โรคงูสวัด พันรอบตัวแล้วตาย


3,783 ผู้ชม


โรคงูสวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่บริเวณผิวหนังชนิดหนึ่ง ทำให้มีผื่นตุ่มขึ้นเป็นแนวยาวๆ บริเวณที่ขึ้นกันบ่อย ก็คือ แนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง (จากสะดือถึงกลางหลัง) บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า แขนหรือขาก็ได้ แต่จะมีลักษณะการขึ้นคล้ายกันคือจะขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น เช่น ซีกขวาหรือไม่ก็ซีกซ้าย โรคนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรง  และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่  แต่บางรายหลังแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดประสาทนานเป็นแรมปี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้ และจากความเชื่อที่ว่า เป็นรอบเอวแล้วตาย นั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะที่เสียชีวิตอาจเป็นเพราะร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค การรู้จักรักษาร่างกายให้แข็งแรง เสริมภูมิต้านทานโรคให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคและระงับความรุนแรงของโรค

โรคงูสวัด พันรอบตัวแล้วตาย

สาเหตุของ โรคงูสวัด

เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “เชื้อวีแซดวี (varicella-zoster virus)” ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก (ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก) ส่วนใหญ่จะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใส ส่วนน้อยจะไม่มีอาการแสดงให้ปรากฏหลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสไปแล้ว เชื้อจะหลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาทใต้ผิวหนัง และแฝงตัวอย่างสงบเป็นเวลานานหลายปีถึงสิบๆ ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็งหรือยา กดภูมิคุ้มกัน เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ  (เกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท) เชื้อจะกระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบ  และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาทที่เป็นโรคงูสวัดจึงมักมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดง ซึ่งสามารถตรวจพบสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเลือด

อาการของ โรคงูสวัด

ก่อนมีผื่นขึ้น 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบๆ บริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบ ร้อน (คล้ายถูกไฟไหม้) เป็นพักๆ หรือตลอดเวลาบริเวณ พบบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือเพียงข้างเดียวอาจทำให้คิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวด ที่ชายโครง ก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในไต ไส้ติ่งอักเสบได้ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรน หรือโรคทางสมองได้ บางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเดินร่วมด้วย ส่วนมากมีผื่นขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยง โดยเส้นประสาทที่อักเสบ ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน 4 วันแรก แล้วค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน เมื่อตกสะเก็ดและหลุดออกไป อาการปวดจะทุเลาไป รวมแล้วจะมีผื่นอยู่นาน 10-15 วัน ผู้ที่มีอายุมากอาจ มีอาการนานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ

การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นงูสวัด ควรปฏิบัติดังนี้

  • ถ้ามีไข้หรือปวด  ควรทานยาบรรเทาปวด
  • ถ้ามีอาการปวดแสบปวดร้อน ทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน
  • ตัดเล็บให้สั้น ห้ามแกะเกาผื่นตุ่ม
  • ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ถ้าเป็นงูสวัดขึ้นที่ใบหน้า หรือตา

การรักษา

  • แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวดหรือไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้กินยาต้านไวรัส ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จึงจะได้ผลในการลดความรุนแรง และย่นเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจลดอาการปวดเส้นประสาทแทรกซ้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งจะให้กินยาต้านไวรัส และยาหยอดตาที่เข้ายาต้านไวรัส เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

โรคงูสวัด พันรอบตัวแล้วตาย

ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อยคือ อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (post herpetic neuralgia) โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ 50 ที่ผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก  หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้วก็ได้ มีลักษณะปวด ลึกๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปลบๆ เสียวๆ (คล้ายถูกมีดแทง) เป็นพักๆ ก็ได้ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ 50 หายเองภายใน 3 เดือน และร้อยละ 75 จะหายเองภายใน 1 ปี) บางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าขึ้นที่บริเวณใบหน้า

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้

  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากใช้เล็บแกะเกา หรือให้การดูแลผื่นตุ่มไม่ถูกต้อง ทำให้กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลได้
  • ในรายที่เป็นงูสวัดขึ้นตา อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน  ประสาทตาอักเสบ ถึงขั้นทำให้สายตาพิการได้
  • ในรายที่เป็นงูสวัดที่บริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู  อาจทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (ยักคิ้ว หลับตา เม้มมุมปากไม่ได้ซีกหนึ่ง) หรือมีอาการบ้านหมุน  คลื่นไส้  อาเจียน  ตากระตุกได้
  • ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งพบเป็นงูสวัดร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 10 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจเกิดผื่นงูสวัดแบบ แพร่กระจาย คือมีตุ่มขึ้นออกนอกแนวเส้นประสาท  มากกว่า 20 ตุ่ม หรือขึ้นตามแนวเส้นประสาทมากกว่า 1 แนว อาการมักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน อาจกระจาย เข้าสู่สมองและอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
  • ผู้หญิงที่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ อาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ เช่น  มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น

การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ภายใน 10-15 วัน  ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น

การป้องกัน
โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส-งูสวัด ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ซึ่งฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ถ้าฉีดตอนอายุมากกว่า 13 ปี ควรฉีด 2 เข็ม  ห่างกัน 4-8 สัปดาห์

ความชุก งูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งจะพบมากขึ้นตามอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี ในเด็กและทารกพบได้น้อยและมักมีอาการไม่รุนแรง

ที่มา: หมอชาวบ้าน

อัพเดทล่าสุด