ฝึกลูกคิดเป็นระบบ สอนลูกทำ mind map อย่างไรดี


2,516 ผู้ชม


ฝึกลูกคิดเป็นระบบ สอนลูกทำ mind map อย่างไรดี

คุณแม่หลายคนอยากสอนให้ลูกเขียน ทำ mind map เป็น เพราะ mind map จะช่วยฝึกการคิดแบบมีระเบียบ มีกระบวนการเป็นขั้นตอน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มสอนตอนไหน และสอนอย่างไรดี

Mind map คืออะไร ?

mind map คือ กลยุทธ์หนึ่งของการฝึกฝนทักษะเพื่อตกผลึกความคิดเป็นกลุ่มก้อนหรือการจัดระเบียบความคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ

mind map มีหลักสำคัญคือการใช้ภาพ สี และเส้นร่วมกันในการจดบันทึกค่ะ โดยภาพจะช่วยให้หน้ากระดาษดูสนุก น่าสนใจ ส่วนสีนั้นทำให้สะดุดตา และจำง่ายขึ้น การคิดเป็นภาพและสีแสดงว่าเราเริ่มใช้สมองซีกขวาเข้ามาช่วยซีกซ้ายทำงานแล้ว

สอนลูกเขียน Mind Map อย่างไรดี

1. กระดาษขาวไม่มีเส้นบรรทัด ขนาด A4 หรือใหญ่กว่า
2. ปากกาหลาย ๆ สีทั้งแบบเส้นหนาและเส้นบาง



เริ่มทำ Mind map กันดีกว่า

1.เริ่มต้นจากแกนหลักกึ่งกลางหน้ากระดาษ

2.ให้ลูก ๆ จินตนาการหัวเรื่อง หรือหัวข้อที่ต้องการบันทึกเป็นภาพ จาก นั้นวาดภาพสัญลักษณ์ไว้กลางหน้า

3.แตกกิ่งแก้วออกจากแก่นแกน เป็นหัวข้อใหญ่ ๆ เพื่อกำหนดกรอบของเรื่องที่เราจะคิดต่อไป

4.ให้เขียนทุกความคิดที่หลั่งไหลออกมาก่อน จากนั้นค่อยเลือกเฟ้นความคิดที่ใช้ได้ แล้วค่อยจัดเรียงลำดับที่จัดไว้ไปรอบแก่นแกนตามเข็มนาฬิกา แล้วใส่หมายเลขกำกับลงไป เช่น ถ้าหัวข้อหลักคือโรงเรียนของฉัน แก่นแกนอาจจะเป็นรูปตึก สัญลักษณ์ของโรงเรียน กิ่งแก้วก็เป็นเรื่องของที่ตั้ง ประวัติ อาคาร ชั้นเรียน จำนวนนักเรียน

ลองค่อย ๆ สอนลูกดูนะคะ เวลาที่เจอคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้วาดภาพง่าย ๆให้ลูกดูบ่อย ๆ แล้วจะทึ่งว่า ไม่นานลูกจะสามารถคิดเรื่องต่าง ๆ เป็นภาพ และ สามารถวาดรูปง่าย ๆ ที่สัมพันธ์กับเรื่องนั้น ๆ ได้ค่ะ


ทิปส์การเขียน Mind Map

  • พ่อคุณแม่ควรให้คำแนะนำ ร่วมทำไปกับลูกด้วย อาจคอยแนะนำจุดเริ่มต้น รายละเอียดของข้อมูลที่ต้องการจำแนก เมื่อลูกชำนาญมากขึ้นก็ปล่อยให้ลูกได้มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระต่อไปค่ะ
  • ใช้ดินสอสี หรือปากกาสีหลายๆ สี เพราะสีช่วยเพิ่มการจดจำมากขึ้น
  • เพิ่มมิติของการทำ Mind Mapping ด้วยวัสดุอุปกรณ์การตกแต่งอื่นๆ เช่น กระดาษสี ไหมพรม สก๊อตเทปสี ของเล่น ฯลฯ

เลือกเรื่องมาทำ Mind Map อย่างไรดี

ข้อมูลที่เลือกนำมาให้เด็กๆ ได้ลองฝึกฝน ทำ Mind map อาจจะลองใช้ขั้นตอนในการเลือกเรื่องไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความชำนาญที่มากขึ้น ดังนี้ค่ะ


1. งานอดิเรก / สิ่งที่ชื่นชอบ : เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมาก เด็กๆ สามารถจินตนาการ หรือคิดเชื่อมโยงได้ไม่ยากเช่น เริ่มต้นการสรุปความอย่างมีเป้าหมายจากนิทานหรือหนังสือเรื่องโปรด หรือชวนกัน Mapping สาระจากการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่นั่งดูไปด้วยกัน เช่น จุดเด่นของตัวละครในเรื่อง, สาระสำคัญที่ลูกได้จากการอ่านหรือการดูหนังการ์ตูน เป็นต้น และเพื่อให้การตกผลึกมีสีสันมากขึ้น ลองให้ลูกเล่าสิ่งที่ได้อ่านได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ก่อนลงมือเชื่อมโยงความคิดค่ะ


2. เรื่องใกล้ตัว : เขยิบความยากขึ้นมาอีกขั้นด้วยหัวเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่มีขั้นตอนของการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในครอบครัว การสำรวจ สังเกต และจำแนกสิ่งของภายในบ้าน เช่น หัวข้อกิจกรรมโปรดของสมาชิกในบ้าน , ข้อสรุปจากการวางแผนเพื่อไปเที่ยววันหยุดของครอบครัว เป็นต้น


3. เรื่องที่ต้องมีการค้นคว้าข้อมูลมากขึ้นหรืออยู่ในสาระของการเรียนรู้ : ต่อด้วยเรื่องราวที่มีข้อมูลมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกกำลังเรียนอยู่ในชั้นเรียนหรือเป็นเรื่องที่ลูกๆ สนใจและเป็นผู้เสนอหัวข้อด้วยตนเอง โดยแนะนำช่องทางการหาข้อมูลให้ลูก เช่น เว็บไซต์ หนังสือ จากการพูดคุย หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในชั้นเรียน เป็นต้น ตัวอย่างของหัวเรื่อง เช่น สิ่งที่ครอบครัวสามารถช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ , การเจริญเติบโตของต้นดาวเรื่องหลังบ้าน หรือ เส้นทางการเกิดรุ้ง เป็นต้น

ที่มาและกาพประกอบ: มัมมี่พิเดีย

อัพเดทล่าสุด