pictures: thefitindian.com, fairview.org & greatlifeandmore.com
วิธีรักษาไข้หวัดแบบประหยัด
ระยะย่างเข้าหน้าฝนนี้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างถูกไข้หวัดเล่นงานกันงอมแงม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่มีลูกหลานเล็กๆ ที่เพิ่งเข้าเรียนหนังสือในปีแรก อาจรู้สึกเดือดร้อนที่เด็กน้อยเป็นไข้หวัดแทบไม่เว้นแต่ละเดือน ต้องขาดเรียนอยู่เรื่อยๆ และเสียเงินค่ายาค่าหมอทีละไม่น้อย
เคยมีผู้อ่านซึ่งเป็นคนในโรงงานเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่า มีลูกเป็นไข้หวัดบ่อย แต่ก่อนต้องพาไปหาหมอ เสียค่ารักษาแต่ละครั้งประมาณ 70-80 บาท ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้วิธีรักษาโรคไข้หวัด จึงได้นำความรู้ไปรักษาลูกของตัวเองเวลาเป็นหวัด เสียค่ายา (ซื้อตามคำแนะนำในนิตยสาร) ครั้งละ 15-20 บาทเป็นอย่างมาก ซึ่งไปทุ่นเงินไปได้หลายสตางค์
ครั้งนี้จึงขอถือโอกาสแนะนำวิธีการรักษาไข้หวัดด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง ดีไหมครับ
ข้อน่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัด
1) ไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น (ได้แก่ จมูกและคอ) ติดต่อกันได้ง่ายด้วยการอยู่ใกล้ชิดกัน รับเชื้อจากละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จามหรือหายใจรด
2) เชื้อโรคที่ทำให้เป็นไข้หวัด (เรียกว่า เชื้อหวัด) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ ออกไปร่วม 200 ชนิด ในการเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงหนึ่งชนิด เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัด เฉพาะชนิดนั้นเพียงชนิดเดียว เมื่อติดเชื้อหวัดอีกชนิดหนึ่ง วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นคนเราจึงเป็นไข้หวัดได้บ่อย (หรือจนกว่าจะเวียนไปครบทุกชนิด)
3) เด็กเล็กจะมีภูมอต้านทานต่อเชื้อหวัดน้อยกว่าผู้ใหญ่ (เพราะผู้ใหญ่เคยรับเชื้อมาอย่างโชกโชนตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก) ดังนั้น จึงมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้บ่อย และมักจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนใน 1-2 ปีแรก จะรับเชื้อหวัดจากเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ซึ่งพกเอาเชื้อหวัดรดกันคนละพันธุ์สองพันธุ์มาแจกจ่ายกันจนถ้วนหน้า เมื่ออายุมากขึ้นคนเราจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดมากขึ้น จึงเป็นไข้หวัดห่างขึ้น และอาการจะรุนแรงน้อยลง
4) ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผลเต็มที่ เพราะคนที่มีเชื้อหวัดในจมูกและคอ จะเริ่มแพร่โรคให้คนข้างเคียง ตั้งแต่ก่อนจะมีอาการตัวร้อนหรือเป็นหวัด ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่าใครบ้างที่จะเป็นคนแพร่เชื้อ (ยกเว้นเมื่อเขามีอาการแสดงชัดเจนแล้วเท่านั้น) ซึ่งควรจะหลีกหนีจากเขา อย่าให้ถูกเขา ไอ จาม หรือหายใจรดใส่
โดยทั่วไป เรามักจะแนะนำว่าในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดไม่ควรเข้าไปในสถานที่ๆ มีผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ส่วนคนที่เป็นหวัด เวลาไอหรือจาม ควรปิดปากอย่าให้เชื้อแพร่ออกไป และควรอยู่ให้ไกลจากผู้อื่น อย่านอนรวมกับผู้อื่น
ส่วนเด็กเล็ก มักมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เพราะธรรมชาติของเด็กคือการจับกลุ่มเล่นหัวคลุกคลีกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก
5) เนื่องจากไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ฆ่าเชื้อกลุ่มนี้อย่างได้ผล จึงอาจกล่าวได้ว่ายังไม่มียาที่ใช้รักษาไข้หวัดโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส คางทูม ไข้เลือดออก ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส (ไวรัสลงตับ) เป็นต้น
การรักษาไข้หวัดและกลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัส จึงอยู่ที่การพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์ (ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค) และให้ยารักษาไปตามอาการเท่านั้น
รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น?
อาการของไข้หวัด ได้แก่ ตัวร้อน (ไข้) เป็นหวัด (คัดจมูกน้ำมูกไหล) และไอ
อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ยังวิ่งหรือทำงานได้ ถึงแม้จะไม่เหมือนเดิมก็ตาม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นอาจมีไข้สูงและต้องนอนพักผ่อนเป็นครั้งคราว แต่เมื่อกินยาลดไข้แล้ว อาการมักจะดีขึ้นจนสามารถวิ่งเล่นหรือทำงานได้
แน่ละ มีโรคอีกหลายชนิดที่อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดได้
ในที่นี้ขอแนะนำวิธีสังเกตดูอาการต่างๆ เพื่อแยกไข้หวัดออกจากโรคอื่นๆ ดังนี้
1) ถ้ามีไข้สูงเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีน้ำมูกไหล และจับไข้ตลอดทั้งคืน ทั้งวัน หน้าแด งตาแดง กินยาลดไข้ก็ไม่ได้ผล อาจเป็นไข้เลือดออก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในช่วงหน้าฝน) ควรดื่มน้ำให้มากๆ ทุกวัน นอนพักผ่อนให้เต็มที่ ห้ามกินยาลดไข้ ประเภทแอสไพริน (เช่น ยาแก้ไข้ชนิดซอง ซึ่งมีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ) เพราะถ้าเป็นไข้เลือดออกจริง อาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อลดไข้ ยาแก้ไข้ถ้าจำเป็นให้เลือกใช้พาราเซตามอล
ทางที่ดีควรปรึกษาหมอที่อยู่ใกล้บ้าน ภายใน 1-2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นอาการร้ายแรง
2) ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก ควรอ้าปากใช้ไฟฉายส่องดูคอ ถ้าพบว่าต่อมทอนซิลโตแดง หรือเป็นหนองแสดงว่าต่อมทอนซิลอักเสบ ควรไปหาหมอ หมอจะให้ยาลดไข้และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี (ผู้ใหญ่ใช้ชนิด 4 แสนยูนิต เด็กใช้ชนิด 2 แสนยูนิต) กินวันละ 4 ครั้งๆ ละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร สักครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน ถ้าแพ้ยานี้ หมอจะให้อีริโทรมัยซินแทน ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 แคปซูล เด็กครั้งละ 1 แคปซูลหรือ 1-2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้งเช่นเดียวกัน ควรกินยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไข้รูมาติกหรือไตอับเสบ
3) ถ้ามีอาการหอบ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกมาก อาจเป็นปอดอักเสบ ควรไปหาหมอโดยเร็ว ถ้าเป็นมากอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หากชักช้าอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
4) ถ้ามีอาการปวดในหู หูอื้อ หรือหูน้ำหนวกไหล อาจเป็นหูอักเสบแทรกซ้อน ควรไปหาหมอ หมอจะให้ยาลดไข้ ยาปฏิชีวนะ (เพนวี หรือ อีริโทรมัยซิน) และยาแก้หวัด ควรกลับไปให้หมอตรวจซ้ำให้แน่ใจว่าไม่ได้กลายเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังต่อไป
5) ถ้ามีผื่นขึ้นตามตัว หลังมีอาการคล้ายไข้หวัด 3-4 วัน แต่ไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ไม่ได้ผล หน้าแดง ตาแดง อาจเป็นหัด ควรให้ยารักษาแบบไข้หวัด เพราะเป็นโรคในกลุ่มไวรัสเช่นเดียวกัน
6) ถ้ามีอาการแบบไข้หวัด แต่มีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการมักจะรุนแรงจนต้องนอนซมเป็นพักๆ โรคนี้เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นไวรัส การรักษาก็ให้การดูแลรักษาไปตามอาการแบบเดียวกับไข้หวัดธรรมดา เมื่อได้พักผ่อนและกินยาลดไข้ อาการควรจะดีขึ้นภายใน 3-4 วัน ถ้ายังมีไข้สูงติดต่อกันมากกว่า 7 วัน หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ซีด เหลือง หอบ ชัก มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ปวดศีรษะรุนแรง ควรไปหาหมอโดยเร็ว
วิธีรักษาไข้หวัด
ถ้าแน่ใจว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เราอาจใช้การรักษาตัวเอง ดังนี้
1. พักผ่อนให้มากขึ้น อย่าอาบน้ำเย็น ควรดื่มน้ำมากๆ (อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำส้มคั้น น้ำผลไม้ ก็ได้)
2. ถ้าเบื่ออาหารให้กินน้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำข้าวต้ม ทีละน้อย แต่บ่อยๆ
3. กินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด (เด็กใช้พาราเซตามอล ชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ ครึ่ง-2 ช้อนชาตามอายุ) ถ้ายังมีไข้ให้กินซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง
ถ้ามีอาการชวนสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก อย่ากินยาแอสไพริน ควรใช้ยาพาราเซตามอล แทน
การรักษาเพียง 3 ข้อนี้ ก็เพียงพอสำหรับไข้หวัดและโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ และอาการไข้ควรจะลดลงภายใน 3-4 วัน ส่วนยาอื่นๆ ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัด ยาอื่นๆ ได้แก่
4. ยาแก้หวัดแก้ไอ ถ้าเป็นไม่มาก ไม่ต้องกินก็ได้ ถ้าจะใช้ให้เลือกใช้ ดังนี้
ในเด็กเล็ก: ให้ยาแก้ไข้แก้หวัด ชนิดน้ำเชื่อม ในขวดเดียวมีตัวยาผสมกันทั้ง 2 อย่าง เช่น ยาแก้หวัดแก้ไอคลอริเอต ยาแก้หวัดแก้ไอไพร์ตอน เป็นต้น ให้กินครั้งละ ครึ่ง-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร เมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดได้ หรือถ้ากินแล้วกลับมีอาการไอมากขึ้นก็ควรงดเสีย เพราะยานี้อาจทำให้เสลดในคอเหนียว ขับออกยาก ทำให้ไอมากขึ้นได้
สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่: ให้กินยาแก้แพ้ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน ครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง และยาแก้ไอน้ำดำ จิบครั้งละ ครึ่ง-1 ช้อนชาเวลาไอ ถ้ากินแล้วกลับไอมากขึ้นควรงดเช่นเดียวกัน
5. ยาปฏิชีวนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัดแต่อย่างไร เพราะไม่ได้กำจัดเชื้อหวัด (และไวรัสทุกชนิด) แต่อย่างไรก็ตาม ยานี้จะมีประโยชน์ต่อเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปแทรกซ้อนภายหลัง ซึ่งจะสังเกตได้จากน้ำมูกหรือเสมหะที่เคยใสจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
ดังนั้นถ้าพบว่าเป็นหวัด น้ำมูกใส เสมหะขาวไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองหรือเขียวจึงค่อยให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนวี หรือ อีริโทรมัยซิน
วิธีใช้ให้ใช้แบบเดียวกับการรักษาต่อมทอนซิลอักเสบดังกล่าวข้างต้น
เมื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ อาการตัวร้อนควรจะหายเป็นปกติ ภายใน 3-4 วัน (อย่างมากไม่เกิน 7 วัน) แต่อาจมีน้ำมูกหรือไอต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ (บางคนอาจไอโครกเป็นเดือน) ถ้าอาการทั่วๆ ไปเป็นปกติดี กินได้น้ำหนักไม่ลด ก็ไม่ต้องตกใจ จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง
อย่าลืมว่ายาแก้หวัดแก้ไอ อาจทำให้อาการไอเป็นมากขึ้น เพราะทำให้เสลดเหนียวขับออกยาก ดังนั้นถ้ายังไอมากควรงดยาเหล่านี้ แล้วหันไปดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาจช่วยให้เสลดออกง่ายขึ้น และอาการไอจะค่อยหายไปได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
ที่มา: หมอชาวบ้าน