ปัสสาวะเป็นฟองเบียร์ ใช่โปรตีนรั่วหรือไม่


3,938 ผู้ชม


ปัสสาวะเป็นฟองเบียร์ ใช่โปรตีนรั่วหรือไม่

เคยสังเกตว่า ปัสสาวะของคุณมีสีหรือฟองเกิดขึ้นหรือไม่?

          เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าลองหันกลับมามองดูสักนิดว่า ปัสสาวะที่ขับออกมานั้นมีสี และเกิดฟองผิดปกติหรือไม่ หากพบว่าเมื่อปัสสาวะออกมา มีฟองมากในชักโครก นั่นอาจเป็นอาการเบื้องต้นของโรคไตรั่ว หรือเนโฟรติก (Nephrotic) 

          สาเหตุของโรคไตรั่วเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดฝอยในไต ทำให้มีโปรตีนหรือไข่ขาว (Albumin) รั่วออกมา ในปัสสาวะเป็นปริมาณที่มาก นอกจากปัสสาวะมีฟองมากแล้ว โรคไตรั่วยังพบอาการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หลังมือ หลังเท้า หน้าแข้ง โดยจะสังเกตได้ว่า อาการบวมนี้ ถ้าเราเอานิ้วกดลงบริเวณที่บวมแล้วยกนิ้วขึ้นจะเห็นรอยยุบบริเวณที่นิ้วกดค้างอยู่ให้เห็น

          การตรวจเลือดและปัสสาวะจะสามารถให้การวินิจฉัยโรคไตรั่วได้ โดยการตรวจปัสสาวะจะพบโปรตีนหรือไข่ขาว (Albumin) เป็นปริมาณมาก ส่วนการตรวจเลือดจะพบไข่ขาว (Albumin) ในเลือดต่ำ และอาจมีไขมันในเลือดสูง การทำงานของไตบกพร่องร่วมด้วย

 

          แล้วไข่ขาวในปัสสาวะหายเองได้หรือไม่ ไข่ขาวที่สามารถสลายหายได้เองนั้นมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

          1.ไข่ขาวในปัสสาวะที่หายเองได้ Transient proteinuria มักจะพบในคนที่มีไข้ หรือออกกำลังกาย อยู่ในที่หนาว หรือมีความเครียด ไข่ขาวนี้หายได้เอง เมื่อภาวะที่กระตุนดังกล่าวหายไปแล้ว ภาวะนี้จะไม่กลายเป็นไตวายปริมาณไข่ขาวมักจะน้อยกว่า 1 กรัมต่อวัน

          2.ไข่ขาวในปัสสาวะเมื่ออยู่ในท่ายืน Orthostatic (postural) proteinuria ไข่ขาวมักจะน้อยกว่า 1 กรัมต่อวันจะตรวจพบเมื่ออยู่ในท่ายืน เมื่อนอนไข่ขาวก็จะหายไป

          3.เมื่อตรวจปัสสาวะ 2-3 ครั้งยังพบไข่ขาวทุกครั้งที่ตรวจเราเรียกว่า Persistent proteinuria ซึ่งจะบ่งว่ามีโรคที่ไต ปริมาณไข่ขาวก็สามารถบอกตำแหน่งของโรคไตได้

          หากมีอาการโปรตีนหรือไข่ขาว (Albumin) รั่วออกมาและส่วนต่างๆ ของร่างกายมีอาการบวม ควรปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังและไตวายได้ นอกจากนั้นควรลดและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม

 

          พฤติกรรมที่เกิดจากความเคยชินในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่พึงกระทำเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและส่งสารอาหารที่เหมาะสมเข้าไปซ่อมแซมร่างกาย โดยมีปริมาณที่พอดีกับร่างกายของแต่ละคน ไม่มากหรือน้อยเกินไป 

แผนกอายุรกรรม 

โรงพยาบาลไทยนครินทร์

ที่มา:คมชัดลึก

อัพเดทล่าสุด