- การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อตั้งครรภ์
- อาการแพ้ท้อง
- อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร
- อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง
- วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง
- การทดสอบการตั้งครรภ์
- วันกำหนดคลอด
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์จะต้องมีอาการเตือนหลายอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแบบขึ้นๆ ลงๆ อย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ต้องปรับให้พร้อมที่จะมีทารกในครรภ์
-
-
-
- ประจำเดือนขาด คุณแม่ที่มีรอบเดือนเป็นปกติและสม่ำเสมอ แล้วหากถึงรอบที่ควรจะมีประจำเดือนมาแต่ยังไม่มีให้ ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจจะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติไม่น้อยกว่า 10 วัน แต่อาการนี้อาจจะไม่ใช่ข้อสังเกตของการตั้งครรภ์เสมอไป เพราะบางครั้งผู้หญิงบางกลุ่มจะประจำเดือนมาช้าได้ เช่น หญิงสาวที่เพิ่งมีประจำเดือนครั้งแรกๆ หญิงวัยกำลังหมดประจำเดือนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรอบเดือนไม่แน่นอน คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมลูก หรือคุณแม่ที่มีความเครียดมากทำให้ไข่ไม่ตก และประจำเดือนขาดได้ นอกจากนี้คุณหมอจะซักประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทุกชนิดที่อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนด้วย
- การเปลี่ยนแปลงของเต้านม สังเกตได้ว่าเต้านมเริ่มคัดตึง ขยายใหญ่ขึ้น หัวนมมีสีคล้ำขึ้น รู้สึกเจ็บ ไวต่อการสัมผัส บริเวณลานหัวนมกว้างออกและมีเส้นเลือดดำสีเขียวๆ กระจายอยู่โดยรอบ การเปลี่ยนแปลงนี้จะเห็นชัดในคุณแม่ครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง
- สีของเยื่อบุช่องคลอด คุณแม่อาจรู้สึกว่าอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานบวมขึ้น เยื่อบุช่องคลอดคล้ำขึ้น เป็นสีน้ำเงินหรือม่วงแดง แต่บางครั้งอาจเป็นอาการอักเสบของอวัยวะในช่องคลอด
- ผิวหนังสีเข้มขึ้นและมีหน้าท้องลาย อาการนี้พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่บางครั้งผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ ก็อาจมีสีผิวเข้มขึ้นได้
- ปัสสาวะบ่อย ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย เพราะมดลูกโตเข้าสู่ช่องท้องไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ แต่หลังจากนั้นการกดทับกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ทำให้ปัสสาวะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อตอนใกล้คลอดศีรษะทารกเคลื่อนต่ำลงมาเข้าสู่ช่องเชิงกราน จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะอีกครั้ง ทำให้ช่วงใกล้คลอดนั้นคุณแม่กลับไปปัสสาวะบ่อยอีก
- อ่อนเพลีย คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อยากนอนหลับตลอดเวลา ถ้าได้พักผ่อนจะสบายขึ้น ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น มีผลทำให้กล้ามเนื้อตามร่างกายมีการเผาผลาญอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็กมากขึ้น ทำให้ร่างกายของปแม่มีอุณหภูมิและสูญเสียพลังงานมากขึ้น
-
-
อาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้อง คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ บางคนอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อย ขณะที่บางคนมีอาการรุนแรงมากจนรับประทานอาหารไม่ได้เลย
อาการแพ้ท้องพบได้บ่อยที่สุดช่วงหลังตื่นนอนใหม่ๆ คำศัพท์ในต่างประเทศจึงมักเรียกว่า Morning Sickness แต่ก็สามารถเกิดขึ้นช่วงบ่ายหรือเย็นก็ได้
โดยทั่วไปอาการแพ้ท้องมักปรากฏในช่วงตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์ และกินเวลาต่อไปอีก 6 – 12 สัปดาห์ เพราะฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากการตั้งครรภ์ไปรบกวนระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้หรือรู้สึกพะอืดพะอม บางครั้งอาจอาเจียน
อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร
สาเหตุของการคลื่นไส้อาเจียนที่เรียกกันว่า “แพ้ท้อง” นั้นจริงๆ แล้วยังไม่ทราบกลไกที่แน่นอน แต่พบว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นจากภาวะต่างๆ ดังนี้
-
-
-
- ระดับของฮอร์โมนที่สร้างจากรก ซึ่งเรียกว่า Chorionic Gonadotropin จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนแรกๆ ของการตั้งครรภ์ และทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก แต่หลังจาก 3 เดือนไปแล้วระดับฮอร์โมนนี้จะลดลง อาการคลื่นไส้อาเจียนก็น้อยลงหรือหายไป
- คุณแม่ที่แพ้ท้องมากๆ บางคนอาจจะเกิดจากการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น ครรภ์แฝด (รกใหญ่กว่าปกติ) และครรภ์ไข่ปลาอุก (รกเจริญผิดปกติและไม่มีตัวเด็ก) ทั้งสองภาวะนี้ฮอร์โมนจากรกอยู่ในกระแสเลือดของแม่มาก ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าปกติ และอาจเป็นอยู่นานกว่าคนที่ตั้งครรภ์ปกติอีกด้วย
- สภาพจิตใจของคุณแม่ที่ไม่ปกติ เช่น คุณแม่ที่กลัวการคลอดลูก ไม่อยากตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทางครอบครัว ก็อาจจะแสดงออกโดยการคลื่นไส้อาเจียนมาก ขณะเดียวกันคุณแม่ที่อยากมีลูกหรือดีใจมากก็อาจจะมีอาการแพ้ท้องได้มากเช่นกัน
-
-
เราคงเคยได้ยินหรือได้พบคุณพ่อบางคนที่แพ้ท้องแทนคุณแม่ ก็มาจากสาเหตุเดียวกัน คือสภาพจิตใจของคุณพ่อ ซึ่งอาจจะอยากมีลูกมากหรือวิตกกังวลมากเกินไปนั่นเอง
อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง
-
-
-
- เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนในตอนเช้า (Morning Sickness) บางคนเกิดอาการตลอดทั้งวันโดยเฉพาะเวลาท้องว่าง อาจทำให้เป็นลมเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำได้หลายคนมีอาการมากจนน้ำหนักตัวลด
- อยากกินของแปลกๆ ที่ไม่เคยกินหรือกินไม่ได้ เช่น ดินสอพอง ดอกไม้ ทุเรียนดิบ น้ำอัดลม อาหารแปลก ฯลฯ หรือกินไม่ลง เป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มระดับขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ ทำให้ไม่ค่อยรับรู้รสชาติ
- อาการเหม็น คุณแม่บางคนอาจเหม็นกลิ่นกระเทียมหรือน้ำหอมที่คุ้นเคย ทั้งๆ ที่เคยกิน หรือดมได้ บางครั้งคุณแม่อาจรู้สึกเหม็นกลิ่นตัวคุณพ่อด้วยก็ได้
-
-
วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องอาจจะทำให้บางคนอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย รู้สึกรำคาญ เบื่อตัวเองเครียด หรืออ่อนเพลีย แต่มีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องให้น้อยลงหรือหายไปได้
-
-
-
- เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น นมอุ่นๆ น้ำเต้าหู้ ช็อกโกแลตร้อนๆ น้ำผลไม้ หรือน้ำหวาน โดยดื่มประมาณครึ่งแก้ว แล้วนอนพักต่ออีกสักครู่จึงค่อยลุกขึ้น
- อาหารควรเป็นประเภทแป้งที่ย่อยง่าย เช่น ขนมปังปิ้ง ขนมปังกรอบ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว และต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก อาหารทอด และอาหารที่มีกลิ่นฉุน เพราะอาจทำให้อาเจียนมากขึ้น
- ควรทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่ให้ถี่วันละหลายๆ มื้อ กินอาหารแล้วควรดื่มน้ำแต่น้อย ถ้าจะให้ดีควรเว้นไปประมาณ 1 ชั่วโมง
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การดูแลเอาใจใส่จากสามีและผู้ใกล้ชิดทำให้คุณแม่มีกำลังใจดี และช่วยให้อาการแพ้ท้องลดลงมาก
- คุณแม่ต้องระลึกเสมอว่า อาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตลอด ส่วนใหญ่จะหายไปหลังจากตั้งครรภ์ 3 เดือนไปแล้ว
- ถ้าอาเจียนและอ่อนเพลียมากๆ อย่าซื้อยาแก้อาเจียนรับประทานเอง แต่ควรไปหาหมอก่อนวันนัด เพราะอาจจะเกิดภาวะเป็นกรดในเลือดสูง (Acidosis) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารก ถ้าแพ้ท้องมากก็อาจจะให้น้ำเกลือฉีดยาแก้อาเจียนให้หรือรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
-
-
การทดสอบการตั้งครรภ์
การทดสอบการตั้งครรภ์เป็นการตรวจหาฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรก โดยเริ่มผลิตหลังจากเกิดการปฏิสนธิแล้ว 6 วัน และจะมีปริมาณฮอร์โมนขึ้นสูงสุด 8-12 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ควรทดสอบการตั้งครรภ์คือ 1 เดือนหลังประจำเดือนครั้งสุดท้าย
-
-
-
- ตรวจปัสสาวะ การตรวจนี้เป็นการทดสอบหาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 ในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่ 10–14 วันขึ้นไป สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลหรือใช้ชุดอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
- ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการตรวจอัลตราซาวนด์ จะช่วยยืนยันว่าการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกเป็นไปตามปกติ หากตรวจปัสสาวะแล้วได้ผลบวก ตรวจอัลตราซาวนด์จะรับรองผลได้ดีขึ้น
- ตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก คุณหมอสามารถใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังเสียงเต้นของหัวใจทารกได้ หากมีอายุครรภ์ประมาณ 17–18 สัปดาห์ แต่วิธีนี้จะตรวจหลังจากมีการตรวจยืนยันว่าตั้งครรภ์จริง
- ตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมน HCG ตรวจพบได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น วิธีนี้จะใช้เฉพาะในกรณีที่คุณแม่กำลังรักษาภาวการณ์มีบุตรยาก หรือคุณแม่มีประวัติการแท้งบ่อยๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อป้องกันการแท้ง
-
-
วันกำหนดคลอด
ตลอดอายุครรภ์ถึงวันคลอดจะใช้เวลาประมาณ 280 วันหรือ 40 สัปดาห์ ซึ่งเริ่มนับจากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ดังนั้นแพทย์จึงมีสูตรคำนวณวันกำหนดคลอดอย่างง่ายๆ คือ นับจากวันแรกของรอบเดือนครั้งสุดท้าย จากนั้นนับย้อนเดือนที่มีประจำเดือนขึ้นไป 3 เดือน แล้วบวก 7
สมมติว่าวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือ 9 ธันวาคม 2555 คุณแม่จะมีวันกำหนดคลอดในวันที่ 16 กันยายน 2556 ซึ่งได้มาจากการนำ 9 ไปบวกกับ 7 แล้วนับถอยหลังจากธันวาคมขึ้นไป 3 เดือน คือ พฤศจิกายน ตุลาคม และกันยายน
การกำหนดวันคลอดวิธีนี้จะได้ผลแม่นยำมากในกรณีที่คุณแม่จำวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้ และหากมีรอบเดือนสม่ำเสมอในทุก 28–30 วัน และคุณแม่ส่วนใหญ่มักคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์