เลือดกำเดาไหล แบบไหนอันตราย ?


2,554 ผู้ชม


เลือดกำเดาไหล สำหรับเด็กบางคนอาจไม่น่ากังวล แต่เราไม่ควรละเลย เพราะถ้าเลือดกำเดาไหลผิดปกติ ต้องรีบดูแลรักษาค่ะ

เลือดกำเดาไหล แบบไหนอันตราย ?

เลือดกำเดา ไหลมาจากไหน
เลือดกำเดาไหล เกิดมาจากเส้นเลือดบริเวณผนังจมูกส่วนหน้า ซึ่งเส้นเลือดบริเวณนี้ของทุกคนจะเปราะบาง เวลาเราสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือโดนกระทบกระเทือนบริเวณจมูกบางครั้งจะมีเลือดปนอออกมาได้
เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่จะพบในเด็กวัยเตาะแตะ เพราะเป็นวัยที่มักเอาของใส่จมูกหรือแคะจมูก แต่ถ้าพบว่ามีเลือดออกที่จมูกตั้งแต่แรกเกิด นั่นไม่ใช่เป็นเลือดกำเดาไหล แต่จะเป็นโรคเลือดที่รุนแรงค่ะ
สาเหตุ เลือดกำเดาไหล
เกิดจากการที่เด็กได้รับบาดเจ็บ จากการแคะ แกะ เกาบริเวณจมูก หรือเกิดจากการเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปใส่ในรูจมูก รวมทั้งยังเกิดจากการอักเสบของจมูก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเป็นหวัด และไซนัสอักเสบ ส่งผลให้โพรงจมูกแห้ง ทำให้เลือดกำเดาไหลออกมาได้ง่าย
-สาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย
เกิดจากการเป็นโรคเลือด เช่น เกร็ดเลือดต่ำผิดปกติ เส้นเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติ มีเนื้องอกที่เส้นเลือด หรือเป็นโรคที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ เด็กๆ จะมีเลือดออกง่าย มีปริมาณเลือดไหลมาก และยังพบว่ามีเลือดออกที่ตำแหน่งอื่นให้เห็นด้วย เช่น มีจุดจ้ำเลือดตามตัวค่ะ
ระวัง! เลือดกำเดาผิดปกติ
ให้สังเกตจากปริมาณเลือดที่ไหล ต้องมีปริมาณมากๆ เลือดไหลเร็ว และเป็นติดต่อกันหลายวัน หากมีการห้ามเลือดแล้ว เลือดยังไม่หยุดไหลง่ายๆ ประกอบกับมีจ้ำเลือดเขียวขึ้นตามตัวเมื่อลูกวิ่งชนหรือได้รับการกระแทกเพียงเล็กน้อย ถ้าเป็นลักษณะนี้ ต้องพาลูกมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เพราะถ้าลูกมีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ หรือเป็นเรื้อรัง อาจทำให้ลูกตัวซีด และส่งผลต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ของลูกได้ด้วย
First Aid
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกเลือดกำเดาไหล อันดับแรก พ่อแม่ต้องอย่าตกใจและพยายามปลอบลูก ถ้าลูกร้องไห้ ควรปลอบให้ลูกหยุดร้องโดยเร็ว เพราะถ้ายิ่งร้องไห้ ความดันเลือดจะสูงขึ้น ทำให้เลือดไหลออกมามากยิ่งขึ้น
จับให้ลูกนั่งพร้อมกับเอนตัวไปข้างหน้า เพื่อให้เลือดกำเดาไหลออกมา ไม่ควรให้ลูกนั่งแหงนหน้าไปด้านหลัง จะทำให้เลือดไหลลงคอ จนเกิดการสำลัก หลังจากนั้นอาจให้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบที่บริเวณจมูก ความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว กระตุ้นให้เลือดหยุดเร็วขึ้น หรืออาจใช้ผ้ากอซ ม้วนเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ในโพรงจมูกเพื่อกดตำแหน่งที่เส้นเลือดเปราะบาง
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเลือดกำเดาที่ไม่เป็นอันตราย เลือดจะหยุดไหลเองประมาณ 5 นาที
ป้องกัน เลือดกำเดาไหล
พยายามดูแลไม่ให้ลูกแคะ แกะ เการูจมูก หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ และหลีกเลี่ยงการเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในรูจมูก ถ้าเป็นเด็กวัยอนุบาล ก็ควรสอนลูกให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ พร้อมกับสอนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ลูกรับรู้ด้วยค่ะ นอกจากนี้ควรให้ลูกออกกำลังกาย เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ เพราะหากลูกเป็นหวัดบ่อยๆ จะทำให้บริเวณโพรงจมูกอักเสบ เส้นเลือดฝอยเปราะแตกง่ายขึ้น
ทางที่ดี พ่อแม่ควรสังเกตอาการเลือดกำเดาของลูกอยู่เสมอค่ะ ว่าเป็นเลือดกำเดาไหลที่ควรระวังหรือไม่ ถ้าพบว่าลูกมีเลือดกำเดาไหลผิดปกติ ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนนะคะ
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.อัญมณี เชื้อเหล่าวานิช กุมารแพทย์ โรงพยาบาลบางประกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

ที่มา: รักลูก

อัพเดทล่าสุด