Sibutramine ยาลดความอ้วนที่ควรรู้


1,452 ผู้ชม


Sibutramine ยาลดความอ้วนที่ควรรู้

Sibutramine ยาลดความอ้วนที่ควรรู้

“ยาลดน้ำหนัก” หรือ “ยาลดความอ้วน” นับได้ว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักที่ดีและเห็นผลในระยะเวลาไม่นาน แต่ในปัจจุบันพบว่าจำนวนการใช้ยาลดความอ้วนอย่างผิดวิธีนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย และยาลดความอ้วนสามารถหาซื้อได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต ร้านขายยาหรือคลินิกที่ไม่มีการซักประวัติตรวจร่างกายอย่างเหมาะสม ส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยา เช่น รับประทานยาเกินขนาด หรือรับประทานยาลดความอ้วนโดยไม่ทราบว่าตนเองเป็นข้อห้ามใช้ของยาดังกล่าว เป็นต้น ยาลดความอ้วนที่พบว่ามีการใช้อย่างผิดวิธีค่อนข้างมากในปัจจุบัน คือ sibutramineและ phentermine (อ่านข้อมูล phentermine เพิ่มเติมในหัวข้อ “ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยาลดความอ้วน Phentermine” ; https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=7)

Sibutramine คืออะไร
Sibutramine เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาและควบคุมโรคอ้วน (obesity)และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งห้ามซื้อขายในร้านขายยาโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ยับยั้งการเก็บกลับ (reuptake) ของสารสื่อประสาทจำพวก ซีโรโทนิน (serotonin)และ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine) ที่บริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamic area) ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น รวมทั้งสามารถกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ด้วยเช่นกัน
การใช้ยา sibutramine ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร
การใช้ยาลดความอ้วนควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และมักจะเริ่มใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กก/ม2 หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กก/ม2 ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงผิดปกติ โดยผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายก่อนใช้ยาเสมอเพื่อตรวจสอบว่ามีข้อห้ามของการใช้ยาหรือไม่

ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
(ส่วนสูงเป็นเมตร) 2

ขนาดการใช้เริ่มต้นของยา sibutramine คือ 10 มิลลิกร้ม วันละครั้ง หลังจากนั้น 4 สัปดาห์อาจพิจารณาปรับขนาดยาเพิ่มได้ (ต้องตรวจวัดระดับความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจก่อนปรับยา) ขนาดการใช้ยาสูงสุด คือ 15 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากผู้ป่วยไม่สามารถทนยาได้อาจลดขนาดการใช้ยาลงเหลือ 5 มิลลิกรัม วันละครั้งได้

ข้อห้ามของการใช้ยา sibutramine
ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยา sibutramine อย่างเด็ดขาดเนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากยา
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี (ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย)
-มีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น anorexia nervosa และ bulimia nervosa
- ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่ม Monoamine oxidase inhibitor (MAOI) เช่น selegiline หรือ rasagiline เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง (CNS toxicity) และ serotonin syndrome (หาก

ต้องการใช้ยา sibutramine ควรใช้หลังจากหยุดยากลุ่ม MAOI ไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์)
- ผู้ที่ใช้ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น phentermine เป็นต้น
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา sibutramine
ข้อห้ามของการใช้ยา sibutramine ที่ประกาศเพิ่มเติมโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่21 มกราคม 2553
องค์การอาหารและยาทำการแจ้งเตือนแก่บุคลากรทางการแพทย์ว่าผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) ถือเป็นข้อห้ามใช้สำหรับการใช้ยา sibutramine เนื่องจากการใช้ยา sibutramine ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และการเกิด stroke ของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้คำเตือนดังกล่าวอาศัยข้อมูลจากการศึกษา “SCOUT” (Sibutramine Cardiovascular Outcomes Trial)ที่ระบุว่าผู้ป่วยน้ำหนักเกินที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปและมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้นสัมพันธ์กับการใช้ยา sibutramineอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ผู้ป่วยที่จัดว่าเป็นโรคในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
-ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (coronary artery disease; CAD) เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction)หรือ มีอาการปวดเค้นหน้าอก (angina)
-ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว (heart failure)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (heart arrhythmia)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripherial arterial disease)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น stroke และ transient ischemic attack
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ เช่น ผู้ที่ป่วย ที่มีความดันโลหิต > 145/90 mmHg
บุคลากรทางการแพทย์ควรมีการติดตามระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยที่ได้รับยา sibutramine อยู่เสมอ และควรให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยา sibutramine หากยังเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้หากผู้ป่วยไม่สามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 5% จากน้ำหนักเดิมภายใน 3-6 เดือนแรกของการรักษาด้วยยา sibutramineแพทย์ควรให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาเช่นกัน เนื่องจากการรักษาต่อไปนั้นมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ผล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ข้อควรระวังและผลข้างเคียงจากยา sibutramine
ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ควรระวังในการใช้ยา sibutramine เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาได้
- ในระหว่างที่ใช้ยา sibutramine ผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นมี ควรมีการตรวจระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจอยู่เสมอ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกและผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin หรือ aspirin เนื่องจาก มีรายงานการเกิดเลือดออกจากการใช้ยา sibutramine
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ หรือไต รวมถึงผู้ป่วยฟอกไตด้วยเช่นกัน
- ผู้ที่มีประวัติชัก (seizure) เนื่องจากพบรายงานอาการชักจากการใช้ยา sibutramine
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรค neuroleptic marlignant syndrome (NMS)
- ผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่ว เนื่องจากการลดน้ำหนักอาจเป็นสาเหตุในการทำให้เกิดนิ่วได้
- ผลข้างเคียงที่พบได้ในผู้ที่รับประทานยา sibutramine ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และ เบื่ออาหาร
ปฏิกิริยาระหว่าง sibutramine กับยาอื่นๆ
ผู้ที่รับประทานยา sibutramine ควรระมัดระวังการรับประทานยาอื่นๆ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ เช่น
- ยาที่มีผลเพิ่มซีโรโทนิน(serotonergic agent) เช่น tramadol, ergotamine, ยากลุ่ม triptans,lithium, venlafaxine, fluoxetine, sertraline, paroxetine และ selegilene เนื่องจากการใช้ยา sibutramine ในผู้ป่วยเหล่านี้อาจเสี่ยงต่อการ เกิดภาวะที่เรียกว่า serotonin syndromeซึ่งจะมีอาการใจสั่นความดันโลหิตสูงขึ้น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กล้ามเนื้อ กระตุก (myoclonus) และสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า กังวล หวาดระแวง เป็นต้น
- ยาที่มีผลยับยั้งเอนไซม์ Cytochrome P450 ชนิด 3A4 (CYP3A4) เช่น azithromycin, clarithromycin, ketoconazole, ritonavir, cimetidineหรือ verapamil เป็นต้น เนื่องจากยา sibutramine จะถูกทำลายโดยเอนไซม์ CYP3A4 หากผู้ป่วยรับประทานยา sibutramine ร่วมกับยาที่มีผลยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 อาจส่งผลทำให้ระดับยา sibutramine ในกระแสเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ายาที่ตนเองรับประทานอยู่นั้นมีอะไรบ้าง
การหาซื้อยาลดความอ้วนมารับประทานเองโดยไม่ได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างเหมาะสมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยา ดังนั้นการใช้ยาลดความอ้วน sibutramine จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกาสั่งจ่ายยา ปรับขนาดยา และเฝ้าระวังการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้อย่างเหมาะสม

บรรณานุกรม
Sibutramine. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Feb 12. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Apr 12].
Sibutramine. In: DrugPoint® Summary. [Online]. 2010 Feb 12. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Apr 12].

ขอบคุณข้อมูล จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/16/Sibutramine-ยาลดความอ้วนที่ควรรู้/

อัพเดทล่าสุด