย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมได้นำข้อมูลเกี่ยวกับผมกระทบของความเครียดและความวิตกกังวลมาเล่่าสู่กันฟังจากเว็บไซต์ huffingtonpost.com ค่ะ รับรองถ้าคุณรู้แล้วจะไม่อยากเครียดอีกเลยแน่นอน
เมื่อร่างกายของเราเข้าสู่ภาวะความเครียด ร่างกายของเราก็จะเกิดความผิดปกติในการทำงาน ทำให้ร่างกายทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งอาจจะสังเกตให้เห็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย จนถึงอาการที่หนักหนา ยิ่งความเครียดสะสมมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งส่งผลต่อร่างกายเท่านั้น โดยเมื่อร่างกายของเราเผชิญหน้ากับความเครียด ก็จะะส่งผลดังนี้
 คอแห้ง
           หลายคนคงเคยรู้สึกว่าทำไมเวลาที่เครียดถึงรู้สึกว่าคอแห้งเหลือเกิน เวลาจะพูดคุยกับใครก็รู้สึกว่าเสียงตัวเองแหบแห้ง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเมื่อร่างกายของเราเกิดความเครียด กล้ามเนื้อบริเวณลำคอของเราจะเกิดการหดตัว และน้ำบริเวณนี้จะโยกย้ายไปอยู่ที่ส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้คอของเราแห้งและกลืนอาหารหรือน้ำได้ลำบากนั่นเองค่ะ
 ปฏิกิริยาต่อตับ
           เมื่อเกิดความเครียด ตับของเราก็จะทำงานผิดปกติทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนความเครียด โดยเจ้าฮอร์โมนชนิดนี้เป็นต้นเหตุทำให้ตับผลิตน้ำตาลกลูโคสมากขึ้น ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้ให้พลังงานสูง แม้ว่าจะสามารถดูดซึมกลับได้โดยไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ในร่างกาย แต่มันก็เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่นเดียวกันค่ะ
 ปฏิกิริยาต่อผิวหนัง
           ความเครียดส่งผลทำให้เราเหงื่อออกได้แม้จะอยู่ในอากาศที่เย็นก็ตาม นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้แก้มของเราแดงระเรื่ออีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าคนที่หน้าแดงนั้นเป็นเพราะเขาเขินนะคะ แต่อาจจะเป็นเพราะเขากำลังเครียดอยู่ก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากระบบไหลเวียนของเลือดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เลือดถูกผลักดันไปที่กล้ามเนื้อมากจนเกินไป และถ้าหากเกิดความเครียดเรื้อรังก็จะส่งผลทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำและแก่ก่อนวัยได้ นอกจากนี้ การศึกษาของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ยังพบอีกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลอาจนำมาสู่โรคผิวหนังอักเสบได้อีกด้วย
 ม้ามทำงานอย่างหนัก
           ความวิตกกังวลไม่ได้แค่เพียงส่งผลต่อสมองและหัวใจเท่านั้น แต่มันยังส่งผลเสียต่อการทำงานของม้ามและเซลล์เม็ดเลือดของเราอีกด้วย ซึ่งความเครียดจะส่งผลให้ม้ามหลั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาในจำนวนมหาศาล และทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้นถึง 300 - 400%
 กล้ามเนื้อตึง
           เมื่อเราเริ่มรู้สึกวิตกกังวล กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเริ่มตึงเครียดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากเกิดความเครียดเรื้อรังก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว ไหล่แข็งและปวดคอ หรือแม้แต่อาการปวดไมเกรน นอกจากนี้ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติอย่างเรื้อรังของกล้ามเนื้อได้
           นอกจากนี้ความเครียดและความวิตกกังวลถ้าหากเกิดขึ้นเรื้อรัง ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่อันตรายมากขึ้นได้ โดยส่งผลต่อร่างกายดังนี้
 ต่อหัวใจ
           ความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เรื้อรังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการเต้นของหัวใจ  รวมถึงโรคความดันโลหิตและระดับฮอร์โมนความเครียดที่มีมากเกินไป โดยสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยอีกว่า ความเครียดในระยะยาวเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดได้
 ต่อปอด
           การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดและวิตกกังวลกับโรคหอบหืด และผู้ที่เป็นโรคหอบหืดก็มีแนวโน้มที่จะพบกับอาการหวาดผวาได้อีกด้วย ซึ่งในการศึกษาพบว่าความเชื่อมโยงของความเครียดที่เรื้อรังและโรคหอบหืดมีผลกระทบอยู่ในอัตราส่วนที่สมดุลกัน นอกจากนี้ยังทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจอ่อนแอลงด้วยค่ะ
 ต่อสมอง
           สมองเป็นอวัยวะที่จะได้รับผลกระทบจากความเครียดเรื้อรังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจหรือกายภาพ ซึ่งความเครียดเรื้อรังสามารถส่งผลต่อความจำไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว รวมทั้งการผลิตสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ความเครียดระยะยาวยังทำให้ระบบประสาททำงานหนักขึ้น จนร่างกายเกิดความเมื่อยล้าและอาการปวดต่าง ๆ ได้ และความเครียดที่เรื้อรังยังกระทบต่อการนอนหลับทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอค่ะ
 ต่อระบบภูมิคุ้มกัน
           ความเครียดไม่เพียงส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาพบว่าเมื่อคนเราเครียด ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นไข้หวัดได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการอักเสบได้มากขึ้น
 ต่อระบบย่อยอาหาร
           อาการท้องผูก อาหารไม่ย่อย หรือภาวะเครียดลงกระเพาะ อาการเหล่านี้เป็นผลกระทบมาจากความเครียด ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงในระยะยาวต่อระบบลำไส้ได้ ทำให้การดูดซึมและการย่อยอาหารไม่ดีเท่าที่ควร และเป็นสาเหตุภาวะลำไส้แปรปรวนได้
           ไม่เพียงแค่นั้น ความเครียดยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอ้วนได้ โดยจากการศึกษาพบว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานจะลดความไวของอินซูลินในเลือดได้ ทำให้อินซูลินไวต่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังมีการงานวิจัยอื่น ๆ ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีความเครียดกับการหายของแผลอีกด้วยเช่นกัน
           ความเครียด และความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกายไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือการลดภาวะความเครียดของตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ  แต่ก็ต้องเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพด้วยนะคะ เพราะถ้าหากเราใช้วิธีผิด ๆ อย่างเช่นการพึ่งแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็อาจจะทำให้สุขภาพของเรายิ่งแย่กว่าเดิม คราวนี้ล่ะอาจจะทำให้ล้มหมอนนอนเสื่อกันได้ง่าย ๆ เลยนะจะบอกให้

อัพเดทล่าสุด