แป้งฝุ่น ต้นเหตุ มะเร็งรังไข่


2,270 ผู้ชม


แป้งฝุ่น ต้นเหตุ มะเร็งรังไข่

picture: salon.com

หนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ ของอังกฤษรายงานว่า การศึกษาของนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฮาร์วาร์ดในบอสตัน พบว่า ผู้ที่ใช้แป้งฝุ่นโรยตัวทาบริเวณจุดซ่อนเร้น มีความเสี่ยงมะเร็งรังไข่กว่าผู้ที่ไม่ใช้แป้งสูงถึง 40 % และพบว่า ผู้หญิงที่มียีน glutathione S-transferase M1 (GSTM1) แต่ไม่มียีน glutathione-S-transferase T1 (GSTT1) มีแนวโน้มเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่ากลุ่มอื่นเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะพบในผู้หญิงผิวขาว 1 ใน 10 คน

แป้งฝุ่น (Skin powder) หมายถึง สิ่งปรุงที่มีลักษณะเป็นผงละเอียด หรือคอลลอยด์ของสารอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ที่ไม่ละลายน้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ระคายผิว อาจแต่งกลิ่นหรือสี หรือแต่งทั้งกลิ่นและสี เพื่อใช้แก่ร่างกายหรือเพื่อเสริมความงาม

แป้งฝุ่น แบ่งเป็น 3 ชนิดหลักๆ คือ

- แป้งฝุ่นโรยตัว (body powder)

- แป้งฝุ่นโรยตัวเด็ก (baby powder)

- แป้งฝุ่นผัดหน้า (face powder) ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าแป้งฝุ่นโรยตัว

ส่วนประกอบหลักของแป้งฝุ่น คือ ทัลคัม (talcum) หรือที่เรียกกันว่า ทัลค์ (talc) ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์มีชื่อเคมีว่า hydrated magnesium silicate และอาจมีแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดผงเบาละเอียด พิเศษ (micronized calcium carbonate) อาจมีการเติมสารอื่นเช่น สารช่วยป้องกันความชื้น สารฝาดสมาน (astringent) สารช่วยทำให้ผิวเย็น สารกันเสีย สารแต่งกลิ่นและสี

แป้งฝุ่นมีคุณสมบัติ ช่วยผสมผสานและดูดซึมซับความชื้นทำให้ผิวหนังเนียนลื่น การควบคุมตามกฎหมาย ตั้งแต่ วันที่ 16 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2551 แป้งฝุ่นโรยตัวจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกตามในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 เรื่อง แป้งฝุ่นโรยตัว ซึ่งผู้ประกอบการต้องจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดว่า

• ต้องไม่มีวัตถุห้ามใช้ ไม่มีสารปนเปื้อน ใช้สีผสมถูกต้อง ถ้าเป็นแป้งฝุ่นโรงตัวสำหรับเด็กต้องไม่มีกรดบอริก (boric acid) เมนทอล (menthol) การบูร (camphor)

• ถ้ามีส่วนผสมของกรดบอริก ต้องใช้ในอัตราส่วนไม่เกิน ร้อยละ 3.0 โดยน้ำหนัก

• ถ้ามีส่วนผสมของเมนทอล ต้องใช้ในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก

• ถ้ามีส่วนผสมของการบูร ต้องใช้ในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละ 1.5 โดยน้ำหนัก

คุณสมบัติของจุลชีววิทยา ของแป้งฝุ่นโรยตัวคือ

- จำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และราที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (aerobic plate count) ในแป้งฝุ่นโรยตัวสำหรับเด็กและแป้งฝุ่นโรยตัวต้อง น้อยกว่า 500 และ 1,000 โคโลนีต่อกรัม หรือ มิลลิลิตร ตามลำดับ

- ต้องไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้แก่ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aerogimosa), สตาฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) และ คลอสตริเดียม (Clostridium spp.) (เฉพาะเครื่องสำอางผสมสมุนไพร)

ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2551 เครื่องสำอางทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเครื่องสำอางควบคุม ตามที่ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 157ง ลงวันที่ 25 กันยายน 2551 ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน เป็นผลให้ผู้รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ต้องจัดทำแฟ้มข้อมูลผลิตภัณฑ์แสดงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำให้การกำกับดูแลเครื่องสำอางได้ครอบคลุมมากขึ้น

อันตรายจากการใช้แป้งฝุ่นโรยตัว

แป้งฝุ่นโรยตัวเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปตั้งแต่แบเบาะจนแก่เฒ่า การทาแป้งโดยเฉพาะตอนโรยแป้ง ผงแป้งจะล่องลอยในอากาศ ถ้าสูดเข้าทางเดินหายใจที่ละเล็กละน้อยเป็นเวลานานๆ ก็จะเกิดการสะสมในปอด โดยที่เซลส์บุผิวปอดจะดักจับแป้งไว้เป็นก้อน เรียกว่า ภาวะ “pneumoconiosis” ทำให้มีปัญหากับการหายใจ ถ้าเป็นเด็กทารกทำให้ปอดอักเสบและตายได้

สำหรับการใช้แป้งที่ก้นกับอวัยวะเพศซึ่งเป็นที่นิยมใน ยุคปี ค.ศ.1970 มีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่ใช้แป้งกับอวัยวะเพศ มีอัตราเสี่ยงการจะเป็นมะเร็งรังไข่ โดยอาจเป็นไปได้ ที่แป้งสามารถหลงเข้าไปในร่างกายผ่านช่องคลอดมดลูกและท่อนำไข่เข้าไปสู่ช่อง ท้องและสารทัลค์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ในคน การทาแป้งส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ควรทาแป้งครั้งละน้อยๆ และ ทาในบริเวณที่เหมาะสม พยายามอย่าให้ฟุ้งในอากาศ ไม่ควรทาบริเวณก้นและอวัยวะเพศของเด็กทีละมากๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ที่มา: สนุกออนไลน์

อัพเดทล่าสุด