คุณค่าน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ Rose Oil


1,774 ผู้ชม


คุณค่าน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ Rose Oil

น้ำมันหอมระเหยเป็นสารอินทรีย์ที่มีกลิ่นระเหยได้  พืชได้สร้างน้ำมันหอมระเหยไว้ในเซลล์พิเศษในผนังเซลล์  ในต่อมหรือท่อภายในพืชเพื่อทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นเกราะป้องกันการระเหยของน้ำ (ในกรณีที่มีสภาพอากาศร้อน) การไล่แมลงที่เป็นศัตรู และการล่อแมลงให้ช่วยผสมเกสร  น้ำมันหอมระเหยเกิดขึ้นมาจากกระบวนการเจริญเติบโต (metabolism) โดยมีปริมาณและชนิดของสารประกอบแตกต่างกันไปตามส่วนต่างๆของพืช เช่น ดอกจะให้กลิ่นหอมมากที่สุด  ได้แก่ ดอกมะลิ  ดอกกุหลาบ ส่วนของใบ เช่น กระเพรา  โหระพา  มิ้นต์  คุณภาพของน้ำมันหอมระเหยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ดิน ภูมิอากาศ  อุณหภูมิ  ปริมาณน้ำฝน  ความสูงจากระดับน้ำทะเล  การเก็บเกี่ยว เทคนิคและวิธีการสกัด องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหย
การผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบเริ่มต้นในศตวรรษที่ 10-17  โดยมีประเทศอิหร่านเป็นศูนย์กลาง และแพร่หลายไปยังประเทศอินเดีย  อาหรับ  อัฟริกาตอนเหนือ สเปน และฝรั่งเศส   ในต้นศตวรรษที่ 17 ขาวเตอร์ก ได้นำเข้าไปเผยแพร่ในประเทศทางคาบสมุทรบอลข่าน  โดยเฉพาะประเทศบัลแกเรีย  ซึ่งได้เริ่มผลิตเป็นอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบกลั่นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้การควบคุมของรัฐบาล  น้ำมันหอมระเหยกุหลาบกลั่นมีราคาเป็น 2 เท่าของราคาทองคำ  และประเทศบัลแกเรียมีน้ำมันหอมระเหยกุหลาบกลั่นปริมาณมากฝากแทนเงินไว้ในธนาคารเพื่อรักษาดุลยการค้าระหว่างประเทศ
พันธุ์กุหลาบที่ปลูกในประเทศบัลแกเรียเพื่อผลิตน้ำมันหอมระเหยได้แก่ R. damasciำna Trigintipetala  ซึ่งปลูกกันมานานกว่า 200 ปีมาแล้ว  โดยปลูกที่หุบเขา Toundja ในเนื้อที่กว้าง 16-48 กิโลเมตร ยาว 130  กิโลเมตร และมีตำบล Kazanlik Stora, Zagora และ Karlow เป็นศูนย์กลางของการกลั่นน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ  การปลูกมีการปลูกโดยปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการตัดแต่งกิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ดอกกุหลาบมีกลิ่นหอมจัด  การเก็บดอกจะเก็บในขณะที่ดอกแย้มตอนเช้าตรู่ และรีบนำดอกกุหลาบไปกลั่นทันที  ถ้าทิ้งดอกที่เก็บมาจากต้นไว้เพียง 1-2 ชั่วโมง ปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะลดลง นอกจากนี้อากาศและแสงแดดจะทำให้คุณภาพของน้ำมันหอมระเหยลดลงอีกด้วย
ที่เมือง Anatolia ประเทศตุรกี เป็นอีกประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบจากกุหลาบสายพันธุ์ R. damascena เช่นเดียวกัน แต่น้ำมันหอมระเหยกุหลาบที่ผลิตได้มีคุณภาพด้อยกว่าน้ำมันที่ผลิตได้จากประเทศบัลแกเรีย  ทั้งนี้เป็นเพราะอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะปลูกเช่นระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล  ภูมิอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น หรือลักษณะดิน เป็นต้น
พันธุ์กุหลาบที่สามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยได้

กุหลาบ (Rase spp.) เป็นพืชในวงศ์ Rosaceae สกุล Rosa L. ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 125 ชนิด มีถิ่นกำเนิดในเอเชียประมาณ 95 ชนิด อีก 18 ชนิดอยู่ในสหรัฐอเมริกา และที่เหลืออยู่ในยุโรปหรือทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอัฟริกา  นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ลูกผสมอีกนับหมื่นพันธุ์ ซึ่งสามารถจำแนกได้ 5 กลุ่มได้แก่
Hybrid Tea: เป็นกุหลาบที่มีดอกขนาดใหญ่ที่สุด ก้านดอกยาว ปกติแล้วแต่ละก้านจะมีเพียง 1 ดอก
Floribunda: เป็นกุหลาบที่ออกดอกหลายดอกในหนึ่งช่อ
Geandiflora: กุหลาบกลุ่มนี้จะออกดอกเป็นช่อดอกคล้ายกุหลาบกลุ่ม Floribunda แต่มีดอกขนาดใหญ่กว่า  แต่รูปทรงดอกคล้ายกลุ่ม Hybrid Tea
Miniature: กุหลาบกลุ่มนี้คนไทยเรียก "กุหลาบหนู" มีต้นและใบขนาดเล็ก เป็นกุหลาบย่อส่วนลงมาจึงเหมาะสมสำหรับเป็นไม้กระถาง
Climber: เป็นกุหลาบเลื้อย เป็นพันธุ์กุหลาบที่มีกลิ่นหอมเช่น กุหลาบมอญ  กุหลาบพันธุ์ Eiffer Tower, Miranda, Alec's Red หรือพันธุ์ Home Sweet Home เป็นต้น
กุหลาบแต่ละสายพันธุ์มีกลิ่นหอมแตกต่างกันออกไป เช่นกุหลาบ R. damascene และ R. centrifolia มีกลิ่นหอมหวานของดอกกุหลาบสด  กุหลาบ R. moschata และ R. rugosa มีกลิ่นเครื่องเทศ  กุหลาบ Harmonie และ Double delight มีกลิ่นผลไม้  และกุหลาบ Lady Hillingdon มีกลิ่นชา เป็นต้น การผสมพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ดอกกุหลาบที่มีรูปทรงดี สีสวยทนนานหรือมีความแปลกใหม่แต่คุณค่าในทางให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหยยังอยู่ในขั้นต่ำ  ดังนั้นในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบจึงยังใช้ดอกกุหลาบเพื่อผลิตน้ำมันหอมระเหยเพียง 3 สายพันธุ์หลักคือ R. damascene, R. centrifolia และ R. gallica และสายพันธุ์อื่นๆที่นิยมใช้เป็นกุหลาบที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์กันระหว่างพันธุ์ R. damascene, R. centrifolia
R. gallica และ R. pannomica
กลิ่นหอมของดอกกุหลาบถูกผลิตจากต่อมกลิ่น (scent gland) ซึ่งอยู่บริเวณผิวด้านนอกของกลีบดอก กลีบเลี้ยงและฝักอ่อน  ต่อมกลิ่นมีขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มองดูคล้ายกำมะหยี่  มีหน้าที่ในการผลิตสารหอมเพื่อใช้ในการล่อแมลง
ปริมาณและลักษณะของน้ำมันกุหลาบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่  สภาพอากาศ ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ลักษณะของดอกกุหลาบ  ชนิดของหม้อกลั่นและวิธีการกลั่น  วิธีการผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบที่นิยมทำกันอยู่ในปัจจุบันมี 2 วิธีคือการกลั่น (Distillation) และ การสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent extraction) วิธีการกลั่นที่นิยมมี 2 วิธีคือวิธีการกลั่นโดยตรงและการกลั่นด้วยไอน้ำ น้ำมันหอมระเหยกุหลาบที่ผลิตเป็นการค้าในปัจจุบันนี้มีกลิ่นหอมหวานของดอกกุหลาบสดที่มีความหอมมาก และหอมทนนาน  น้ำมันหอมระเหยกุหลาบมีการซื้อขายกันในราคาสูงเนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ต้องใช้เทคนิคต่างๆประกอบกันจึงจะได้เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดี
การผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ  
ดอกกุหลาบสดประมาณ 2,000-4,000 กิโลกรัม หรือดอกกุหลาบประมาณ 5 ล้านดอก จึงจะได้น้ำมันหอมระเหย 1-4.5 กิโลกรัม (2.24-10 ปอนด์) ในปี 2535-2537 ประเทศสหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมันหอมระเหยกุหลาบในราคาปอนด์ละ 130,000-250,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการกลั่นว่าจะเป็นการกลั่นโดยตรงหรือเป็นการกลั่นด้วยน้ำ น้ำมันหอมระเหยกุหลาบที่ได้จากการกลั่นมีลักษณะสีเหลืองใสและเปลี่ยนเป็นสีเขียใหรือสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะเหนียวที่อุณหภูมิห้อง มีกลิ่นหอมหวานของกุหลาบสดและหอมทนนาน
วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยกุหลาบอีกวิธีที่ทันสมัยกว่าการกลั่นด้วยไอน้ำคือการสกัดด้วยตัวทำละลาย ตัวทำละลายที่นิยมใช้คือปิโตรเลียมอีเทอร์  การสกัดด้วยวิธีนี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีลักษณะเป็นยางเหนียว สีน้ำตาลเข้มใส  มีกลิ่นหอมแรง แรงกว่าน้ำมันหอมระเหยกุหลาบที่ได้จากการกลั่นมากและมีกลิ่นเครื่องเทศเจืออยู่ น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "absolute"  การสกัดด้วยวิธีนี้ต้องใช้ดอกกุหลาบประมาณ 500 กิโลกรัมจึงจะได้ absolute 1 กิโลกรัม  มีราคาซื้อขายกันในปี 2516 ในราคาปอนด์ละ 48,000 บาท
สรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ
น้ำมันหอมระเหยกุหลาบมีสรรพคุณมากมาย ความหอมในน้ำมันหอมระเหยกุหลาบเหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับดูแลผิวพรรณทุกชนิด นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยกุหลาบยังมีประโยชน์ในด้านการบำบัด ช่วยลดความเครียดทุกชนิดได้เป็นอย่างดี  ประโยชน์ของน้ำมันกุหลาบมีมากมาย แต่สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ดูแลผิวพรรณและเป็นน้ำหอม
น้ำมันหอมระเหยกุหลาบมีสรรพคุณและมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมในด้านเป็นยาฆ่าเชื้อ ต้านการเจริญของแบคทีเรียและต้านการอักเสบ  ด้วยสรรพคุณนี้จึงทำให้น้ำมันกุหลาบเป็นตัวยาที่ทรงคุณค่าสำหรับบำบัดอาการอักเสบ  อาการระคายเคืองและการติดเชื้อที่ผิวหนังทุกชนิดตั้งแต่บำบัดแผลที่เกิดจากของมีคมเล็กๆน้อยๆ  โรคปากนกกระจอก โรคผื่นพุพอง ตลอดจนโรคผื่นคันทุกชนิด นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาปวดอ่อนๆ เป็นยาสมานแผลและฟื้นฟูประสิทธิภาพของเซลล์เนื้อเยื่อ เป็นมอยซ์เจอร์ไรเซอร์หรือให้ความชุ่มชื้นกับผิว  น้ำมันหอมระเหยกุหลาบจึงถูกใช้ในการบำบัดสภาพผิวแห้ง ชะลอความแก่ให้ผิวหนังโดยรวม และเป็นยาดับกลิ่น นิยมใช้เป็นส่วนผสมในโลชั่น และแป้งทาตัว
2. บำบัดความเครียด
น้ำมันหอมระเหยกุหลาบช่วยบรรเทาความเครียด  ช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดระดับความดันของเลือด มีประสิทธิภาพในการต้านอาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ประสาทผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
3. ส่งเสริมความสามารถในการมีบุตร
กลิ่นหอมเย้ายวนรัญจวนใจของดอกกุหลาบ มีสรรพคุณกระตุ้นอารมณ์เพศ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสตรีที่มีปัญหาเย้นชาทางเพศ  นอกจากนี้กุหลาบยังมีชื่อเสียงในด้านการเพิ่มจำนวนอสุจิในเพศชาย รวมทั้งช่วยบำบัดปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพสในผู้ชายได้อีกด้วย
การใช้และการเก็บรักษาน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ

น้ำมันหอมระเหยกุหลาบบริสุทธิ์โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองแก่ผิวหนัง ไม่ไวต่อการสัมผัสและไม่เป็นสาร phototoxin (สารพิษที่เกิดจากสารที่ทำปฏิกิริยากับแสง)  น้ำมันหอมระเหยกุหลาบจึงเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีความปลอดภัยสูงมากชนิดหนึ่ง เพราะมีระดับความเป็นพิษต่อผิวหนังต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรใช้ทาผิวเด็กวัยต่ำกว่า 18 เดือนโดยตรง รวมทั้งสตรีในช่วงตั้งครรภ์ก็ควรใช้เฉพาะน้ำมันหอมระเหยที่เจือจางแล้วเท่านั้น
การเก็บรักษาน้ำมันหอมระเหยกุหลาบบริสุทธิ์ไว้ในภาชนะที่เป็นแก้วทึบแสง มีฝาปิดสนิทแน่น  น้ำมันหอมระเหยกุหลาบบริสุทธิ์สามารถทำปฏิกิริยากับพลาสติกบางชนิดได้ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงการบรรจุน้ำมันหอมระเหยกุหลาบบริสุทธิ์ในภาชนะพลาสติก 
ตั้งวางน้ำมันหอมระเหยกุหลาบไว้ในที่ๆไม่โดนแสงสว่างและความร้อน รวมทั้งต้องวางไว้ในที่ๆเด็กเอื้อมไม่ถึงหรือให้อยู่ห่างจากสัตว์เลี้ยง  น้ำมันหอมระเหยกุหลาบต่างจากน้ำมัน
หอมระเหยชนิดอื่นๆตรงที่สามารถพัฒนาและเพิ่มความเข้มข้นให้ตัวเองเมื่อเวลาผ่านไปได้
**********************
ที่มาข้อมูล
ณกัญภัทร  จินดา. 2550. เอกสารประกอบการสอนวิชาเทคโนโลยีน้ำมันหอมระเหย. คณะอุตสาหกรรมเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และ 4yourleisure

อัพเดทล่าสุด