รู้ยัง? ยางพารา มาจากไหน?


2,208 ผู้ชม

เรื่องของยางพาราหากไปเล่าให้คนเมื่อยุคอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยต้นบางกอกฟังท่านคงจะงงพิลึก...


รู้ยัง? ยางพารา มาจากไหน?
On History

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ราคายางพาราจะตกต่ำลงมาถึงขนาดที่เงิน 100 บาทจะซื้อได้ถึง 4 กิโลกรัม

ราคาอย่างนี้คนซื้อคงจะกระเป๋าไม่แฟบลงสักกี่มากน้อย

แต่เกษตรกร เจ้าของสวนยาง อาจไม่เหลือเงินกลับคืนเข้าไปในกระเป๋าสตางค์ เมื่อหักลบกลบหนี้กับต้นทุนการผลิต แถมส่วนใหญ่อาจกลายเป็นหนี้จากการปลูกยางเสียด้วยซ้ำ

เรื่องอย่างนี้ไปเล่าให้คนเมื่อยุคอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยต้นบางกอกฟังท่านคงจะงงพิลึก

เพราะในโลกยุคก่อนสมัยใหม่ “ยางพารา” เป็นสินค้านำเข้าจากโลกตะวันตก ไม่มีหรอกครับที่จะเห็นสวนยางพาราปลูกกันเต็มพรืด ในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เหมือนอย่างที่เห็นกันจนชินตาในปัจจุบัน

แต่พวกฝรั่งเอง แต่เดิมก็ไม่ได้รู้จักเหมือนกันว่าอะไรที่เรียกว่า ยางพารา?

เพราะยาง แบบที่เราเอามาใช้ทำโน่นนี่นั่น (คือไม่ใช่ น้ำมันยาง ที่ได้จาก ยางนา ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอุษาคเนย์) เป็นพืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง ดังนั้น ชาวยุโรปจึงไม่เคยมีบุญตาจะได้เห็นยางพวกนี้จนกระทั่งหลังการค้นพบอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (อย่างที่รู้กันดีว่าที่จริง โคลัมบัสเขาอยากจะไปอินเดียต่างหาก) เมื่อปี ค.ศ.1492 ตรงกับเรือน พ.ศ.2035

เล่ากันว่า ในผืนแผ่นดินที่ถูกค้นพบใหม่แห่งนั้น ชาวยุโรปได้เห็นรองเท้าที่ผลิตขึ้นจากยางเป็นครั้งแรก

แต่อย่าเพิ่งนึกภาพสารพัดรองเท้าแตะ ที่ผลิตขึ้นจากยางหลายชนิด อย่างที่เห็นกันให้เกลื่อนในปัจจุบันนี้ เพราะรูปร่างหน้าตามันคนละเรื่องกันเลย

ชาวพื้นเมืองท้องถิ่นเหล่านั้นกรีดเอายางของเจ้าต้นไม้ที่เรียกด้วยภาษาพื้นเมืองว่า “caoutchouc” ให้หยดใส่ภาชนะรองไว้ จากนั้นจะตัดรองเท้าให้คนไหน ก็บรรจงเอาเท้าของใครคนนั้นจุ่มลงไปในภาชนะอันเดียวกันนั่นแหละ แค่นี้ก็ได้รองเท้าที่แนบสนิทกับรูปเท้าของคนสวมใส่อย่างพอดิบพอดีเป็นที่สุด

ตามบันทึกของพวกฝรั่งที่หวังจะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ในผืนโลกใหม่แห่งนี้อ้างว่า บางเผ่าในอเมริกาใต้เอาเจ้า caoutchouc มาทำเสื้อกันฝน หรือใช้ทำแผ่นยางกันน้ำ และอีกสารพัดข้าวของเครื่องใช้

แต่ที่ประทับใจเป็นพิเศษสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะคอกีฬาทั้งหลาย ก็น่าจะเป็นการนำยางที่มีชื่อออกเสียงยากเหล่านี้มาทำเป็น “ลูกบอล” นั่นเอง

พวกมายัน ซึ่งเป็นเจ้าของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอารยธรรมหนึ่งในทวีปอเมริกา คืออารยธรรมมายา (Maya Civilization) นั้น นอกจากคนเหล่านี้จะสร้างพีระมิดขั้นบันได ขนาดมหึมา เพื่อบวงสรวงเทพเจ้าแล้ว พวกเขายังเอายาง caoutchouc มาทำเป็นลูกบอล แล้วใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการละเล่นสำหรับบูชาเทพเจ้า

แต่ชาวมายันไม่ได้นำลูกบอลยางเหล่านี้นี้มาเตะแข่งกัน เหมือนกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน พวกเขาแค่ใช้มันเดาะขึ้นเดาะลงเพื่อบูชาเทพเจ้าต่างหาก (บรรดาเทพเจ้าของชาวมายันนี่ก็ดูมีความสุขแปลกๆ พอใจที่เห็นเลือดคน หรือชีวิตคนบ้าง ตื่นเต้นที่มีคนมาเดาะบอลให้ดูบ้าง)

แน่นอนว่านี่เป็นต้นเหตุให้มีบางข้อสันนิษฐานระบุว่า เจ้าการเดาะลูกยางของชาวมายันนี่แหละคือที่มาของกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หลักฐานการละเล่นเจ้าลูกกลมๆ อย่างฟุตบอลในโลกยุคโบราณ ยังมีปรากฏอยู่อีกในหลายอารยธรรม จึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่า การละเล่นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าของพวกมายันคือต้นกำเนิดของการแข่งขันฟุตบอลเสียทีเดียว แต่หลักฐานอย่างนี้ก็ชวนให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่ชาวอเมริกาใต้ จะมีทักษะการจัดการกับลูกฟุตบอลได้อย่างพิเศษ

จนเรียกได้ว่าแทบจะสืบทอดอยู่ใน DNA เสียขนาดนั้น

ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ ไม่ใช่ฝรั่งทุกพวกที่จะเรียก “ยางพารา” ว่า “rubber” เพราะมีแค่ชาวอังกฤษ แล้วก็พวกฮอลันดา เท่านั้นแหละ ที่เรียกอย่างนี้

ฝรั่งชาติอื่นที่เหลือเขาเรียกว่า caoutchouc ตามศัพท์พื้นเมืองดั้งเดิมของแหล่งกำเนิด ตัวอย่างเช่น ในภาษาฝรั่งเศสออกเสียงคำนี้อย่างเพี้ยนๆ ไปบ้างตามลิ้นของชาวฝรั่งเศสเองว่า “เกาชุก” (kau-chuk)

ส่วนที่พวกอังกฤษ และฮอลันดา เปลี่ยนมาเรียกยางว่า rubber นั้นมีคำบอกเล่าต่อๆ กันมา (แปลว่าใครเล่าเป็นคนแรกก็ไม่รู้ และจะจริงรึเปล่าก็ไม่ทราบ) ว่า เป็นเพราะมีการค้นพบว่ายางพวกนี้สามารถใช้ลบดินสอได้ เลยเติมปัจจัย (suffix) “-er” ไว้ข้างหลังคำกริยา “rub” ซึ่งแปลว่า “ขัด” (กริยาตอนใช้ยางลบลบรอยดินสอ) นั่นเอง

เรื่องนี้พอจะมีมูลอยู่เหมือนกัน เพราะอย่างน้อยศัพท์คำว่า “rubber” ก็มีหลักฐานว่าใช้กันมายาวนานตั้งแต่ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 คือช่วงหลังโคลัมบัสสำรวจพบทวีปอเมริกาประมาณ 50 ปีแล้ว

พูดถึงชื่อเรียกพวกนี้ก็ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจอยู่อีก คือหลังจากที่พวกยุโรปค่อยๆ นำยางเหล่านี้ไปผลิตเป็นนวัตกรรมต่างๆ กันอย่างแพร่หลาย จนมีการค้นพบว่ายาง ซึ่งปกติมีชื่อสกุล (Genus) ว่า Hevea ที่มีคุณภาพดีที่สุดคือชนิด (specie) Hevea brasilliensis

ยางชนิดนี้จึงมีการปลูกและซื้อขายกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีศูนย์กลางการค้ายางประเภทนี้อยู่ที่เมือง Para ริมฝั่งน้ำอเมซอน ในประเทศบราซิล

และนั่นแหละครับ ที่เป็นเหตุผลให้คนไทยเราเรียกยางพวกนี้ว่า “ยางพารา”

น่าแปลกใจที่แม้ว่ายางพวกนี้จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย แต่พวกยูโรเปี้ยนในยุคอาณานิคมกลับดูไม่ค่อยจะสนใจที่จะปลูกต้นยางพวกนี้กันมากนัก?

อังกฤษดูจะเป็นชาติเดียวที่สนใจลงทุนกับธุรกิจประเภทนี้ จึงมีการนำยาง โดยเฉพาะยางพารา ไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นดินแดนอาณานิคมของตนเอง

เริ่มแรกชาวเมืองผู้ดีเหล่านี้พยายามจะไปบุกเบิกพื้นที่เพราะปลูกยางพาราในประเทศอินเดีย

แต่การณ์ปรากฏกลับกลายเป็นว่า พื้นที่ดินแดนชมพูทวีปนั้นกลับปลูกยางพาราได้ผลผลิตไม่งอกงามเท่าไหร่นัก

พื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกยางพารา ให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น กลับกลายเป็นบริเวณแหลมมลายูของเรา ไล่ตั้งแต่สยามประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย และบางส่วนของประเทศอินโดนีเซียนี่เอง

เรื่องนี้มีเหตุผลง่ายๆ ก็คือสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย และคาบสมุทรของภูมิภาคอุษาคเนย์นั้น ใกล้เคียงกับในทวีปอเมริกาใต้เป็นอย่างมาก

ต้นยางพาราก็เลยปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมละแวกบ้านเราได้ดีกว่าที่อื่นๆ

แต่ก็ต้องรอจนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเรือน พ.ศ.2425 ตรงกับคริสต์ศักราช 1892 สามร้อยปีหลังโคลัมบัสค้นพบอเมริกาอย่างพอดิบพอดี ยางพาราจึงค่อยถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศสยามเป็นครั้งแรก ที่อำเภอกันตัง จังหวังตรัง เป็นจำนวน 22 ต้น ด้วยการดำเนินการพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งยางของไทย

นับตั้งแต่บัดนั้น ด้วยการริเริ่มนำเข้ามาปลูกของพระยารัษฎาฯ นี้เอง “ยางพารา” ก็เลยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย เพราะความได้เปรียบทางด้านภูมิอากาศ ทำเลการเพาะปลูกซึ่งใกล้กับชาติมหาอำนาจต่างๆ ทั้งในยุโรป และเอเชีย มากกว่าถิ่นฐานดั้งเดิมของยางพาราอย่างทวีปอเมริกาใต้ และอีกสารพัดปัจจัยทางวัฒนธรรมด้วย ความตกต่ำของธุรกิจยางพาราบ้านเราในยุคนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเอามากๆ ว่าเราเอาข้อได้เปรียบเหล่านี้ไปโยนทิ้งไว้ที่ไหนหมด?

ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าพระยารัษฎาฯ ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ และยังคงดำเนินธุรกิจการทำสวนยางเหมือนเคย ท่านจะต้องกัดฟันโค่นต้นยางทิ้งจนหมดสวน เหมือนเกษตรกรบางคนต้องฝืนใจทำ เพราะเก็บไว้ก็มีแต่ขาดทุนหรือไม่?

บางทีในยุคที่รัฐให้เคยให้ความหวังว่า ภายใต้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ราคายางจะฟื้นตัวไปที่กิโลกรัมละ 60-80 บาท แต่ขายจริงได้แค่กิโลกรัมละ 25 บาท แม้แต่พระยารัษฎาฯ ก็คงต้องไปหาฐานลูกค้าบนดาวอังคาร อย่างที่ท่านผู้นำรัฐบาลเคยว่าไว้

ผู้ขียน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
เผยแพร่ 15/1/2016

อัพเดทล่าสุด