ผักบุ้ง หนึ่งในพืชผักที่หารับประทานง่าย ไม่ใช่แค่เพียงอร่อยถูกปาก แต่ยังอุดมด้วยคุณค่าเพื่อสุขภาพจนต้องท้าให้ลอง...
ผักบุ้งเป็นหนึ่งในผักที่คนนิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร ซึ่งในประเทศไทยมีผักบุ้งที่เรารู้จักและนำมารับประทานอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด นั่นก็คือ ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน และผักบุ้งนา ซึ่งก็ล้วนแต่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ อย่างที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็คือ ผักบุ้งช่วยบำรุงสายตา แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากนี้ผักบุ้งยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่เราคาดไม่ถึง บอกได้เลยว่าผักบุ้งเป็นอาหารที่ไม่ควรพลาด !
ผักบุ้งเป็นหนึ่งพืชที่อยู่ในวงศ์ผักบุ้ง Convolvulaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ipomcea aquatica Forssk เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Swamp Cabbage, Water Spinach หรือ Kangkong มีลักษณะเป็นพืชล้มลุกชนิดไม้เลื้อยที่มีเนื้ออ่อน ลำต้นกลวง รากงอกออกมาจากตามข้อของต้น ใบมีรูปสามเหลี่ยม รูปหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแคบ ดอกมีสีขาว ชมพูหรือม่วงอ่อน ผลกลมมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จัดจะแตกออกให้เห็นเมล็ดด้านใน ผักบุ้งเป็นผักที่ปลูกง่าย ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถพบได้บริเวณชุ่มน้ำ หรือบนผิวน้ำ ผักบุ้งมีมากมายหลายพันธุ์ แต่ที่คนไทยนิยมนำมารับประทานมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ได้แก่
ผักบุ้งไทย - ผักบุ้งไทยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าผักบุ้งน้ำ มักขึ้นตามผิวน้ำ สามารถนำมารับประทานแบบสด ๆ หรือนำไปปรุงอาหารไทยได้หลากหลาย เช่น แกงส้ม แกงเทโพ ผัดพริกแกง หรือนำไปใส่ให้ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ เป็นต้น
ผักบุ้งจีน - ผักบุ้งชนิดนี้จะขึ้นอยู่บนบก และมีใบกับลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน ยางน้อยกว่าผักบุ้งไทย สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ทั้งผัดไฟแดง ลวกรับประทานกับน้ำพริก ใส่ในหม้อสุกี้ เป็นต้น
ผักบุ้งนา - เป็นผักบุ้งที่เกิดและเติบโตขึ้นตามธรรมชาติ มีรสฝาด นิยมรับประทานสด ๆ เป็นผักเคียงอาหาร อาทิ อาหารอีสาน เป็นต้น
ผักบุ้งถือเป็นผักที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูงอีกชนิดหนึ่ง โดยผักบุ้งปริมาณ 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
พลังงาน 19 กิโลแคลอรี
น้ำ 62.47 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.14 กรัม
ไฟเบอร์ 2.1 กรัม
แคลเซียม 77 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.67 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 71 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 312 มิลลิกรัม
โซเดียม 113 มิลลิกรัม
สังกะสี 0.18 มิลลิกรัม
วิตามินซี 55 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.096 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม
ไนอะซิน 0.9 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน 0.1 มิลลิกรัม
โฟเลต 57 ไมโครกรัม
วิตามินเอ 6300 ยูนิต
ผักบุ้งกับสรรพคุณทางยา
นอกจากจะนำมาปรุงอาหารได้แล้ว ผักบุ้งยังสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผักบุ้งที่นำมาใช้เป็นยาจะเป็นผักบุ้งไทย เพราะมีสรรพคุณทางยาสูงกว่า แต่ก็ยังมีการนำผักบุ้งจีนมาใช้ในการรักษาด้วยเช่นกัน ซึ่งสรรพคุณทางยาของผักบุ้งมีดังนี้
ผักบุ้งไทย
ทั้งต้น - บรรเทาอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แก้กลาก เกลื้อน ลดน้ำตาลในเลือด ลดอาการแพ้ แก้อักเสบ แก้เหงือกบวม ถอนพิษ และรักษาแผลฟกช้ำ
ดอก - รักษากลากเกลื้อน รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการแพ้ แก้อักเสบ ลดปวด ลดบวม บำรุงสายตา บำรุงโลหิต บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ดับร้อน แก้ปัสสาวะเหลือง
ใบ - ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษเบื่อเมา
ราก - บรรเทาอาการไอเรื้อรัง แก้โรคหืด ถอนพิษ รักษาอาการตกขาวผิดปกติ แก้ขัดเบา ลดอาการบวม
ผักบุ้งจีน
ทั้งต้น - ช่วยถอนพิษ รักษาฝี แก้อักเสบ และลดอาการบวม
ตัวอย่างใช้ผักบุ้งรักษาโรคต่าง ๆ ได้แก่
แก้เลือดกำเดาออกมากผิดปกติ ใช้ต้นสดตำผสมน้ำตาลทรายชงน้ำร้อนดื่ม
แก้หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ใช้ลำต้นตำคั้นนำน้ำมาผสมกับน้ำผึ้งดื่ม
แก้ริดสีดวงทวาร ใช้ต้นสด 1 กิโลกรัม กับน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เละ เอากากทิ้งใส่น้ำตาลทรายขาว 120 กรัม เคี่ยวให้ข้นเหนียว ทานครั้งละ 90 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนหาย
แก้แผลมีหนองช้ำ ใช้ต้นสดต้มน้ำให้เดือดนาน ๆ ทิ้งไว้พออุ่นเอาน้ำล้างแผลวันละครั้ง
แก้พิษตะขาบกัด ใช้ต้นสดเติมเกลือ ตำพอกแผล
ผักบุ้ง กับประโยชน์เพื่อสุขภาพ
สารอาหารที่อยู่ในผักบุ้งถือว่าเป็นส่วนที่โดดเด่นที่ทำให้เจ้าพืชธรรมดา ๆ ชนิดนี้กลายเป็นที่สนใจอย่างมาก ด้วยประโยชน์อันมากมายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ผักบุ้งจึงกลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคนนิยมมากมายไม่แพ้อาหารชนิดอื่น ๆ โดยประโยชน์ของผักบุ้งมีดังนี้ค่ะ
1. รักษาอาการนอนไม่หลับ
ใครที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ การรับประทานผักบุ้งถือว่าช่วยได้มาก เพราะผักบุ้งนั้นอุดมด้วยสารเซเลเนียม และสังกะสีที่มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายประสาท ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และนอนหลับได้ในที่สุด
2. บำรุงเลือด
ธาตุเหล็ก ถือเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อระบบโลหิต เพราะฮีโมโกลบินที่อยู่ในเลือดนั้นต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นก็อาจจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการรับประทานผักบุ้งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลจากโรคโลหิตจาง รับประทานผักบุ้งบ่อย ๆ เป็นดีค่ะ
3. บำรุงตับ
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่น่าอัศจรรย์ของผักบุ้งก็คือ ช่วยบำรุงตับได้ ด้วยเพราะผักบุ้งมีสารอาหารมากมายที่ช่วยในการล้างพิษและสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่อยากมีโรคตับมาถามหา รีบหาผักบุ้งมากินกันดีกว่าเนอะ
4. ลดน้ำตาลในเลือด
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผักบุ้งเป็นอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคนี้รับประทานเลยล่ะคะ เพราะว่าผักบุ้งสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและลดการดูดซึมของกลูโคสของร่างกายได้ ไม่เพียงเท่านั้น ในสตรีตั้งครรภ์ ผักบุ้งยังเข้าไปเสริมสร้างความต้านทานกลูโคสในร่างกาย และช่วยรักษาโรคเบาหวานได้อีกด้วย
5. แก้ท้องผูก
ปริมาณไฟเบอร์มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผักชนิดไหน ๆ ของผักบุ้งสามารถแก้อาการท้องผูกได้ เพราะไฟเบอร์ในผักบุ้งนี้จะเข้าไปช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ผักบุ้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย ใครที่ท้องผูกบ่อย ๆ ลองรับประทานผักบุ้ง หรือน้ำต้มผักบุ้งดูสิคะ รับรองว่าดีขึ้นแน่
6. ช่วยลดน้ำหนัก
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าบรรดาผักใบเขียวเป็นอาหารลดน้ำหนักที่ได้ผลดีเยี่ยม ผักบุ้งก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันค่ะ ด้วยปริมาณไฟเบอร์ที่สูง และปริมาณแคลอรีที่ต่ำ ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้อิ่มง่าย และอิ่มนานขึ้น หมดปัญหาการรับประทานอาหารมากเกินไป หรือหิวบ่อยระหว่างวันไปได้เลยล่ะ
7. ลดคอเลสเตอรอล
ไม่เพียงแค่ช่วยลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ผักบุ้งยังมีส่วนสำคัญในการลดลงของคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจอีกด้วย
8. บำรุงสายตา
ที่เราได้ยินกันมานักต่อนักว่ากินผักบุ้งแล้วสายตาจะดี ล้วนแต่เป็นความจริงไม่ผิดเพี้ยนค่ะ เพราะเจ้าผักชนิดนี้อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ วิตามินเอและลูทีน ซึ่งล้วนแต่เป็นแร่ธาตุและวิตามินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพดวงตา อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมระดับกลูตาไธโอน (glutathione) ป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้อีกด้วย
9. ป้องกันโรคหัวใจ
วิตามินเอ และวิตามินซี ตลอดสารเบต้า-แคโรทีนที่อยู่ในผักบุ้งล้วนแต่มีเป็นสารทีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลรวมตัวกับออกซิเจน ไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด จนเกิดหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดในที่สุด นอกจากนี้โฟเลตในผักบุ้งก็ยังช่วยทำให้โฮโมซีสเตอีน (homocysteine) กรดอะมิโนที่เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจลดลงได้ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่แมกนีเซียมในผักบุ้งเองก็ยังลดความดันโลหิตได้ ถือเป็นการป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อีกทางหนึ่ง
10. ต้านมะเร็ง
ผักบุ้งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากถึง 13 ชนิด จึงทำให้เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งช่องท้อง รวมทั้งมะเร็งผิวหนังและมะเร็งเต้านม เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าไปป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายถูกทำลายนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่นับแทบไม่หวาดไม่ไหว อาทิ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ช่วยรักษารังแค รักษาริดสีดวงทวาร แก้ปวดฟัน ช่วยหยุดเลือดกำเดา และรักษาตาปลา เป็นต้น เรียกได้ว่าสิ่งดี ๆ จากผักบุ้งนี่มีเพียบ จะเรียกว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดอีกชนิดหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรระมัดระวังในเรื่องการรับประทานหน่อยนะคะเพราะเจ้าผักบุ้งนี้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ กินเยอะเกินไปอาจจะทำให้ถ่ายท้องได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ที่มา กระปุกดอทคอม