กระดูกพรุนคือ ภัยเงียบในผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง และผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคกระดูกพรุน คือภาวะที่เนื้อเยื่อกระดูกผุกร่อนไปจากปกติ โดยมีสาเหตุมาจากกระบวนการเสริมสร้างกระดูกลดลงและเนื้อเยื่อเสื่อมสลายในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ตามปกติเพศหญิงจะมีมวลกระดูกน้อยกว่าเพศชาย เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน เพศหญิงจึงมีอัตราการสูญเสียมากกว่า
สำหรับอาการของโรคกระดูกพรุนมักจะไม่แสดงอาการเตือนภัยใดๆ อาจมีแค่ปวดเมื่อย คนทั่วไปมักไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกว่าจะเข้ารับการรักษากระดูกจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม หรือโค้งงอ ตัวเตี้ยจากการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง
การป้องกันคือ สะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น พยายามรักษาปริมาณเนื้อกระดูกให้คงเดิมมากที่สุดในวัยก่อนหมดประจำเดือน และชะลอการถดถอยของเนื้อกระดูก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักในวัยหลังหมดประจำเดือน โดยเฉพาะตำแหน่งที่อาจเกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ
นอกจากนี้ ควรเลือกกินอาหารที่มีแคลเซียม 800-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และควรกินแคลเซียมหลังอาหารเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน เช่น นม เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ถั่วแดง งาดำ อาหารทะเล ผักใบเขียวทุกชนิด ดื่มน้ำที่มีสารฟลูออไรด์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรเพิ่มการดูดซึมสารแคลเซียม โดยเพิ่มวิตามินดีในรูปของอาหารหรือยา อาหารวิตามินดีสูง ได้แก่ นม น้ำมันตับปลา เนยแข็ง เนย ไข่ และตับ เป็นต้น
การได้รับแสงแดดสามารถเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีทางผิวหนังได้ด้วย (กรอบบ่าย)
เนื้อหาโดย : นสพ.มติชน และสนุกออนไลน์