จับตา 5 โรคมะเร็ง ยอดฮิต ก่อนคุกคามชีวิต ผู้ชาย


2,653 ผู้ชม


โรคมะเร็งนับเป็นโรคยอดฮิตที่ครองแชมป์อัตราการเสียชีวิตของผู้ชายไทยมานาน จากข้อมูลสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขบ่งชี้อุบัติการณ์ของของโรคมะเร็งในประเทศไทยว่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อปี เพราะพฤติกรรมต่างๆ ที่คอยทำร้ายสุขภาพคุณสุภาพบุรุษทั้งแบบรู้ตัว (แต่ยังทำ) และแบบไม่รู้ตัว เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อ้วนลงพุง ทานเยอะ ไม่ออกกำลังกาย เครียด และนอนดึก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งต่างๆ แต่อาจมีหลายสิ่งที่คุณยังเข้าใจผิดและไม่รู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้ชายทั้งหลายไปรู้จักกับ 5 โรคมะเร็งยอดฮิตที่พบบ่อยกัน

จับตา 5 โรคมะเร็ง ยอดฮิต ก่อนคุกคามชีวิต ผู้ชาย

ในปัจจุบัน โรคมะเร็ง กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนเรามากขึ้น โดยอัตราการเกิดของโรคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ และโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชายคือ

โรคมะเร็งปอด ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้ชายทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคนั้นเป็นที่รู้กันดีว่ามาจากการสูบบุหรี่ โดยปัจจุบันพบว่า 1 ใน 10 ของผู้สูบบุหรี่จะเป็นโรคมะเร็ง และ 1 ใน 6 คนที่สูบติดต่อกันมาจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด และ 85% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเกิดจากสารมีพิษในบุหรี่ คือ “ทาร์” โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานาน ซึ่งมักมีอาการนำ คือ ไอ บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา หายใจสั้นลง เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจลำบาก เจ็บบริเวณทรวงอก น้ำหนักลดมากกว่าปกติ มีไข้เรื้อรัง อาจมีสาเหตุจากมะเร็งปอดได้ ในกรณีที่โรคลุกลาม นอกจากอาการที่ปอดเองแล้ว อาการจะขึ้นกับอวัยวะที่โรคลุกลามไปถึงซึ่งอาจเป็นอวัยวะข้างเคียง หรือบริเวณอื่นๆของร่างกายที่โรคกระจายไป เป็นต้น การตรวจพบมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจึงมีโอกาสรักษาหายได้ โดยมะเร็งปอดเป็นเนื้องอกของปอดชนิดที่โตเร็ว ลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ เกิดขึ้นจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในปอดแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งนอกจากบุหรี่แล้วอาจมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกอื่น ได้แก่ มลภาวะต่าง ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และจากปัจจัยภายใน ได้แก่ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ หรือความเสื่อมของเซลล์ ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติได้

อีกโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชายอีกหนึ่งชนิดคือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จากสถิติอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด ซึ่งโรคนี้มักพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยล่าสุดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2557 เท่ากับ 29,480 คน อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งต่อมลูกหมากที่น้อยกว่าอาจเนื่องด้วยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากมีการกระจายตัวช้ากว่า รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ทำให้วินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมักมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะมีเลือดปน

ส่วนใหญ่ในระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการ หรืออาจจะมีอาการคล้ายโรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งปัสสาวะหรือน้ำอสุจิมีเลือดปน มะเร็งในระยะต้นสามารถตรวจพบได้เมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย โดยสวมถุงมือคลำต่อมลูกหมากผ่านทางช่องทวารหนัก เมื่อมีการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีและหรือตรวจเลือดร่วมด้วย เพื่อหาระดับของค่าพีเอสเอ (: PSA เอนไซม์ต่อมลูกหมาก) ในปัจจุบันสามารถตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากได้เร็วขึ้นจากการตรวจคัดกรองด้วยการใช้นิ้วคลำทางทวาร และการตรวจหาสาร PSA ในเลือด โดยแนะนำให้ตรวจในผู้ชายอายุประมาณ 45 – 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุน้อย

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถูกจัดเป็นมะเร็งที่พบมากอีกเช่นกันในผู้ชาย ที่มีโอกาสเสี่ยงพบมากขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มเสี่ยงสูงคือบุคคลที่มีประวัติครอบครัวใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น บิดามารดา พี่น้องหรือบุตร มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 2/3 ของประชากรปกติ แต่ในความจริงแล้วกลับพบว่าประมาณ 80% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ใหม่ ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ลำไส้ส่วนปลายเป็นท่อกลวงยาวประมาณ 5-6 ฟุต ท่อความยาว 5 ฟุตแรกคือส่วนของลำไส้ใหญ่และต่อกับลำไส้ตรงที่ยาวประมาณ 6 นิ้ว ส่วนต่อจากลำไส้ตรงคือทวารหนัก หน้าที่ของลำไส้ใหญ่คือแปรของเสียเหลวให้เป็นอุจจาระแข็ง อาหารจะใช้เวลาเดินทางมาสู่ลำไส้ใหญ่ประมาณ 3-8 ชั่วโมงหลังจากถูกรับประทาน ช่วงเวลานี้สารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะเป็นของเสียเหลว ปัจจัยในการดำรงชีวิตอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ รับประทานอาหารมัน และเนื้อแดงมากแต่รับประทานผักและผลไม้น้อย รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ออกกำลังกายน้อย และโรคอ้วน การสูบบุหรี่และดื่มสุราจัด อาจมีผลต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการเลือดออกทางทวารหนัก หรืออุจจาระปนเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดอุจจาระมีรูปร่างเปลี่ยนไป (เป็นเส้นเล็กลง) ปวดเกร็งในท้อง มะเร็งลำไส้ตรงส่วนใหญ่มักแสดงอาการ ต่างจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการดังกล่าวคือ อุจจาระปนเลือด, ท้องผูกสลับกับท้องเดินอย่างไม่มีสาเหตุ, ขนาดของเส้นอุจจาระเปลี่ยนไป และ ปวดเบ่ง คืออาการรู้สึกปวดถ่ายในขณะที่ไม่มีอุจจาระหรือไม่สามารถขับถ่ายออกได้ ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปเบียดอวัยวะข้างเคียงอาจก่อให้เกิด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปวดเนื่องจากมีการกดทับที่ก้นหรือฝีเย็บ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

โรคมะเร็งตับ ก็เป็นอีกโรคยอดฮิตสำหรับท่านชายทั้งหลาย สมัยก่อนเราจะได้ยินว่าหากกินเหล้ามากๆ จะเป็นตับแข็ง แล้วยังเชื่อว่าเป็นตับแข็งแล้วจะเป็นมะเร็งตับ หรือบางคนกลับเข้าใจไปว่าเป็นโรคเดียวกันด้วยซ้ำไป ปัจจุบันคนไทยอาจดื่มเหล้าลดลง ทำให้คนที่เป็นโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้าก็พบได้น้อยลงไปด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้พบว่าคนไข้คนหนึ่งที่ตับอักเสบจากการกินยาดอง หรืออาหารหมักดองเกือบทุกวัน จนกระทั่งมีตับแข็งระยะเริ่มต้น และตรวจพบก้อนเนื้อที่อาจเป็นมะเร็งตับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้เราไม่ได้กินเหล้า แต่หากกินอาหารที่มีส่วนผสมของเหล้า หรือแอลกอฮอล์ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ตับทำงานหนักทุกวันจนเป็นตับแข็งและมะเร็งได้ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การที่เราเป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ชนิด B และชนิด C (B พบได้บ่อยกว่า) ส่วนมากมักได้รับเชื้อจากคุณแม่ตั้งแต่ที่เราคลอด หรืออาจติดจากสามี – ภรรยา หรือแฟนเรานั่นเอง ในสมัยก่อนที่การบริจาคเลือดไมได้มีการตรวจสอบเชื้อได้ดีอย่างในปัจจุบัน ทำให้มีเลือดของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันจากการให้เลือดได้ แต่ในปัจจุบันสามารถคัดกรองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราอาจจะพอสังเกตได้ว่า ไวรัสตับอักเสบ B,C สามารถติดต่อได้เหมือนโรคเอดส์นั่นเอง แต่ที่สำคัญคือ มันติดต่อได้ง่ายกว่า คือเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับเชื้อแล้วจะเป็นโรคจะมีสูงกว่า ทีนี้เมื่อเราได้รับเชื้อเข้าไปในเลือดแล้ว เชื้อไวรัสจะไปรวมตัวที่ตับทำให้ตับอักเสบ ส่วนจะมีอาการของโรคตับอักเสบหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน บางคนแทบไม่มีอาการเป็นแล้วหายเอง และมีภูมิต้านทานในตัว แต่บางคนเป็นแล้วเชื้อไม่หายไปจากตัว กลายเป็นชนิดเรื้อรัง หรือเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้ พอตับอักเสบนานๆเข้า เป็น 10-20 ปี ก็ทำให้เซลล์ตับเป็นพังผืด เหี่ยวลง จนอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งบางเซลล์ในล้าน ๆ เซลล์ อาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ แต่ก็มีเหมือนกับประเภทที่เป็นตับอักเสบ แต่ไม่มีตับแข็ง แล้วกลายเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน คนที่มีไขมันพอกในตับมากๆ (Fatty liver) โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานบางคน ปัจจุบันถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งได้เหมือนกัน อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ เรื่องการตรวจตับด้วยอัลตราซาวด์ หรือตรวจเลือดหามะเร็งตับตามความเหมาะสมด้วย แต่เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นแล้ว อาจส่งผลแสดงอาการต่างๆได้เช่น ปวด แน่นท้องบริเวณด้านขวาบน หรือหากเป็นก้อนตรงตับกลีบซ้าย อาจมีอาการบริเวณลิ้นปี่ และมีอาการเหม็นเบื่ออาหาร ทานไม่ค่อยได้ ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักลดลงโดยไม่รู้ตัว บางคนอาจมีอาการเกี่ยวการย่อยอาหาร ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เพราะเคมีน้ำดีในตับบกพร่อง คนที่ก้อนโตมากขึ้น อาจคลำก้อนได้บริเวณใต้ชายโครงขวา รู้สึกท้องโต แน่นตึง บางคนอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีน้ำไปที่ช่องท้องที่เรียกว่า ท้องมาน เกิดขึ้นได้หากก้อนลุกลามมาก แต่อาการเหล่านี้บางครั้ง อาจเกิดจากภาวะตับแข็งเฉยๆ โดยที่ยังไม่ได้เป็นมะเร็งก็ได้ หากท่านมีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งตับ ขอให้อย่าพึ่งตื่นตระหนก เพราะส่วนมากแล้วมักจะไม่มีอาการของโรคมะเร็งตับจริง ๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป

โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ หรือ Head & Neck Cancer ก็นับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ท่านชายทั้งหลายไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นปัญหาที่ทางสาธารณสุขระดับโลกให้ความสำคัญ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นประมาณ 540,000 รายทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 271,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่โรคนี้มีสาเหตุจาก เยื่อเมือกบุภายในของอวัยวะบริเวณศีรษะและลำคอ ได้แก่ ช่องปาก ซึ่งประกอบด้วย ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เนื้อเยื่อใต้ลิ้น และรอบๆลิ้น เหงือก ลิ้น และเพดานแข็ง คอหอยส่วนปาก ซึ่งประกอบด้วย โคนลิ้น ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน และ ลิ้นไก่ โพรงหลังจมูก กล่องเสียง ต่อมไทรอยด์ เนื้อเยื่อรอบกล่องเสียง โพรงจมูก และ โพรงไซนัส และต่อมน้ำลายต่างๆ สาเหตุเกิดโรคมะเร็งศีรษะ และลำคอ สำหรับสาเหตุของเกิดโรคมะเร็งศีรษะ และลำคอ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดวิตามิน และเกลือแร่ การบริโภค หมาก ยาฉุน การมีแผลเรื้อรังในช่องปากจากโรคต่าง ๆ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่สำคัญ เช่น เชื้อไวรัส อีบีวี (EB virus) ไวรัสเอชพีวี (HPV viruses) และไวรัสเอชไอวี (HIV virus) สำหรับประเทศไทย พบว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมาจากการดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่ ส่วนการเคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยในอดีต และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิด “มะเร็งช่องปาก” โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติระดับยีนที่เสริมให้เกิดมะเร็งจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเสริมอื่นๆ ได้แก่ ภาวะภูมิคุ้มกันความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งศีรษะและลำคอ นอกจากนี้การใช้ฟันปลอมที่ไม่พอดี ซึ่งทำให้เกิดการเสียดสีกับเยื่อบุภายในปาก ก็อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจนเป็นแผล ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดขึ้นเป็นประจำ ก็อาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้ในระยะยาว และอีกสาเหตุที่พบมากขึ้นในต่างประเทศคือ การได้รับเชื้อ human papillomavirus หรือ HPV (ไวรัสตัวเดียวกับที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก) จากการมีคู่นอนหลายคน การทำออรัลเซ็กส์ ก็อาจจะเป็นมะเร็งในช่องปาก คอหอย และต่อมทอนซิลได้

อย่างไรก็ตามวิธีดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งนั้นเริ่มต้นทำง่ายๆ คือ การเลิกบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ให้ครบทุกหมู่อาหาร ในปริมาณเหมาะสม (ไม่ให้อ้วน หรือ ผอมจนเกินไป) ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หมั่นตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ อย่าละเลยการตรวจสอบสังเกตอาการด้วยตัวเอง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ช่วยตรวจเช็ก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะได้รับรักษาได้อย่างทันท่วงที มีโอกาสรักษาโรคมะเร็งให้หายได้สูง

ที่มา: เอ็มไทย

อัพเดทล่าสุด