ไวรัสซิกา โรคอันตรายไร้วัคซีนป้องกัน ภัยอีกขั้นจากยุงลาย


1,819 ผู้ชม


 ไวรัสซิกา โรคอันตรายไร้วัคซีนป้องกัน ภัยอีกขั้นจากยุงลาย

 ไวรัสซิกา อีกหนึ่งโรคอันตรายที่มียุงลายเป็นพาหะ ที่น่ากลัวคือยังไร้วัคซีนป้องกัน เป็นแล้วอาจร้ายแรงถึงขั้นสมองผิดปกติ
          ถ้าว่ากันถึงภัยจากยุงลายที่เรารู้จักกันดีอย่างไข้เลือดออกแล้ว ยังมีอีกความอันตรายหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันนั้นก็คือ ไวรัสซิกา ซึ่งเป็นไวรัสที่อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ โดยช่วงปี 2558 มีการระบาดใน 14 ประเทศในแถบลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศบราซิลที่การระบาดรุนแรงจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่เมื่อต้นปี 2559 เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน ของไต้หวัน ก็ตรวจพบชายไทยติดเชื้อนี้ ขณะกำลังเดินทางเข้าประเทศ จึงได้เวลาแล้วที่เราควรจะทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัสซิกากันแบบจริงจัง แม้จะยังไม่ใช้่เรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่ควรละเลยด้วยประการทั้งปวงค่ะ


ไวรัสซิกา คืออะไร ?
          ไวรัสซิกา หรือไข้ซิกา เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอีซึ่งทั้งหมดล้วนมียุงลายเป็นพาหะ เชื้อไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกจากในน้ำเหลืองของลิงวอก ที่ถูกนำมาป่าซิกาในประเทศยูกันดา เพื่อศึกษาไข้เหลือง เมื่อปี พ.ศ. 2490 และพบในคนเมื่อปี พ.ศ. 2511 ในประเทศในจีเรีย เชื่อไวรัสซิกาพบได้ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชียใต้ และหมู่เกาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
สถานการณ์ของไวรัสซิกาในประเทศไทยและต่างประเทศ

          จากการรายงานของขององค์การอนามัยโลกพบว่าเชื้อไวรัสซิกาได้ระบาดในแถบทวีปอเมริกาใต้อย่างหนักมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยเฉพาะในประเทศบราซิลและโคลอมเบีย ซึ่งประเทศบราซิลถือเป็นประเทศที่มีการระบาดหนักที่สุดจนถึงขั้นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังพบเด็กทารกแรกเกิดติดเชื้อและมีความผิดปกติทางสมองเกือบ 4 พันราย ส่วนในประเทศโคลอมเบียมีการคาดการณ์ว่าการระบาดของไวรัสซิกาอาจทำให้มีผู้ป่วยถึง 600,000-700,000 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขโคลอมเบียจึงออกประกาศแนะนำให้สตรีเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไป 6-8 เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
          ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ก็วิตกกังวลกับสถานการณ์การระบาดดังกล่าว จึงออกประกาศเตือนให้หญิงที่ตั้งครรภ์และบุคคลทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปยัง 14 ประเทศที่มีการระบาดของโรค ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ เฟรนช์เกียนา  กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส มาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาม เวเนซุเอลา และเปอร์โตริโก เพื่อความปลอดภัยค่ะ
          ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 กองควบคุมโรคของไต้หวัน ได้ออกมาประกาศว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา 1 ราย เป็นชายไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในไต้หวันผ่านทางสนามบินนานาชาติเถาหยวนเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2559 โดยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสซิกาหลังจากเจ้าหน้าที่สนามบินพบว่าชายดังกล่าวมีไข้สูงผิดปกติจึงนำตัวไปตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด ส่วนผู้ร่วมเดินทางมาด้วยกันอีก 2 คน เมื่อตรวจแล้วก็ไม่พบเชื้อดังกล่าวแต่อย่างใด
          สำหรับในประเทศไทย หลังจากพบการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวหญิงจากประเทศแคนาดาเมื่อปี พ.ศ. 2556 ก็ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่อย่างใด แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อจากกรมควบคุมโรคอยู่อย่างใกล้ชิด 
ไวรัสซิกา ติดต่อได้อย่างไร

          ไวรัสซิกาเป็นเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ ดังนั้นการติดต่อจึงมาจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด และทั้งนี้ก็ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ 
ไวรัสซิกา อาการเป็นอย่างไร
          องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 4 ที่จะแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังได้รับเชื้อ ซึ่งจะปรากฏอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ไข้ขึ้นสูง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว และปวดหัว อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที 
          แต่ถ้าหากปล่อยไว้ อาการอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติได้ ทั้งนี้หากเป็นผู้ป่วยหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เชื้อไวรัสดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ ซึ่งจะทำให้ทารกมีความผิดปกติที่ศีรษะ โดยจะมีกะโหลกศีรษะและสมองที่เล็กกว่าปกติ 

ไวรัสซิกา รักษาอย่างไร
          แม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่โรคไวรัสซิกา ก็ยังเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือวิธีการรักษาที่แน่ชัด ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการเช่นเดียวกับโรคไวรัสอื่น ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ ดังนั้นผู้ป่วยควรพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ทานยาตามแพทย์สั่ง นอกจากนี้ก็ยังควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อีกด้วย
ไวรัสซิกา ป้องกันได้อย่างไร
          วิธีป้องกันที่ดีที่สุดของโรคไวรัสซิกา หรือไข้ซิกาก็คืออย่าพยายามให้ยุงกัด อีกทั้งยังควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้สิ้นซาก เพื่อเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์และป้องกันโรคที่อาจมากับยุงลายนอกเหนือไวรัสซิกาได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้เหลือง โรคไข้เวสต์ไนล์ และโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ถ้าอยากทราบวิธีป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยวิธีธรรมชาติละก็ลองตามไปอ่านที่นี่ได้เลย 12 วิธีป้องกันยุงกัดส่งตรงจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี
          ได้รู้จักกันมาขึ้นแล้วกับโรคไวรัสซิกา คราวนี้ก็อยู่ที่ตัวของเราเองนี่ล่ะค่ะที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดี ยิ่งถ้าหากใครที่ต้องเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดก็ควรใส่ใจสุขภาพให้มาก ไม่อยากเจ็บป่วยทีหลังก็อย่าชะล่าใจนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Taiwan Centers for Disease Control 
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
krobkruakao.com
World Health Organization  
paho.org

ที่มาและภาพประกอบ: กระปุก

อัพเดทล่าสุด