แนะกลุ่มโรคประจำตัว เช็คร่างกายก่อนทำฟัน
กรมอนามัย แนะผู้ที่มีโรคประจำตัว "ลูคีเมีย-หัวใจ-ไต-หอบหืด-ลมชัก" ปรึกษาหมอเฉพาะทาง เตรียมความพร้อมร่างกายก่อนพบทันตแพทย์ หวั่นอาการกำเริบระหว่างรับบริการ
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถานการณ์สุขภาพช่องปากและฟันของคนไทย พบว่า คนไทยยังมีปัญหาสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-44 ปี และผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันผุที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการอุดฟันถึง 2 ใน 3 หรือกว่าร้อยละ 60 และกลุ่มวัยทำงานจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการถอนฟัน ร้อยละ 26 และเพิ่มเป็นร้อยละ 54 ในกลุ่มผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกันพบว่าในรอบปี กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาเพียงร้อยละ 34 เท่านั้น ส่วนหนึ่งยังไม่ไปพบทันตแพทย์แม้จะมีอาการปวดฟัน ทั้งๆ ที่การดูแลและรักษาสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
"กลุ่มโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อการ รักษาสุขภาพช่องปากและฟันแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือลูคีเมีย โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และใช้ยาละลายลิ่มเลือดโรคตับ
2.กลุ่มโรคที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และการได้รับยาสเตียรอยด์ โรคลมชักและโรคความดันโลหิตสูง โรคประจำตัวเหล่านี้ หากแจ้งให้ทันตแพทย์รู้ก่อน จะสามารถเตรียมป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาการกำเริบได้" นพ.พรเทพกล่าว
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ก่อนรักษาฟัน ทันตแพทย์จะต้องวินิจฉัยอาการ หากจำเป็นต้องถอนฟัน ทันตแพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์อย่างถี่ถ้วน และจะทำการเอกซเรย์ฟันซี่นั้น เพื่อตรวจหารอยโรคที่อาจซ่อนอยู่และเป็นสาเหตุของการปวดฟันหรืออาการฟันโยก คลอน เช่น เนื้องอก ถุงน้ำ บริเวณรากฟันซี่นั้น
"แม้จะเตรียมความ พร้อมแล้ว บางกรณียังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากการถอนฟันที่ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้า เช่น มีความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ ซึ่งบังเอิญรอยโรคดังกล่าวอยู่บริเวณปลายรากฟันพอดี เมื่อถอนฟันซี่นั้นออก เลือดจึงไหลไม่หยุดต้องห้ามเลือดอย่างถูกวิธี" ทพ.สุธากล่าว
ที่มา: สนุกออนไลน์