เฝ้าระวัง ... อาการปวดเกร็งตอนท้อง


2,068 ผู้ชม



          อาการปวดเกร็งเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แม่ท้องจึงต้องคอยหมั่นตรวจเช็คตัวเองเป็นพิเศษ วันนี้เรามีเกร็ดน่ารู้ในการดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดท้องหรือปวดเกร็ง รวมทั้งวิธีรับมือกับอาการปวดท้อง พร้อมแล้วไปดูคำแนะนำที่นิตยสารรักลูกนำมาฝากกันเลยดีกว่าค่ะ ^^
          อยู่ ๆ ก็ปวดท้องขึ้นมา เป็นอาการธรรมดา น่าเป็นห่วง หรือมาจากสาเหตุอะไร แม่ท้องต้องคอยสังเกตอาการนะคะ เพื่อจะรับมือได้ทันและถูกต้องค่ะ
ปวดท้องหลากหลายในแม่ท้อง

 1. ปวด เพราะตัวอ่อนฝังตัว

เช็กอาการ

         > ปวดบริเวณท้องน้อยตรงกลาง
         > ปวดแบบบีบ ๆ เป็นพัก ๆ คล้ายปวดระดู
          เกิดจาก : การฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้เกิดมีปฏิกิริยาหดรัดตัวของมดลูกขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งอาจมีอาการปวดจี๊ด ๆ ขึ้นมาแบบกะทันหันได้
          วิธีดูแล : หากไม่มีเลือดออกที่ผิดปกติ หรืออาการไม่รุนแรงให้เดินน้อย ๆ แต่ถ้ามีอาการบ่อยขึ้น ควรนั่งพักหรือนอนพักหลีกเลี่ยงการยกของหนัก งดเพศสัมพันธ์ อาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่อายุครรภ์ 4 เดือน
 2. ปวด เพราะเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกตึง

เช็กอาการ

         > ปวดบริเวณท้องน้อยเหนือขาหนีบทั้งสองข้าง
         > ปวดแปล๊บ ๆ มักปวดขึ้นมาแบบกะทันหัน
         > เกิดทันทีหลังจากที่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือมีการเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน
          เกิดจาก : บริเวณยอดมดลูกขยายใหญ่ขึ้น  มีขนาดโตและเอียงไปทางขวา ทำให้เส้นเอ็นส่วนล่างทางซ้ายถูกตึงยืดจนตึง เกิดการตึงของเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกบริเวณขาหนีบ เวลาเปลี่ยนท่า จึงมีอาการปวดท้องแปล๊บ ๆ ได้ ส่วนใหญ่เกิดช่วงปลายไตรมาสที่สอง และจะปวดข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา
          วิธีดูแล : อาการจะเปลี่ยนแปลงตามสรีระ การพักเส้นเอ็นไม่ให้ตึงและเจ็บ ทำได้โดยการบริหารง่าย ๆ ดังนี้
         > เวลานอนให้งอเข่าเล็กน้อย ใช้หมอนหนุนใต้เข่าเพื่อลดการตึงของเส้นเอ็น หรือเวลาเปลี่ยนท่านอนแล้วเจ็บ ให้นั่งพักสักครู่ โดยนั่งงอเข่าและสะโพก สักพักอาการจะดีขึ้น
         > เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มดลูกยืดขยาย ท้องจะโย้ไปข้างหน้าอาการปวดก็จะยิ่งมากขึ้น คุณแม่ควรสวมกางเกงพยุงหน้าท้องที่ทำพิเศษสำหรับแม่ท้อง หรือสวมเข็มขัดพยุงหน้าท้อง ที่ขนาดพอดีกับรอบท้องและสะโพก เพื่อพยุงส่วนของมดลูก จะช่วยให้อาการปวดจากการตึงของเอ็นเกิดได้น้อยลง
         > นั่งท่าที่เหมาะสม คือนั่งหลังตรง อาจใช้หมอนหนุนหลังส่วนล่าง และหาเก้าอี้เตี้ย ๆ มารองเท้าทั้งสองข้าง เพื่อให้นั่งอยู่ในท่างอเข่าและสะโพก ช่วยลดการตึงของเส้นเอ็นได้
         > หลีกเลี่ยงยกของหนัก และเอี้ยวตัวหยิบของไกล ๆ ซึ่งจะทำให้หน้าท้องเกร็ง และเจ็บได้
         > ออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของหน้าท้องและหลัง ด้วยโยคะหรือเดินเหยาะ ๆ ในน้ำ เพื่อให้ร่างกายรับน้ำหนักได้ดีช่วยบริหารบริเวณอุ้งเชิงกรานลดปวดได้
 3. ปวด เพราะเจ็บเตือน
เช็กอาการ
         > ปวดท้องคล้ายเวลาปวดระดู หรือคล้ายปวดถ่ายอุจจาระร่วมกับการหดรัดตัวบริเวณยอดมดลูกเหนือสะดือ จนเห็นผิวนูนขึ้นมาเป็นลูก
         > ปวดแต่ละครั้งจะนานไม่ถึงหนึ่งนาที และเกิดได้วันละ 2-3 ครั้ง
         > มักปวดเยอะตอนเย็น ๆ ซึ่งผ่านการมีกิจกรรมมาทั้งวัน หรือหลังภารกิจที่เดินเยอะ ยกของหนัก หรือกลั้นปัสสาวะ
          เกิดจาก : ทารกในครรภ์เจริญเติบโตมากขึ้น มดลูกขยายใหญ่ขึ้น และน้ำหนักทารกมากพอจนเริ่มกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวเกิดอาการเจ็บเตือนได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สาม
          วิธีดูแล : หากมีอาการดังกล่าว คุณแม่ควรนอนพัก โดยนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้มดลูกมีการคลายตัว ทำให้รู้สึกหายปวด และหลีกเลี่ยงการเดินเยอะหรือยกของหนัก ไม่กลั้นปัสสาวะ
          ถ้ามีอาการถี่มากขึ้น เช่น ทุก 5-10 นาที และสม่ำเสมอแสดงว่ามีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด ควรรีบไปพบแพทย์
 4. ปวด เพราะกรดไหลย้อน
เช็กอาการ
         > แสบร้อนบริเวณกลางอก หรือจุกเสียดร่วมด้วย
         > แสบคอ เสียงแหบ หรือมีเสมหะในตอนเช้าร่วมด้วย
         > อยู่ ๆ ก็ปวดกะทันหันขึ้นมา โดยที่ไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน
          เกิดจาก : โรคกรดไหลย้อน ทำให้ปวดท้องขึ้นมาได้ และมักเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์
          วิธีดูแล : ใส่ใจเรื่องการกินอาหารให้มากขึ้น ดังนี้
         > กินอาหารเป็นมื้อ มื้อละน้อย ๆ แต่บ่อยมื้อ
         > ไม่กินจนอิ่มมากเกินไป กินช้า ๆ เคี้ยวละเอียด
         > ไม่กินอาหารก่อนนอน หรือเอนตัวนอนทันทีหลังอาหาร เพราะทำให้กรดไหลย้อนกำเริบได้ง่าย ๆ
         > หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทในมื้อเย็น เช่น ช็อคโกแลต กาแฟ ผลไม้หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยว หรือรสจัด เพราะอาจส่งผลให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ค่ะ
          ถ้าคุณแม่รู้และเข้าใจอาการปวดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะได้รับมือกับอาการปวดได้เร็วขึ้นค่ะ

ที่มา: กระปุก

อัพเดทล่าสุด