ทำอย่างไรดี! เป็นอีสุกอีใสตอนโต


2,154 ผู้ชม


ทำอย่างไรดี! เป็นอีสุกอีใสตอนโต

อีสุกอีใส โรคที่ใครๆก็ต้องเคยเป็น ส่วนใหญ่เราจะเป็น อีสุกอีใส กันตอนเด็กๆ จำได้เลยว่าแม้จะป่วยแต่ก็รู้สึกดีใจที่ไม่ต้องไปโรงเรียนหลายๆวัน ได้เล่นอยู่ที่บ้าน เพราะถ้าไปโรงเรียนก็จะพาเชื้อไปติดเพื่อนคนอื่นๆด้วย ได้หยุดอยู่บ้านกันเป็นอาทิตย์เลย แต่ถ้าเป็นตอนโตคงจะไม่ได้รู้สึกเหมือนตอนเด็กๆ เพราะ อีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อที่ต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน เลยทำให้เสียการเสียงาน แล้วยิ่งถ้าเป็นในช่วงเวลาสำคัญๆ อย่างเช่น วันที่ต้องสอบ ต้องส่งงานชิ้นสำคัญ หรือวันที่มีประชุมงานสำคัญ ก็จะทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้นด้วย ไหนจะผลของแผลเป็นที่ตามมา ซึ่งจะรักษายากยิ่งกว่าตอนเด็กๆเสียอีก วันนี้มาดูกันดีกว่าว่า เมื่อเราเป็น อีสุกอีใส ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

ทำอย่างไรดี! เป็นอีสุกอีใสตอนโต

โรคอีสุกอีใส คืออะไร

โรคอีสุกอีใส (Chicken pox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด โรคงูสวัด (Herpes Zoster) ติดต่อได้ด้วย การไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้เป็นโรค โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวตามลำดับ

อาการของโรคอีสุกอีใส

เด็กที่เป็นโรคอีสุดอีใสจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัดขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ต่อมากลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน หรือดูคล้ายตุ่มหนอง และมีอาการคัน 2-4 วัน ต่อมาก็ค่อยๆ ตกสะเก็ด บางคนมีแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย และมีอาการเจ็บคอ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็กเล็ก โดยทั่วไปผื่นและตุ่มจะหายโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้ว มักจะมีเชื้อหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งอาจออกมาเป็นโรคงูสวัดภายหลังได้

อาการแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใส

อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายอาจจะกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ และปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ใช้ยารักษามะเร็งหรือสเตอรอยด์  เชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสอาจจะกระจายรุกลามไปยังอวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ เป็นต้น

การรักษา

เนื่องจาก โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่หายเองได้ โดยมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการ กลุ่ม “ไรน์” (Reye’s syndrome) ได้ ทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาด กรณีที่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน ควรตัดเล็บให้สั้นและหลักเลี่ยง การแกะ หรือเกาตุ่ม ในรายที่มีอาการคันมาก อาจให้รับประทานยาช่วยลดอาการคันหรือใช้ผ้า gauze ชุบน้ำเกลือล้างแผลปิดบาดแผล

ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส แต่ต้องใช้ขนาดสูงและแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรกที่มีอาการมิฉะนั้นอาจไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ โรคอีสุกอีใส

  • โรคนี้เมื่อเป็นแล้วอาจมีโอกาสเป็น งูสวัด ได้ในภายหลัง
  • ควรแยกผู้ป่วยออก เพื่อป้องกันการติดต่อ ทั้งนี้ระยะแพร่เชื้อจะเริ่ม ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนที่มีผื่นหรือตุ่มขึ้นจนถึงตุ่มแห้งตกสะเก็ดหมดแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ในระยะนี้ผู้ป่วย ต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน
  • เชื้อไวรัสอีสุกอีใส (Varicella zoster) สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการหรือเป็นโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะมารดาติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ภายใน 20 สัปดาห์แรก
  • โรคนี้ไม่มีของแสลง แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และอาจดื่มนมเสริม เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค
  • ปัจจุบันมีวันซีนป้องกัน โรคอีสุกอีใส แล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า 90% และใช้กันอย่างแพร่หลาย ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกุมารแพทย์ทุกท่าน

ความเชื่อเรื่องโรคอีสุกอีใส

  • โรคอีสุกอีใส เป็นเองก็หายเองได้ ไม่ต้องฉีดวัคซีน – เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโรคอีสุกอีใสสามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้จากการติดเชื้อจากแผลที่เกิดขึ้น ทั้งตัว และอาจเสียชีวิตได้จากการโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดติดเชื้อ
  • ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใส ห้ามกินไข่เพราะจะเป็นแผลเป็น – เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะไม่มีอาหารชนิดใดเป็นของแสลงกับโรคอีสุกอีใส ที่สำคัญตือผิวต้องการการดูแลและการบำรุงจากโปรตีนมากขึ้น เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค
  • โรคอีสุกอีใสเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก – เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะปัจจุบันมีไวรัสโรคอีสุกอีใสสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิม จึงสามารถเป็นอีสุกอีใสได้อีกโดยเฉพาะในผู้ใหญ่
  • ฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้วจะไม่เป็นอีสุกอีใส – เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 90% ซึ่งมีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ เพียงแต่จะทำให้อาการน้อยลงและใช้เวลาในการเป็นโรคสั้นลง
  • โรคอีสุกอีใสต้องกินยาเขียวหรือยาหม้อจะได้หายเร็ว – เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในยาเขียว ยาหม้อที่อ้างสรรพคุณขับเชื้ออีสุกอีใสให้ออกมาจากตัวนั้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (Steroid) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันจนทำให้เชื้ออีสุกอีใสที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษมีภัย ลามกระจายไปยังอวัยวะสำคัญในร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้
  • อาบน้ำต้มผักชีช่วยให้อีสุกอีใสหายไว – ความเชื่อนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และเผยแผ่ตามหลักวิชาการ แต่สรรพคุณของผักชีคือเป็นพืชธาตุเย็นที่ช่วยลดอาการผื่นแดง แต่สำหรับการใช้รักษาโรคอีสุกอีใสยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าได้ผลจริง

ได้รู้จัก อีสุกอีใส และวิธีการดูแลตัวเองไปแล้ว แต่อีกข้อที่สำคัญก็คือ ความเครียด ถ้าเราเกิดต้องเป็นอีสุกอีใสขึ้นมาจริงๆ แม้จะต้องมีงานสำคัญก็ตาม ก็ควรจะรักษาตัวเองให้หายดีเสียก่อน ไม่ใช่แค่ตัวเองที่จะแย่ แต่ถ้าเราออกไปข้างนอกในตอนที่เราป่วย อาจจะทำให้เชื้อแพร่ไปสู่คนอื่นๆได้ด้วย

อัพเดทล่าสุด