ภัยเด็กในรถยนต์ รู้ไว้..ก่อนเสียใจ


2,933 ผู้ชม

ปัญหามีว่า...ความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารที่เป็นเด็ก ยังไม่ได้ถูกคำนึงถึงอย่างจริงจังจากผู้ขับขี่ หรือผู้ปกครอง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเท่าที่ควร


ภัยเด็กในรถยนต์ รู้ไว้..ก่อนเสียใจ
ปัจจุบันเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “การเดินทางด้วยรถยนต์” ไม่ว่าจะรถยนต์ธรรมดาส่วนบุคคลหรือรถโดยสารสาธารณะก็ตาม ถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในสังคม

ซึ่งมีกฎหมายออกมาคุ้มครองทั้งตัวผู้ขับขี่รถยนต์ ผู้โดยสาร หรือแม้แต่ผู้ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการขับขี่รถนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เป็นต้น เช่นการใช้เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ขับรถและผู้นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ที่ขับรถ

ปัญหามีว่า...ความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารที่เป็นเด็ก ยังไม่ได้ถูกคำนึงถึงอย่างจริงจังจากผู้ขับขี่ หรือผู้ปกครอง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเท่าที่ควร

อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กจากการใช้ที่นั่งเพื่อความปลอดภัยในขณะเดินทาง หรือการใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย (Child safety seat) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า คาร์ซีท (Car seat)

ข้อมูลจากหน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนน...อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน กลุ่มอายุ ต่ำกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2555 อ้างอิงจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยนั้นพบว่า...

อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต่อประชากร 100,000 คนนั้น อยู่ที่ร้อยละ 5.03–7.25 ซึ่งปัจจุบันอัตราดังกล่าวยังไม่มีทีท่าจะลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตนั้นเกิดจากการไม่ใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย และการคาดเข็มขัดนิรภัย

สำหรับในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ได้มีคำแนะนำและกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัยมานานหลายปีแล้ว การใช้ระบบยึดเหนี่ยวเด็กในยานพาหนะหรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัยนั้น ได้มีมาตรฐานของข้อตกลง UN-ECE Regulation 44/04 และของสหภาพยุโรป Directive 77/541/EEC

เพื่อให้แต่ละประเทศสมาชิกออกกฎหมาย โดยมีมาตรฐานเดียวกันในการใช้แบบของคาร์ซีท ท่านั่งสำหรับเด็ก ขนาดของคาร์ซีทที่ใช้โดยจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม...ตามช่วงอายุหรือน้ำหนักของเด็ก ซึ่งโมเดลในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะมีที่นั่งใช้ติดตั้งเพื่อรองรับระบบยึดเหนี่ยวเด็กในรถยนต์อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร มหาแถลง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บอกว่า เบาะนั่งนิรภัย หรือคาร์ซีท สำหรับเด็กนั้น จะถูกออกแบบเพื่อป้องกันเด็กจากการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในระหว่างการเกิดอุบัติเหตุ โดยบริษัทผู้ออกแบบรถยนต์จะผสมผสานที่นั่งเพื่อความปลอดภัยของเด็กเข้ากับการออกแบบภายใน

“รวมถึงเทคโนโลยีของรถยนต์ บทบัญญัติของกฎหมายจะถูกกำหนดโดยอายุ น้ำหนักและ...หรือความสูงของเด็ก ในขณะที่โดยสารในยานพาหนะ”

ยกตัวอย่างในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ออกกฎหมายใน Directive 2003/20/EC แห่งรัฐสภายุโรป และสภาได้มีมติให้ใช้ระบบยึดเหนี่ยวเด็กในยานพาหนะ...เด็กที่สูงน้อยกว่า 150 เซนติเมตรจะต้องใช้ระบบยึดเหนี่ยวเพื่อความปลอดภัย ที่ประกอบไปด้วยที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก และเข็มขัดยึดเหนี่ยวเด็กให้ติดกับที่นั่ง

รวมทั้งเข็มขัดที่จะยึดให้นั่งให้ติดกับเบาะรถ โดยที่ระบบดังกล่าวต้องติดไว้เบาะหน้า หรือที่นั่งของรถในแถวอื่นๆ และห้ามไม่ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กร่วมกับถุงลมนิรภัยที่อยู่ด้านหน้า

ในปี 2556 ได้ประกาศกฎเกณฑ์ในชื่อ “I–Size” ระบบความปลอดภัยเบาะนั่งนิรภัย สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 เดือน คุ้มครองเด็กในช่วงอายุนี้เป็นพิเศษ...โดยเฉพาะในเรื่องการนั่งหันหลังให้กับรถในขณะเดินทาง

ในประเทศออสเตรีย เด็กทุกคนที่มีความสูงไม่เกิน 150 เซนติเมตร (4 ฟุต 11 นิ้ว) และอายุน้อยกว่า 14 ปี ต้องใช้เบาะนั่งนิรภัย (Car seat) หรือเบาะเสริม (Booster) ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว

ส่วนประเทศเยอรมนี เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีและความสูงน้อยกว่า 150 เซนติเมตร และอายุน้อยกว่า 14 ปี ต้องใช้เบาะนั่งนิรภัยหรือเบาะเสริมให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ซึ่ง...กรมการขนส่งทางบกเยอรมันได้แนะนำให้เด็กสามารถเริ่มใช้ที่นั่งตามปกติได้เมื่ออายุ 12 ปี หรือมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปีนั้น นั่งที่เบาะหลังหรือใช้เบาะเสริมสำหรับเด็ก เมื่อเด็กนั่งข้างหน้าเบาะรถยนต์

นอกจากนี้ในสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษ ได้มีกฎหมายออกมาบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีหลักว่า...“เด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 12 ปีจะต้องใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก”

แม้ว่าเด็กจะมีส่วนสูงมากกว่า 135 เซนติเมตร (4 ฟุต 5 นิ้ว) และเด็กจะต้องนั่งหันหลังให้กับรถจนกระทั่งอายุ 15 เดือนขึ้นไปหรือน้ำหนักของเด็กมากกว่า 9 กิโลกรัม ถึงจะสามารถนั่งหันหน้าไปทางเดียวกับรถได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร บอกอีกว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษนั้น ยังกำหนดการเลือกที่นั่งสำหรับเด็ก โดยคำนึงถึงน้ำหนักและส่วนสูงอีกด้วย เช่น เด็กที่น้ำหนักตั้งแต่ 0-25 กิโลกรัม ควรใช้เบาะนั่งนิรภัย หรือที่นั่งสำหรับเด็กแบบที่ปรับหันหลังให้กับรถ เพื่อใช้กับตัวควบคุมเบาะนั่งในรถ

หรือ...เด็กที่น้ำหนัก 22 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถใช้เบาะเสริมสำหรับเด็ก เพื่อยกตัวให้สูงพอที่จะใช้เข็มขัดนิรภัยได้

ในกรณีรถโดยสารสาธารณะ อย่างเช่น แท็กซี่...รถยนต์ที่จ้างส่วนบุคคล...รถบัสหรือรถโดยสารขนาดใหญ่ กฎหมายประเทศอังกฤษให้เด็กสามารถโดยสารรถดังกล่าวได้ แม้จะไม่ได้ใช้ที่นั่งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

ในรายละเอียด...สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี หากไม่มีคาร์ซีทหรือเข็มขัดนิรภัย จะต้องนั่งโดยสารที่เบาะหลังเท่านั้น ในส่วน
ของรถมินิบัส หรือรถโดยสารขนาดเล็ก...เด็กทุกคนที่โดยสารจะนั่งที่นั่งหลังคนขับ ถ้าที่นั่งสำหรับเด็ก หรือที่นั่งสำหรับผู้ใหญ่นั้น เด็กไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้

ในกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ให้ใช้คาร์ซีทหรือที่นั่งสำหรับเด็ก...หากในรถโดยสารดังกล่าวมีจัดไว้ให้ หรือถ้าไม่มีที่นั่งสำหรับเด็ก ให้ใช้ที่นั่งสำหรับผู้ใหญ่แทน โดยต้องคาดเข็มขัดนิรภัย

“หากรถคันไหน ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ถ้าเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ในกรณีที่ที่นั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยด้วย ห้ามเด็กโดยสารรถคันดังกล่าว...ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 3 ปี สามารถโดยสารรถคันดังกล่าวได้แม้ปราศจากเบาะนั่งนิรภัย”

กรณีศึกษาข้างต้นทั้งหมดเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า...การใช้ระบบยึดเหนี่ยวเด็กในยานพาหนะ ซึ่งประกอบไปด้วย “เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก” หรือ “เบาะเสริม” ร่วมกับการใช้ “เข็มขัดนิรภัย” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเด็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร มหาแถลง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ฝากทิ้งท้ายว่า

“วันนี้...ในประเทศไทยแม้จะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้โดยตรงในเรื่องนี้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ออกมาบังคับใช้ในอนาคต หรืออย่างน้อยต้องมีมาตรการส่งเสริมในการใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก...เบาะเสริม ร่วมกับการใช้เข็มขัดนิรภัย”

เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเด็ก ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดทล่าสุด