โรคแพ้เหงื่อตัวเอง


2,313 ผู้ชม


โรคแพ้เหงื่อตัวเอง

picture: bbc.com  

          โรคแพ้เหงื่อตัวเอง หลายคนคิดว่าตัวเองเป็นแต่ยังไม่ค่อยแน่ใจ งั้นมาลองเช็กเลยอาการแพ้เหงื่อตัวเองเป็นแบบไหนกันแน่

    
          อาการแพ้เหงื่อตัวเองจนเป็นอุปสรรคของการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ออกแรง หรืออยู่ท่ามกลางอากาศร้อน ๆ เสี่ยงเหงื่อจะออกไม่ได้ คนที่มีอาการเช่นนี้คงกำลังสงสัยอยู่ว่าเราเป็นโรคแพ้เหงื่อตัวเองหรือเปล่า 
    

          ถ้าอย่างนั้นลองมาเช็กอาการแพ้เหงื่อตัวเองกันค่ะ และมาดูด้วยว่าอาการแพ้เหงื่อเกิดจากอะไร แล้วเราจะรักษาอาการแพ้เหงื่อยังไงได้บ้าง
โรคแพ้เหงื่อตัวเอง มีอยู่จริง ไม่อิงนิยาย
          โรคแพ้เหงื่อจัดเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคแพ้ชนิดหนึ่ง ที่มักจะเกิดกับผู้ที่มีความไวต่อสิ่งเร้ามาก โดยเฉพาะความไวอย่างผิดปกติต่อผิวหนัง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะแพ้ได้ โดยอาการแพ้มักจะแสดงออกมาในรูปผื่นคัน หรืออาการแดงที่ผิวหนัง เป็นต้น
    
          ทั้งนี้โรคแพ้เหงื่อไม่ได้เกิดจากการที่เหงื่อของเราเป็นพิษ แต่หลายเคสเกิดเพราะผิวหนังของเรามีรอยโรคอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบ หรือโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ และเมื่อมีเหงื่อออกที่บริเวณผิวหนังดังกล่าว ความชื้นและความเค็มของเหงื่ออาจเป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างกับผิวหนัง ก่อให้เกิดอาการคัน มีผื่นแดง ไม่สบายตัวได้    
 
โรคแพ้เหงื่อ เกิดจากอะไรได้บ้าง
          สาเหตุของอาการแพ้เหงื่อต้องดูให้ลึก เพราะบางคนมีเหงื่อออกแล้วเกิดอาการคัน ทว่าไม่รู้ตัวว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ร่วมด้วย ซึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้เหงื่อได้ก็มีดังนี้

   - โรคผิวหนังที่เป็นอยู่
          ซึ่งอาจทำให้มีรอยโรคอยู่บนผิวหนัง พร้อมจะก่อปฏิกิริยาบางอย่างกับเหงื่อได้ทันที
  - การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย
    
          การอยู่ในที่ที่มีละอองฝุ่นเยอะ มีเชื้อโรค เชื้อรา หรือแบคทีเรียเยอะ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อมีน้ำจากเหงื่อ ประจุไฟฟ้าจะเกิด และเข้าไปจับกับฝุ่นละอองที่ก็มีประจุไฟฟ้าด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นฝุ่นและเหงื่อจึงจับตัวอยู่บนผิวหนังเราแน่นมาก และอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ฝุ่นได้
 

   - ผิวบอบบาง ง่ายต่อการแพ้
    
          โดยเฉพาะเด็กเล็กหรือผู้ที่มีปัญหาผิวหนังติดสเตียรอยด์ ที่อาจมีผิวบอบบางง่ายต่อการแพ้ และเมื่อมีเหงื่อออก เหงื่อและเชื้อโรคที่รายล้อมอยู่รอบตัวอาจทำให้เกิดผื่นคันขึ้นได้เช่นกัน
 ปฏิกิริยาต้านเหงื่อของร่างกาย
    
          สำหรับบางคนอาจมีอาการภูมิแพ้ชนิดที่ร่างกายต่อต้านเหงื่อของตัวเอง ซึ่งจัดเป็นการตอบสนองของเซลล์ภูมิแพ้ที่ผิดปกติ หรือเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากจนเกินไป ทำให้มีความไวต่อเหงื่อมากเป็นพิเศษ


อาการแพ้เหงื่อ เช็กเลยเราเป็นไหม
          โดยส่วนมากแล้วอาการแพ้เหงื่อจะเกิดขึ้น ณ บริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ รอบดวงตา และบริเวณใบหน้า เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการดังต่อไปนี้ คุณอาจต้องลองปรึกษาแพทย์ผิวหนังอีกที เพราะนี่มันอาการผิดปกติทางผิวหนังชัด ๆ
          - มักจะมีอาการคันมากยามเหงื่อออก โดยเฉพาะจุดที่มีเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ เช่น ลำคอ ใบหน้า ขาหนีบ แขน ขา ข้อพับ
          - เหงื่อออกทีไรมักจะตามมาด้วยผื่นแดงหรือตุ่มใสเป็นประจำ ไม่วาจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดแค่ไหนก็ตาม
          - ตุ่มคันหรือผื่นแพ้ที่เกิดบนผิวหนังจะอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และสามารถหายไปเองได้ แต่หากเหงื่อออกอีกครั้ง อาการคันก็จะกลับมา
          อย่างไรก็ดี หลายคนคิดว่าตัวเองมีอาการแพ้เหงื่อแล้วสิวขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วผื่นบนผิวหนังนั้นเป็นผื่นที่เกิดจากการแพ้ ไม่ใช่สิวแต่อย่างใด หรือหากพบว่ามีตุ่มใส ลักษณะคล้ายสิวอักเสบ เคสนี้คงต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงนะคะ เนื่องจากอาการแพ้ที่เกิดจากเหงื่อจะแสดงออกมาในรูปของผื่่นคันหรือตุ่มคัน และรอยปื้นแดง ๆ บนผิวหนังเท่านั้น


การรักษาโรคแพ้เหงื่อ
          โรคแพ้เหงื่อไม่ใช่โรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิต และเราสามารถบรรเทาและรักษาอาการแพ้เหงื่อได้ดังวิธีต่อไปนี้
อาบน้ำ ล้างคราบเหงื่อ
          ในเบื้องต้นเราอาจรักษาโรคแพ้เหงื่อได้ด้วยการชำระล้างคราบเหงื่อ อาบน้ำ หรือพยายามไม่ให้เหงื่อแห้งติดอยู่บนผิวหนังนานเกินไป ซึ่งก็จะช่วยลดอาการคันลงได้พอสมควร 
รักษาด้วยสารต้านฮิสตามีน
          ในรายที่มีอาการแพ้มาก ๆ แพทย์อาจฉีดสารต้านฮีสตามีนให้ หรือให้ยาจำพวกนี้ไปรับประทานเมื่อมีอาการแพ้ 
ฝึกร่างกายให้ชินต่ออาการแพ้
          แพทย์หญิงสุราศี อิ่มใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง โรงพยาบาลผิวหนัง อโศก แนะนำว่า การรักษาโรคแพ้เหงื่ออาจทำได้ด้วยวิธี Desensitization หรือการทำให้ร่างกายค่อย ๆ ชินต่ออาการแพ้จนไม่มีปฏิกิริยากับอาการแพ้อีกต่อไป โดยอาจลองฝึกให้ร่างกายอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อน หรือปรับอุณหภูมิให้ค่อย ๆ รู้สึกอุ่นขึ้นทีละหน่อย จนร่างกายไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นอีก
การป้องกันอาการแพ้เหงื่อ
          การป้องกันอาการแพ้เหงื่อสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก หรือหากมีเหงื่อออกก็ควรทำความสะอาดร่างกายโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เหงื่อแห้งติดผิวหนังเรานานเกินไป
    
          นอกจากนี้หากต้องไปในที่ที่มีฝุ่นละอองเยอะ มีสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ควรใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด มีหน้ากากปิดปาก ใส่แว่นตากันฝุ่น ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่ออาการแพ้ที่อาจเกิดกับผิวหนังเราได้
          อาการแพ้เหงื่อแม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ต้นตอและสาเหตุของโรคสามารถแตกแขนงออกได้หลายทางเลยนะคะ ฉะนั้นหากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับผิวหนัง โดยเฉพาะเวลาที่เหงื่อออก ทางที่ดีควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างละเอียดดีกว่าว่าเราแค่แพ้เหงื่อธรรมดา หรือมีรอยโรคผิวหนังอื่น ๆ แอบซ่อนอยู่ด้วย

ที่มา: กระปุก

อัพเดทล่าสุด